ปรัชญาพอเพียง เหมือนธรรมะของพระพุทธเจ้า คือ ผู้ใดไม่ได้ปฏิบัติ ผู้นั้นไม่รู้

ปรัชญาพอเพียง เหมือนธรรมะของพระพุทธเจ้า คือ ผู้ใดไม่ได้ปฏิบัติ ผู้นั้นไม่รู้

หนุ่มวัยสามสิบต้น เดินหนีระบบลูกจ้าง ก้าวสู่วิถีเกษตรกรรม ด้วยต้นทุนที่ดินมีอยู่เดิม แต่ด้วยสภาพดินเสื่อมโทรม ขาดแหล่งน้ำ จะทำเช่นไร “เดินตามรอยพ่อ” คือแนวทางนำมาใช้ จนเกิดเป็น ไร่สุขพ่วง

คุณอภิวรรษ สุขพ่วง เกษตรกรรุ่นใหม่ หัวใจพอพียง เจ้าของ “ไร่สุขพ่วง” คือ คนหนุ่มที่หันมาสู่วิถีเกษตร เขาเลือก “เดินตามรอยพ่อ” กับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ จนเกิดเป็นความสุข พออยู่พอกิน สร้างรายได้ และถ่ายทอดสิ่งที่ตนรู้สู่ผู้สนใจ จนหลายๆ คนได้เกิดอาชีพบนหนทางเดียวกัน

คุณอภิวรรษหันหลังให้การทำงานในระบบลูกจ้าง แล้วก้าวสู่บ้านเกิดในตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เขาค้นพบว่าสิ่งที่จะทำคืออาชีพเกษตรกรรม แต่ทว่าในเวลานั้น สภาพพื้นที่เสื่อมโทรม ขาดแหล่งน้ำ นั่นหมายถึง ไม่เหมาะกับการทำเกษตร

“ผมมีต้นทุนเรื่องของที่ดิน 25 ไร่ แต่ต้องพบกับปัญหา พื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีระบบชลประทาน ดินเสื่อมโทรม จึงต้องการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่พื้นที่ของตัวเอง ซึ่งก็พยายามหาความรู้จากหลายๆ แห่ง กระทั่งได้พบปรัชญาของพระองค์ท่าน โดยสิ่งแรกที่ผมนำมาปรับใช้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งพระองค์ท่านตรัสไว้ในหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งพื้นที่สร้างแหล่งน้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือปรับไปตามหลักภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ ซึ่งผมใช้พื้นที่ 40 เปอร์เซ็นต์ โดยขุดบ่อ ซึ่งในบ่อน้ำนั้นสามารถสร้างประโยชน์ได้อีก ปลูกพืชน้ำ เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด” คุณอภิวรรษ เล่า

ไม่ใช่แค่สร้างแหล่งน้ำเพียงอย่างเดียว แต่ควรสร้างความอุดมสมบูรณ์ ฉะนั้น เรื่องต่อมาที่คุณอภิวรรษ น้อมนำมาปฏิบัติคือ สร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่ดี ปลูกพืชผักสารพัดชนิดในพื้นที่ของตนเอง

13086697_1134326106610070_4770396626467810337_o
เลี้ยงไก่

“อย่างการทำนา บนคันนาก็ปลูกพืชผัก ทำคันดินคันนาให้สูง ทำโคกสูงขึ้นไป เพื่อพร้อมรับกับภัยพิบัติ ซึ่งเมื่อทำเช่นนี้สามารถแก้ปัญหาได้ทั้ง ภัยแล้ง และน้ำท่วม”

ต่อมาด้านแนวคิดคือสิ่งที่น้อมนำมาใช้กับการออกแบบสังคม “พระองค์พระราชทานเรื่องกรอบแนวความคิด กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มจากพัฒนาตนเอง พัฒนาจิตใจ รู้เท่าทันตัวเอง เรื่องของความพอประมาณ เราต้องรู้ว่าตัวเองมีศักยภาพเท่าใด ทำเกินไปหรือน้อยไปหรือไม่

พระองค์ท่านตรัสว่า ทำอะไรต้องมีเหตุผล ทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร นั้นหมายถึง ทำด้วยอารมณ์ ทำด้วยความโลภ หรือทำเพื่อพอกินก่อน เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ พระองค์ท่านตรัสว่า จะทำอะไรต้องเป็นขั้นเป็นตอน”

12916805_1118038954905452_6014900113960279382_o
ผลผลิต

ต่อมาคือเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ทำอะไรเพียงอย่างเดียว อย่างการแปรรูป สำรองอาหาร เพื่อรองรับสถานการณ์ และภัยพิบัติต่างๆ นั่นหมายถึงผู้ทำควรต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ความรอบรู้ ปัญญา ผู้ลงมือทำต้องแยกแยะได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ต้องรอบรู้ทางด้านวิชาการ มีความรอบคอบระมัดระวัง

“หลักที่นำมาใช้อีกข้อหนึ่งคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างผมทำเกษตรอินทรีย์วิถีไทย เท่ากับปฏิเสธเคมีทุกชนิด ผมเป็นเกษตรกร ผลิตอาหารให้ตนเองและผู้อื่น ถ้าไม่มีคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบอาชีพ ก็คงเป็นเหมือนฆาตกร”

