วันเดย์ทริป เยือนสามเสน ชมวิถีชุมชนเก่า 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

วันเดย์ทริป เยือนสามเสน ชมวิถีชุมชนเก่า 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

หากใครชื่นชอบการท่องเที่ยวเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมแล้วล่ะก็ “ย่านสามเสน” น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย เพราะไม่ต้องไปไกลถึงต่างจังหวัด อีกทั้งการเดินทางก็ง่ายแสนง่าย

โดยทริปนี้ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ขอเริ่มต้นทริปด้วยการพาไปที่ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม” หรือ “ศาลเจ้าจุ่ยบ่อเนี้ยว” ไปไหว้ขอพรกับ “ตุ้ยบ๊วยเต็งเหนี่ยง” หรือ “เจ้าแม่ทับทิม” เทพธิดาศักดิ์สิทธิ์แห่งท้องทะเล ของชาวจีนไหหลำ ที่งดงามและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

“ศาลเจ้าแม่ทับทิม”

ศาลเจ้าตกแต่งด้วยธีมสีแดงแซมเหลืองและทอง อันเป็นสีมงคลตามแบบฉบับความเชื่อของชาวจีน โดยที่มาของชื่อ “เจ้าแม่ทับทิม” ก็มาจากการที่องค์จุ่ยบ่อเนี้ยสวมใส่อาภรณ์เครื่องทรงสีแดงเหมือนกับสีของทับทิมมาตั้งแต่สมัยโบราณนั่นเอง  โดยคนที่มาขอพรกับเจ้าแม่ ส่วนใหญ่จะมาสักการะและขอพรให้แคล้วคลาดปลอดภัย อีกทั้งขอเรื่อง โชคลาภ หน้าที่การงาน การเงิน รวมถึงขอบุตรขอหลานด้วย

บรรยากาศภายใน “ศาลเจ้าแม่ทับทิม”

สักการะเจ้าแม่ทับทิมเสร็จ เดินเท้าชิลๆ ต่อประมาณ 10 นาที เข้าซอยโรงเรียนโยนออฟอาร์คบริหารธุรกิจ ไปโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ เพื่อไปชมสถาปัตยกรรมแบบยุโรปโบราณ ที่ “วัดนักบุญฟรังซิสเซเวีย”  ฟังเรื่องเล่าวิถีชีวิตของชุมชนชาวญวน ที่นับถือศาสนาคริส นิกายโรมันคาทอลิก และ หนีภัยสงครามจากเวียดนาม มาตั้งถิ่นฐานอาศัยในสยามประเทศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

“วัดนักบุญฟรังซิสเซเวีย”
บรรยากาศภายในของวัดนักบุญฟรังซิสเซเวีย

ใกล้ๆ เป็นชุมชนชาวมอญ ที่มี “วัดคอนเซ็ปชัญ” เป็นวัดคาทอลิกหลังแรกของกรุงเทพฯ อายุประมาณ 170 ปี วัดมีขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายถ้ำ ด้านในตามผนังมีภาพเขียนบอกเล่าเรื่องราวของพระเยซู

“วัดคอนเซ็ปชัญ”

วัดแห่งนี้ มีที่มาจากการที่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงพระราชทานที่ดินให้กับชนเชื้อสายโปรตุเกส ที่ร่วมรับราชการสงคราม ได้อยู่อาศัยและสร้างโบสถ์ขึ้น ต่อมา สมัย ร.1 มีชาวเขมรที่หนีภัยการจลาจลในประเทศ เข้ามาในสยาม พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในชุมชนนี้ เพราะนับถือศาสนาคริสต์เหมือนกัน ต่อมามีชาวเขมรเข้ามาจำนวนมาก จึงเรียกที่นี่ว่า ย่านบ้านเขมร

บรรยากาศภายในวัดคอนเซ็ปชัญ

ภายในวัด มีรูปสลักพระแม่มารีอา ที่อัญเชิญมาจากเขมร โดยพระแม่มารีของวัดคอนเซ็ปชัญ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระแม่ขนมจีน เพราะเมื่อมีงานพิธีฉลองต่างๆ ที่จัดขึ้น ชาวบ้านจะทำขนมจีนมาเลี้ยงฉลองในงานกันเป็นประจำ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเขมรแห่งนี้นั่นเอง

พระแม่มารีของวัดคอนเซ็ปชัญ
บรรยากาศภายในวัดคอนเซ็ปชัญ

เพลิดเพลินไปกับสถาปัตยกรรมยุโรป ตามวัดในความเชื่อเต๋าและคริสต์ไปแล้ว พาเปลี่ยนบรรยากาศ ไปเยี่ยมชม “วัดเทวราชกุญชร” นิวาสสถานของพระราชา โดยวัดแห่งนี้ เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงจำพรรษาอยู่เมื่อทรงผนวช และ ถือเป็นวัดต้นกำเนิดของธรรมยุติกนิกายอีกด้วย

“วัดเทวราชกุญชร”

วัดเทวราชกุญชร เป็นสถาปัตยกรรมแบบขอม มีลักษณะคล้ายปราสาทนครวัด ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ที่เป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดก ที่ตกแต่งด้วยสีน้ำเงินทะเลเป็นหลัก โดยได้รับการบูรณะและอนุรักษ์อย่างดี

จิตรกรรมฝาผนังที่ว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดก ของวัดเทวราชกุญชร

ปิดท้ายทริปด้วยการไปเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์ไม้สักทอง วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร”  อาคารทรงปั้นหยา ที่สร้างด้วยไม้สักทองตามแบบดั้งเดิมทั้งหลัง มีเสาที่สร้างด้วยไม้สักทองขนาดสองคนโอบทั้งหมด 59 ต้น โดยที่พิพิธภัณฑ์ไม้สักทองฯ แห่งนี้ นอกจากจะเป็นสถานที่อนุรักษ์ไม้สักทองและศูนย์เผยแพร่ความรู้ด้านพระพุทธศาสนาแล้ว ภายในยังเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช และ พระอริยสงฆ์ สมัยรัตนโกสินทร์ ที่มีขนาดเท่าของจริงไว้ด้วย

“พิพิธภัณฑ์ไม้สักทอง วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร”
ไม้สักทอง ที่ทางพิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงให้ชม
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์
หุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช และ พระอริยสงฆ์ สมัยรัตนโกสินทร์ บางส่วน