อยากให้…พนักงานรุ่นเก่า “เก๋า”ไอที ต้องทำไงดี?!?

เครดิตรูปโดย rawpixel.com/Freepik

อยากให้…พนักงานรุ่นเก่า  “เก๋า”ไอที ต้องทำไงดี?!?    

คุณณัฐวี โฆษะฐิ ผู้จัดการโครงการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา Sasin School of Management (สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน กล่าวถึง แนวทางการพัฒนา “พนักงานรุ่นเก่า”ให้ก้าวทันเทคโนโลยี ไว้ว่า ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบรูณ์ ตลาดแรงงานของประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากประชากรวัยแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กำลังแรงงานรุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานจะยิ่งหายากยิ่งขึ้นจากอัตราการเกิดที่ลดลง การพัฒนาศักยภาพและรักษาพนักงานรุ่นเก่าให้กับองค์กรไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อทดแทนกำลังแรงงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย

ทว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ในหลายองค์กรประสบปัญหาพนักงานรุ่นเก่าที่ไม่ได้เกิดในยุคไอที ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างที่องค์กรวาดหวังไว้ ไปจนถึงปัญหาการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้การผลักดันองค์กรให้เดินหน้าเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น

อย่างไรก็ดี มิใช่ว่าพนักงานรุ่นเก่าที่ไม่ได้เกิดในยุคไอทีเหล่านี้ จะไม่มีความสามารถหรือไม่มีทางที่จะทำให้พนักงานกลุ่มนี้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้

คุณณัฐวี โฆษะฐิ ผู้จัดการโครงการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา Sasin School of Management (สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

คุณณัฐวี  บอกอีกว่า ในการรับมือกับความท้าทายดังกล่าว องค์กรต่างๆสามารถประยุกต์ใช้แนวทางในการจัดการท้าทายข้างต้น ได้ดังนี้

  1. ปรับ Mindset

การปรับ Mindset ที่ว่านี้ ไม่ใช่เรื่องของการปรับ Mindset ของพนักงานรุ่นที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว จากประสบการณ์ของเขาเอง ที่ได้ให้คำปรึกษากับองค์กรหลายองค์กรพบว่า กลุ่มผู้บริหารและนักบริหารทรัพยากรบุคคลเองก็มี Mindset ที่ส่งผลให้การพัฒนาพนักงานกลุ่มมีอายุทำได้ยากขึ้น โดยมีความเชื่อที่อาจไม่ใช่ความจริงฝังใจอยู่ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าคนอายุเยอะแล้วไม่สามารถพัฒนาให้ใช้เทคโนโลยีได้ ความเชื่อนี้ปิดกั้นให้การลงทุนในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเป็นไปอย่างเชื่องช้า เกิดความลังเลที่จะลงทุนพัฒนาพนักงานกลุ่มนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว หากสังเกตสังคมออนไลน์รอบตัวขณะนี้จะพบว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากสามารถปรับตัวและใช้สื่อโซเชียลมีเดียกันไม่น้อยไปว่าเด็กรุ่นใหม่ แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีไม่น้อยเลยทีเดียว

  1. พัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการทำงานควรมีวัตถุประสงค์ให้ชีวิตของคนทำงานง่ายขึ้น แต่ปัญหาที่พบในหลายองค์กรระบบที่ออกแบบขึ้นมา ขาดการมีส่วนร่วมของพนักงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานในองค์กรมายาวนาน ทำให้ระบบไม่ครอบคลุมปัญหาที่พนักงานรุ่นเก่าเคยประสบ ทำให้เขาเหล่านั้นคิดว่าการทำแบบเดิมดีกว่า เพราะถ้าใช้ระบบที่สร้างขึ้นเป็นการแก้ปัญหาที่หนึ่ง แต่ไปสร้างปัญหาให้เกิดในอีกที่หนึ่ง เขาจึงคิดว่าเป็นระบบที่ไม่มีประโยชน์ รวมไปถึงการออกแบบ User Interface ที่ไม่รองรับสังคมสูงอายุ เช่นตัวอักษรเล็กเกินไป หรือการตัดกันของสีที่ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่เอื้อต่อสายตาของคนทำงาน ทำให้เขาไม่สามารถทำงานได้อย่างสะดว

  1. ฝึกอบรมแบบเจาะจง

ถึงแม้จะได้เกริ่นไว้แล้วว่าพนักงานรุ่นเก่าสามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถเรียนรู้ได้เร็วเท่ากับเด็กที่เกิดในยุคไอที การออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี ควรทำความเข้าใจธรรมชาติความแตกต่างในการเรียนรู้ของพนักงานรุ่นเก่า เพื่อให้การฝึกอบรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. สร้างทีมงานต่างวัย

การผสมผสานพนักงานรุ่นเก่าและเด็กยุคไอทีเข้ามาเป็นทีมงานเดียวกัน นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้พนักงานรุ่นเก่า สามารถปรับใช้ระบบไอทีได้รวดเร็วขึ้น เพราะพนักงานสามารถให้ความช่วยเหลือกันได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาวัฒนธรรมองค์กรอันเกิดจากพนักงานรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มีความแตกต่างกันมากอีกด้วย

ผู้จัดการโครงการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา Sasin School of Management  บอกด้วยว่า นอกจากนี้ หากพิจารณาจากทิศทางในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันจะพบว่า มีองค์กรต่างๆ รวมถึงราชการและรัฐวิสาหกิจ มีแนวคิดที่จะขยายเวลาการเกษียณอายุออกไป มีการจ้างงานผู้สูงอายุในลักษณะ Part-time มากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถสรรหาบุคลากรที่มีมีความรู้ ทักษะ และความสามารถที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะในหลายๆ สายอาชีพที่ต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ การพัฒนาศักยภาพแรงงานในกลุ่มสูงอายุ ให้มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จะทำให้ประเทศไทย มีกำลังแรงงาน ในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวต่อไปในยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะช่วยให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีรายได้และพึ่งพาตนเองได้อีกด้วย