สาวแบงค์บัวหลวงแฮปปี้ มะดันลอยแก้วขายดีออร์เดอร์ล้น

จาก“โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด” ภายใต้แผนส่งเสริมยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระยะเร่งด่วน โดยร่วมกันคัดเลือกคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพรวม 17 เครือข่าย อันเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทั้ง 2 หน่วยงานได้เปิดตัวโครงการดังกล่าว พร้อมคาดการณ์ว่าภายใน 1 ปีจะเกิดการขยายตัวในระบบเศรษฐกิจ 530 ล้านบาท และสามารถลดต้นทุนได้ 65 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอยู่ใน 17 คลัสเตอร์ จำนวนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เพิ่งผลิตสินค้าได้ไม่นาน บางรายเป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีวางขายในท้องตลาดมาก่อน ดังนั้น การเข้ารวมกลุ่มเครือข่ายนี้จึงเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การซื้อวัตถุดิบและการทำตลาดร่วมกัน

ประโยชน์ของมะดัน

ดังที่ “คุณนงนุช เทียมณรงค์” เจ้าของผลไม้แปรรูป แบรนด์ “งามลมัย” ในนามวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลไม้ ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก  แจกแจงให้ฟังว่า มีสมาชิกทั้งหมด 33 คน ได้เข้าร่วมในกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ผลิตและแปรรูปผลไม้ภาคตะวันออกที่มี 6 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี นครนายก ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการรวมตัวกันในส่วนที่เป็นต้นน้ำ คือเกษตรกรผู้ผลิตภาคการเกษตร สามารถช่วยเหลือให้ความรู้ข่าวสารแก้ไขปัญหาให้ไปในทิศทางเดียวกัน กลางน้ำ คือการแปรรูปผลผลิตที่มีปริมาณมากก็จะเข้ามาช่วยต้นน้ำได้มากมาย ปลายน้ำ คือผู้ที่ทำการตลาด สามารถมาช่วยกลางน้ำ ทำให้สายน้ำยาวและใหญ่ ทำให้บ้านเราอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนimg_7669-e

สำหรับกิจการแปรรูปผลไม้ของเธอนั้น มีมะดันเป็นตัวชูโรง ทั้งมะดันลอยแก้ว มะดันอบแห้ง น้ำมะดัน และมะม่วงกวน ในชื่อแบรนด์ “งามลมัย” ปัจจุบันขายมะดันลอยแก้วกระป๋องละ 50 บาท มะดันอบแห้งกิโลกรัมละ 250 บาท ส่วนน้ำมะดันขวดละ 25 บาท มีวางขายที่กรุงเทพฯ ร้านค้าใกล้สถานีตำรวจสามเสน ซึ่งกลุ่มลูกค้ามีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้า และพนักงานออฟฟิศ ผู้สนใจในกรุงเทพฯ สั่งซื้อได้ที่ คุณนงนุช โทรศัพท์ (081) 733-1745 ส่วนถ้าอยู่นครนายกสั่งได้ที่ คุณตู่ โทรศัพท์ (089) 001-4112

เธอเล่าถึงสาเหตุของการแปรรูปมะดันว่า ปัจจุบันเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพ เริ่มทำสวนที่จังหวัดนครนายก ครั้งแรกปี 2550 เมื่อก่อนบริเวณนั้นเป็นที่นาจึงต้องลงทุนถมที่ในเนื้อที่ 4 ไร่กว่าๆ เพื่อปลูกมะยงชิดและผลไม้ที่ตัวเองชอบ เช่น มังคุด มะม่วง กล้วย ละมุด ฯลฯ ส่วนมะดันเป็นต้นไม้ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ต่อมาเริ่มปลูกมะดันเพิ่มเติมเข้าไปด้วย แต่พอปี 2551 ราคามะดันตกต่ำมาก เลยเริ่มทำมะดันลอยแก้ว ตามด้วยมะดันอบแห้ง และน้ำมะดัน โดยมีการปรับปรุงพัฒนาสูตรตลอดมา ซึ่งการนำมะดันมาแปรรูปนั้นเพราะเป็นผลไม้พื้นบ้านที่มีวิตามินสูงมาก ช่วยในเรื่องภูมิแพ้หวัด ทำให้ผิวพรรณดีและช่วยระบบขับถ่ายด้วย

img_7765-e1477117189649

วางแผนปลูกแบบออร์แกนิก

ใครชิมมะดันอบแห้งหรือน้ำมะดันของคุณนงนุช ต่างชอบอกชอบใจในรสชาติที่ไม่เปรี้ยวจี๊ดจ๊าดจนเกินไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีลูกค้าประจำและมีออร์เดอร์ไม่ขาด เจ้าตัวเองก็รู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปนี้ เพราะที่ผ่านมาผู้คนมักจะนำมะดันมาใส่ในต้มปลาทูและนำไปแช่อิ่มเท่านั้น แต่ของเธอได้นำมาทำน้ำ ทำอบแห้ง และทำลอยแก้ว ซึ่งในท้องตลาดยังไม่เห็นมีใครทำเป็นล่ำเป็นสัน หรือมีบ้างแต่คุณภาพและความอร่อยก็ต่างกัน

เธอย้ำว่า ทางกลุ่มเน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ เพื่อให้ได้มาตรฐานสูงสุด สามารถเข้าตลาดระดับสูงได้ รวมถึงมองการส่งออกด้วย ซึ่งทางกลุ่มทำได้ไม่ยากเพราะทุกครัวเรือนในบริเวณนี้ปลูกมะดันกันอยู่แล้ว สามารถคัดเลือกลูกที่มีขนาดใหญ่และเนื้อแน่น ตอนนี้ราคามะดันดีกว่าปีก่อนๆ จากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 3 บาท ขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 7-15 บาท แล้วแต่ช่วงว่ามีมากหรือน้อย