คุณอภิวรรษ (เสื้อน้ำเงิน) ถ่ายทอดความรู้

คุณอภิวรรษ ยังกล่าวถึง ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ที่ได้น้อมนำมาใช้ในทางปฏิบัติจริง จนเกิดผลสำเร็จสู่ชีวิตตนเอง และผู้อื่น โดยเริ่มจาก

ขั้นที่ 1 ทำให้พอกิน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว

ขั้นที่ 2 พอใช้ อย่างเครื่องมือเครื่องใช้ อันหมายถึงปัจจัยในการประกอบอาชีพ เช่น ตนประกอบอาชีพเกษตร จึงผลิตปุ๋ย ฮอร์โมน ใช้เอง รวมไปถึงการทำเครื่องอุปโภคใช้เอง ไม่ว่าจะเป็น สบู่ แชมพู เป็นต้น

ขั้นที่ 3 พออยู่ นั่นหมายถึงการมีพื้นที่เป็นของตนเอง

ขั้นที่ 4 พอร่มเย็น คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

ขั้นที่ 5 ทำบุญ ซึ่งจะช่วยในด้านจิตใจ ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นคนรวยที่เลวได้

ขั้นที่ 6 ทาน คือการรู้จักให้ แบ่งปันทั้งในด้านอาหาร ทรัพย์ หรือแม้แต่องค์ความรู้ เพื่อเป็นวิทยาทาน

ขั้นที่ 7 การเก็บรักษา เพื่อสำรองไว้ในยามเกิดภัยพิบัติ แต่ทว่าช่วงเวลานี้ไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ การเก็บรักษาจึงปรับเป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรที่ผลิตได้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรายการของไร่สุขพ่วง อาทิ น้ำตาลอ้อย ชาหญ้านาง ทองม้วนกล้วย เป็นต้น

13063100_1132708970105117_7834034981707173234_o

ขั้นที่ 8 ทำการตลาด ด้วยเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ คุณอภิวรรษได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บวกกับเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ ใส่เรื่องราว สร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ นำเทคโนโลยี สื่อสารสนเทศมาใช้ให้ทันโลกทันยุคสมัย การทำน้อยจึงได้มาก ดังที่พระองค์ท่านตรัสเรื่องการทำน้อยได้มาก ทำแบบคนจน แต่ได้มูลค่า ด้วยการแปรรูป

ขั้นที่ 9 สร้างเครือข่าย ไร่สุขพ่วงได้ก่อตั้งตนเองเป็นศูนย์การเรียนรู้อินทรีย์วิถีไทย (Earth Safe) โดยการนำสิ่งที่ตนเองรู้ในงานทั้งหมดที่ประสบผลสำเร็จ ถ่ายทอดสู่ผู้อื่น ซึ่งการกระทำเช่นนี้ส่งผลลดความเห็นแก่ตัว ผู้เข้ามาเรียนรู้ก็จะกลายเป็นเครือข่าย เชื่อมโยง แบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน เกิดการรวมกลุ่ม ร่วมสร้างเครือข่ายเข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรอง

“ผมเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่ว่าจากได้ลองมาหลายวิธีแล้ว ต้องยอมแพ้ ยอมศิโรราบกับหลักปรัชญาของพระองค์ท่าน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เหมือนธรรมะของพระพุทธเจ้า คือ ผู้ใดไม่ได้ปฏิบัติ ผู้นั้นไม่รู้ เป็นสิ่งที่พึงรู้ได้เฉพาะตนจริงๆ ดังนั้น ใครที่รับฟังแต่ไม่นำไปปฏิบัติก็อาจเข้าใจได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่หากยิ่งปฏิบัติก็จะยิ่งเข้าใจ” เจ้าของเรื่องราว บอกจริงจัง

น่าภูมิใจ

ตั้งแต่เปิดศูนย์การเรียนรู้อินทรีย์วิถีไทย (Earth Safe) และมีผู้เดินทางเข้ามาศึกษานำวิถีทางไปใช้ นั่นหมายถึงความภาคภูมิใจของผู้ถ่ายทอด ซึ่งคุณอภิวรรษ ว่า ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มาก ก็สามารถสร้างเศรษฐกิจพอเพียงได้

“ที่ใดแสงสว่างส่องถึง ที่นั่นสามารถสร้างอาหารได้ นี่คือสิ่งที่ผมบอกกับผู้เข้ามาเรียนรู้กับเรา ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์มีแสงส่องทั้งปี มีความชื้น ฉะนั้น หากมีพื้นที่แม้ในเมือง แค่ระเบียง ข้างถนน ก็สามารถสร้างอาหารได้ ทำให้พอกินก่อน จากนั้นลองนำมาแปรรูป สร้างรายได้ขึ้นมา”

กับการเดินตามรอยพ่อนี้ สิ่งที่คุณอภิวรรษได้สัมผัสมาโดยตลอดคือความสุข และเชื่อว่าจะคงยึดมั่นเดินตามแนวทางของพ่อไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ

ภาพประกอบ จากเพจ ไร่สุขพ่วง 

 

เผยแพร่แล้วเมื่อ 12 ตุลาคม 2020