นักศึกษา-ผู้มีรายได้น้อย ครวญ “แม้ขึ้นราคาบาทสองบาท ก็ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป”

นักศึกษา-ผู้มีรายได้น้อย  ครวญ “แม้ขึ้นราคาบาทสองบาท  ก็ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป”

จากกรณี การขึ้นค่าโดยสาร รถร่วม – ขสมก.โดยรถเมล์ร้อน ปรับจาก 6.50 บาท เป็น 8 บาท, รถเมล์แอร์ (ครีมน้ำเงิน) จากเดิม 10-18 บาท ปรับขึ้นเป็น 12-20 บาท และ รถเมล์แอร์ ปรับจาก 11-23 บาท เป็น 13-25 บาท โดยมีการปรับใช้เมื่อ วันที่  22 เม.ย. นั้น

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ลงพื้นที่สอบถาม ความคิดเห็นประชาชนผู้ใช้บริการรถสาธารณะ ได้รับคำตอบแทบเป็นเสียงเดียวกัน คือ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับมาตรการขึ้นราคาครั้งนี้

เริ่มต้นที่

คุณน้ำ และ  คุณฮัท อายุ 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้งคู่เดินทางไปเรียน โดยใช้บริการรถเมล์ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทุกวัน  ในหนึ่งวัน ใช้เงินไปประมาณ 100 – 150 บาท แยกเป็นค่ารถเมล์ไป-กลับ ประมาณ 50 บาท เมื่อมีการปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร ก็ได้รับผลกระทบ เพราะต้องนำเงินค่ากินอยู่ระหว่างวัน มาแบ่งจ่ายค่ารถที่เพิ่มขึ้น  เลยคิดว่าไม่สมควรขึ้นเท่าไหร่ เพราะการให้บริการของรถบางสาย ไม่สมเหตุสมผลกับราคาที่เพิ่มขึ้น ควรปรับระบบขนส่ง ปรับให้เป็นรถใหม่ไม่ต้องเข้าอู่บ่อยๆ มารยาทของพนักงาน ทั้งการขับรถ และบริการเก็บเงิน รวมถึงการตรงต่อเวลาให้ดีเสียก่อน หากปรับแล้ว จะมีการขึ้นราคาอีก ก็ไม่มีข้อกังขาอะไร ในส่วนที่มีกระแสไม่พอใจ แล้วให้ไปฟ้องศาลปกครอง ส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นถึงขั้นนั้น เพราะเสียเวลา

คุณจุรีพร ทรัพย์เงินศรี อายุ  63 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ตนใช้บริการรถสาธารณะเป็นประจำ และเห็นว่า ไม่ควรขึ้นค่าโดยสาร เพราะตนเป็นผู้ไม่มีรายได้ ถึงจะใช้สิทธิผู้สูงอายุ ในการลดหย่อนค่าโดยสาร แม้จะขึ้นบาทสองบาท แต่เมื่อใช้บ่อย ก็ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเยอะเกินไป อีกทั้งบริการของเจ้าหน้าที่ อย่างการขับรถเร็ว จอดไม่ค่อยตรงป้าย พนักงานเก็บเงินบางสายที่เป็นรถแอร์ เมื่อเห็นว่าใช้บัตรส่วนลด ก็จะทำกิริยามารยาทไม่ดีใส่ ทั้งๆ ที่เงินเดือนเขามาจากภาษีของประชาชน ตนจึงอยากให้มีการปรับปรุงระบบการบริการและมารยาทของพนักงานก่อน ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ประเภทไหน หากมีการปรับขึ้นราคาอีก แต่บริการดีมีความสุภาพ ตนก็เห็นว่าเหมาะสม

ด้านข้าราชการ รายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า ในการขึ้นราคาตนไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก เพราะไม่ได้ใช้บริการประจำ แต่คนที่ใช้บริการประจำคงได้รับผลกระทบกันพอสมควร ส่วนตัวเห็นว่าไม่สมควรขึ้นราคา เพราะเท่าที่เห็น บริการและการตรงต่อเวลายังไม่เป็นมิตรเท่าใดนัก ก็อยากให้ปรับปรุงด้านบริการและความตรงต่อเวลามากกว่านี้ ส่วนที่ว่าถ้าไม่พอใจให้ไปฟ้องศาล เห็นว่าไม่จำเป็นต้องถึงกับขึ้นโรงขึ้นศาลเสียเท่าไรนัก

คุณนันท์ อายุ  32 ปี พนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ตนเพิ่งรู้ข่าวเมื่อเช้า ว่าวันนี้จะมีการขึ้นราคาค่าโดยสารเป็นวันแรก ตนมองว่า ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องขึ้นค่ารถโดยสารขนาดนั้น ตอนยังไม่มีการขึ้นค่ารถ ค่าใช้จ่ายต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 100 บาท แบ่งเป็นค่ารถ ประมาณ 30 บาท แต่ขึ้นราคาแค่ 1 – 2 บาท ก็ได้รับผลกระทบ แต่ไม่เยอะมาก เท่าคนรายได้น้อย ถ้าจะให้ทุกคนไปฟ้องศาล เพราะไม่พอใจที่มีการขึ้นค่าโดยสาร ก็ใช้เวลานานกว่าจะตัดสิน และได้ประกาศฉบับใหม่ หากจะปรับขึ้นค่าโดยสาร ตนอยากให้มีการปรับปรุงบริการต่างๆ ให้ดีกว่าเดิมก่อนไม่ว่าจะเป็น การปรับเปลี่ยนเป็นรถแอร์ทั้งหมด บริการที่สุภาพจากพนักงาน หรือจัดตารางรถไม่ให้ขาดระยะนานๆ เป็นต้น