“ตะเกียบกินได้” ผลิตจากแป้งข้าวโพด-แป้งถั่วเหลือง ไอเดียลดขยะ สุดเจ๋ง!

“ตะเกียบกินได้” ผลิตจากแป้งข้าวโพด-แป้งถั่วเหลือง ไอเดียลดขยะ สุดเจ๋ง! จากเด็ก สจล.

ตะเกียบกินได้ – เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” มีโอกาสได้ไปเดินเล่นที่งาน “KMITL Engineering Project Day 2019” งานแสดงผลงานวิจัย และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ของนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินชมผลงานของน้องๆ ไปเรื่อย ก็ไปเจอเข้ากับบู๊ธหนึ่ง มีผัดมาม่าวางอยู่ในจานสีน้ำตาลอมเหลือง แถมมีตะเกียบที่หนากว่าปกติวางพร้อม ดูไปดูมาก็น่าจะเป็นจานที่สามารถย่อยสลายได้ทั่วไป ที่ร้านค้าต่างๆ ในสมัยนี้หันมาใช้กันเยอะแยะ

สายตาบังเอิญเหลือบไปเห็นวิดีโอที่เล่นอยู่ กำลังนำเสนอวิธีการใช้ตะเกียบอยู่ ซึ่งตะเกียบนั้นสามารถทานได้ ด้วยความไม่เคยเห็น จึงเข้าไปพูดคุยกับน้องๆ ที่ยืนนิ่งจ้องมาทางเรา กับท่าทางที่ยิ้มแย้มพร้อมตอบคำถามเราทุกเมื่อ

นายปวัชร เพ็งสุขแสง, นายรชานนท์ แซ่ตั้ง และ นางสาวสกุลรญา สินถิรมั่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร สจล. ผู้คิดค้น “ตะเกียบชีวภาพรับประทานได้

นายปวัชร เพ็งสุขแสง, นายรชานนท์ แซ่ตั้ง และ นางสาวสกุลรญา สินถิรมั่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร สจล. ผู้คิดค้น “ตะเกียบชีวภาพรับประทานได้” น้องๆ ได้ร่วมกันเล่าให้ฟัง ถึงที่มาที่ไปของนวัตกรรมตะเกียบทานได้นี้ว่า ปัจจุบัน โลกกำลังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องของสุขภาพที่คนหันมาดูแลตัวเองกันมากขึ้น เมื่อไปทานก๋วยเตี๋ยวตามร้านต่างๆ ถ้าไม่ใช้ส้อม ทางร้านก็จะมีตะเกียบให้ บางร้านก็เป็นตะเกียบไม้ที่ใช้แล้วล้างและนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งถ้าตากไม่แห้งจะทำให้เกิดเชื้อราที่ตะเกียบ ซึ่งเมื่อเราใช้แล้วสัมผัสโดนปาก ก็ไม่ดีต่อสุขภาพ บางร้านเป็นตะเกียบไม้ไผ่ที่ใช้แล้วทิ้ง จึงมองว่าเป็นการเพิ่มปริมาณขยะ และทำลายป่าไม้ด้วย

จึงตัดสินใจปรึกษากัน และจัดทำนวัตกรรมตะเกียบรับประทานได้ตัวนี้ขึ้น เพื่อเป็นการช่วยลดปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการใช้อุปกรณ์ทานอาหารที่สะอาดและถูกสุขอนามัย

“ตะเกียบนี้เป็นตะเกียบที่สามารถรับประทานได้ครับ เอาไว้ใช้แทนตะเกียบไม้ไผ่ พวกผมได้ไอเดียมาจากประเทศญี่ปุ่นกับอินเดีย แล้วก็เม็กซิโก ที่เขามีการทำพวกช้อน ชาม หลอด ที่กินได้ แต่ญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมคล้ายๆ กับบ้านเรา และเขาก็ทำตะเกียบจากหญ้า ที่สามารถกินได้ ก็เลยเป็นไอเดียในการทำตะเกียบกินได้ของพวกเราครับ”

นายปวัชร กล่าวอีกว่า ตะเกียบรับประทานได้ ทำจากแป้งข้าวโพด 57%, แป้งถั่วเหลือง 30 %, สารทำให้เกิดความชื้น (INS 422), สารทำให้คงตัว (INS 412) และสารป้องกันการจับเป็นก้อน (INS 470(III) ) ซึ่งสารผสมทั้งหมดไม่เกินค่ามาตรฐานของ อย. ทั้งยังมีกลิ่นเหมือนน้ำเต้าหู้ รสชาติจืด ไม่ทำให้รสชาติอาหารเปลี่ยน ตะเกียบมีลักษณะค่อนข้างแข็ง และหนากว่าตะเกียบทั่วไป โดยขนาดของความยาวอยู่ที่ 20 เซนติเมตร ปลายใหญ่และกว้าง 0.9 เซนติเมตร ปลายเล็กกว้าง 0.7 เซนติเมตร และหนา 0.6 เซนติเมตร เมื่อโดนน้ำ บริเวณที่โดนน้ำก็จะเปื่อยและนิ่มขึ้น จนสามารถทานไปพร้อมกับอาหาร หรือย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติได้

ตะเกียบรับประทานได้นี้ สามารถใช้งานได้ในสภาวะปกติ อย่างการใช้ทานก๋วยเตี๋ยว ก็สามารถใช้งานได้ 10 นาทีเป็นอย่างต่ำ ส่วนในสภาวะสูงสุดอย่างการแช่หรือจุ่มน้ำร้อนตลอดเวลา ในอุณหภูมิ 75 องศาเซลเซียส ได้ประมาณ 3 นาที

“ตะเกียบรับประทานได้นี้ เราใช้เวลาในการผลิต 8 เดือน โดยผลิตด้วยกระบวนการอัดขึ้นรูปด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส และความดันที่แรง 1 บาร์ ชั่งส่วนผสมและน้ำมาใส่เครื่องมิกเซอร์เพื่อผสมส่วนผสม จากนั้นก็นำส่วนผสมไปใส่ในแม่พิมพ์เครื่องอัด โดยมีต้นกำลังเป็นชุดอุปกรณ์ลมอัด นิวเมติก และนำออกมาคูลลิ่งขึ้นรูปประมาณ 10 นาที แล้วนำมาทดสอบการใช้งาน การเก็บตะเกียบรับประทานได้นี้ ควรหลีกเลี่ยงความชื้นและแสงแดดค่ะ” นางสาวสกุลรญา กล่าว

ถามถึงต้นทุนในการผลิต นายรชานนท์ กล่าวว่า หากคิดเฉพาะวัตถุดิบต่อ 1 คู่ อยู่ที่ 1 บาท หรือข้างละ 50 สตางค์เท่านั้น

ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกจากตะเกียบรับประทานได้ และการวางจำหน่าย นายปวัชร กล่าวว่า มีเพิ่มไลน์ จานและถ้วยฝาปิดเข้ามา แต่ยังไม่มีการผลิตออกจำหน่ายในตอนนี้ หากทางภาคอุตสาหกรรมสนใจ สามารถเข้ามาพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัยได้ เพราะสิทธิบัตรนวัตกรรมเป็นสิทธิบัตรของทางมหาวิทยาลัย ในอนาคตมีการวางแผนจะปรับปรุงเพิ่มสีสัน โดยใช้สีผสมอาหารและเพิ่มรสชาติให้หลากหลายขึ้น