ในเรื่องการปลูกมะดัน เธอให้ข้อมูลว่า ไม่มีแมลงอะไรมารบกวน จะมีก็แต่กาฝาก จึงต้องทำการตกแต่งกิ่งให้ดี และในการเก็บจะต้องเลือกเก็บเฉพาะลูกที่มีขนาดใหญ่ ทั้งนี้ มะดันจะออกผลมากในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม แต่ออกผลตลอดทั้งปีถ้าให้น้ำตลอด ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะปลูกแบบออร์แกนิก

คุณนงนุช พูดถึงปัญหาของการแปรรูปมะดันว่า ปัญหาที่เห็นชัดคือ มีผลผลิตเป็นฤดูกาล การเก็บรักษาต้องใช้ความเย็นช่วยถนอมอาหาร ซึ่งการใช้ความเย็นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ผู้ประกอบการอีกรายที่อยู่ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ คุณเชิดพงษ์ เมธาวุฒินันท์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยรับราชการ ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ เขาระบุถึงการเข้าร่วมในคลัสเตอร์ผู้ผลิตและแปรรูปผลไม้ภาคตะวันออกว่า ในกลุ่มมีทั้งความแตกต่างและความเหมือนกัน จึงมีมุมมองในหลายๆ ด้านที่แลกเปลี่ยนและสามารถเสริมแนวทางธุรกิจซึ่งกันและกันได้

img_7667

เชื่อมั่นตลาดนักท่องเที่ยวจีนชอบ

คุณเชิดพงษ์ อธิบายถึงธุรกิจแปรรูปผลไม้ที่ทำอยู่ว่า เริ่มจากจุดที่ว่าเมืองไทยมีผลไม้ตามฤดูกาลหลากหลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ประกอบกับเทคโนโลยีการถนอมอาหารของไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงนำทุเรียนหมอนทองมาแปรรูปเป็นเม็ดๆ เหมือนทอฟฟี่ ในชื่อแบรนด์ “ชิวดี้” โดยจ้างโรงงานผลิตที่มีมาตรฐานและมีประสบการณ์ อยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี

ว่าไปแล้วคุณเชิดพงษ์ก็เหมือนกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ยุคนี้ที่เน้นจ้างผลิตแล้วมาทำการตลาดเอง ซึ่งหากจับตลาดได้ถูกกิจการก็จะไปได้ดี ไม่ต้องมายุ่งในส่วนการผลิต การตั้งโรงงาน หรือจ้างพนักงานแต่อย่างใด เป็นการลดขั้นตอนไปได้เยอะ อยู่ที่ว่าหากเป็นสินค้าใหม่จะทำให้ลูกค้ารู้จักและเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าได้มากน้อยแค่ไหน

คุณเชิดพงษ์ บอกว่า จุดเด่นของ “ชิวดี้” คือผลิตจากทุเรียนหมอนทองพันธุ์ดี ผ่านการคัดสรรจากสวนผลไม้ที่ปลูกด้วยระบบออร์แกนิก และผ่านกระบวนการผลิตอันทันสมัยได้มาตรฐาน ทำให้ได้ทุเรียนเม็ดมินต์ที่มีรสชาติอร่อย เพิ่มความสดชื่นเวลารับประทาน และเป็นรสชาติที่แปลกใหม่ เคี้ยวเพลินได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งในท้องตลาดไม่มีใครผลิตแบบนี้ โดยผลิตภัณฑ์ขนาด 20 กรัม ราคาขายปลีกซองละ 25 บาท และบรรจุกล่อง กล่องละ 60 ซอง ราคาขายส่ง 1,200 บาท

“ความจริงผลิตภัณฑ์ของเราก็คล้ายๆ กับทอฟฟี่ แต่ไม่อยากให้เรียกแบบนั้น เนื่องจากมูลค่ามันต่างกัน เพราะทางเราเลือกใช้ทุเรียนหมอนทองเกรดดี”

ผู้ประกอบการหน้าใหม่รายนี้เล่าว่า เตรียมวางแผนที่จะจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่างๆ และจะวางขายเพิ่มเติมในร้านขายของฝากบริการนักท่องเที่ยวและร้านอาหาร ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นที่ถูกอกถูกใจของนักท่องเที่ยวจีนที่ชอบรับประทานทุเรียน รวมทั้งการเข้าถึงตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่มากทั้งจำนวนประชากรและรายได้ประชาชาติ หากสามารถมีผลิตภัณฑ์ที่สนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้จะสร้างยอดขายได้สูงมาก

เจ้าตัวพูดถึงปัญหาอุปสรรคของการเริ่มทำธุรกิจนี้ว่า อยู่ที่การเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เพราะเป็นของใหม่ไม่มีในท้องตลาด แต่หากได้ลองชิมแล้วจะถูกปากและติดใจในรสชาติที่มีความแปลกใหม่อันผสมกลมกลืนระหว่างทุเรียนกับมินต์ได้อย่างลงตัว

ในงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด” เมื่อไม่นานมานี้ คุณเชิดพงษ์ก็ได้นำผลิตภัณฑ์มาให้ชิมกัน หลายรายชื่นชอบรสชาติที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรสมินต์ทั้งหลาย

สนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายหรืออยากลิ้มชิมรสทุเรียนหมอนทองรสมินต์แบรนด์ “ชิวดี้” ติดต่อคุณเชิดพงษ์ได้ที่ โทรศัพท์ (092) 419-6695