“เคยชินพื้นที่-บริการหลากหลาย” หมัดเด็ด “ไปรษณีย์ไทย” ที่ใครก็โค่นไม่ได้!

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน ธุรกิจการซื้อขายออนไลน์ หรือ การซื้อขายแบบอีคอมเมิร์ซ ( E-Commerce ) ในประเทศไทย มีแนวโน้มการแข่งขันสูงขึ้นทุกปี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่าง ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์เอง ก็พลอยเติบโตควบคู่กันไป ธุรกิจโลจิสติกส์ในไทย มีหลากหลายเจ้าให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้บริการ “ไปรษณีย์ไทย” ก็ถือเป็นธุรกิจขนส่งหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน

คุณมานพ ศรวิบูลย์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (สายงานปฏิบัติการนครหลวง) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และคุณพิษณุ วานิชผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ “เส้นทางเศรษฐี” เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ “เจ้าแรกในไทย” ว่า

ก่อนที่จะมาเป็น ไปรษณีย์ไทย ที่เห็นกันทุกวันนี้ ย้อนไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จุดประสงค์เดิมของไปรษณีย์ไทย เป็นการบอกรับหนังสือพิมพ์ ส่งสารถึงกันในรั้ววังเท่านั้น ต่อมาได้มีการประกาศ เปิดรับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้น โดยมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษี สว่างวงศ์กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์

รูปจาก ไปรษณีย์ไทย
รูปจาก ไปรษณีย์ไทย

 

กิจการได้รับความนิยมและเติบโตเรื่อยมา มีการพัฒนารวมเข้ากับกรมโทรเลข ใช้ชื่อเรียกว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” เพื่อให้การบริหารราชการดำเนินไปอย่างสะดวกขึ้น มีการพัฒนาและขยายบริการให้ครอบคลุม และในปีพ.ศ. 2520 มีการจัดตั้ง “การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)” ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 รับมอบกิจการด้านปฏิบัติการทั้งหมด รวมถึงการให้บริการไปรษณีย์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการ โดยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เทียบเท่าภาคเอกชน

ต่อมาในปี 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติให้แปรสภาพ กสท. แยกกิจการเป็น 2 บริษัท คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตามแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคม และพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 อีกทั้งจดทะเบียนจัดตั้ง “ไปรษณีย์ไทย” เป็นบริษัทเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นต้นมา

คุณมานพ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทย มีการให้บริการหลากหลาย ทั้งบริการขนส่งไปรษณีย์ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ, บริการโอน-จ่าย-ชำระเงิน, ส่งจดหมาย-เอกสาร, ฝากขายและร้านค้าออนไลน์, สินค้าไปรษณีย์ และแสตมป์-สิ่งสะสมต่างๆ

ไปรษณีย์ไทย มีพนักงานในความดูแลกว่า 40,000 คน และมีสาขาทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง แบ่งเป็น ที่ทำการไปรษณีย์กว่า 1,400 แห่ง, ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต (ปณอ.) ของเอกชนที่มาขออนุญาตจากไปรษณีย์ไปตั้งตามอำเภอไกลๆ 3,500 แห่ง, ร้านไปรษณีย์ที่เป็นเฟรนด์ไชส์ (ปณร.) 150 แห่ง, จุดให้บริการ Service Point ตามห้าง ย่านชุมชนกว่า 2,000 แห่ง และ EMS Point ในร้านขายยาหรือร้านชำต่างๆ อีกกว่า 3,000 แห่ง เรียกได้ว่าไปรษณีย์ไทย มีสาขาครอบคลุมและเข้าถึง พร้อมให้บริการในทุกพื้นที่ โดยขนส่งผ่านทางรถยนต์ รถไฟ เรือ และเครื่องบิน

รูปจาก ไปรษณีย์ไทย
รูปจาก ไปรษณีย์ไทย

ด้านระยะเวลาในการขนส่ง คุณมานพกล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้ทำการแก้ไข พัฒนาระบบการจัดส่ง โดยมีการจัดเส้นทางการวิ่งรถยนต์ส่งพัสดุภายในประเทศ ภายใต้นโยบาย “ส่งก่อนห้าโมงถึงปลายทางทั่วประเทศในวันรุ่งขึ้น และจัดส่งถึงมือผู้รับในช่วงบ่าย” มาอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งที่เราภูมิใจและต่างจากโลจิสติกส์รายอื่นๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งที่ยังไม่มีใครทำตามได้ คือ เรามีความเคยชินและรู้จักพื้นที่ดีกว่า เพราะมีที่ทำการกระจายอยู่ทุกที่ทั่วประเทศ ทั้งย่านชุมชน หมู่บ้านในต่างจังหวัด ท้องถิ่นทุรกันดาร อีกทั้งเรามีความใกล้ชิดกับชาวบ้าน ช่วยเหลือผู้ประกอบการชุมชน อย่างการเป็นหน้าร้านฝากขายของและวางขายในเว็บไซต์ไปรษณีย์ไทยให้ ไปรษณีย์ไทยจึงพยายามรักษาจุดแข็ง และคุณภาพการบริการตรงนี้เอาไว้” คุณมานพ กล่าว

รูปจาก ไปรษณีย์ไทย
รูปจาก ไปรษณีย์ไทย

พูดถึงจุดแข็งไปแล้ว มาพูดเรื่องจุดอ่อนกันบ้าง คุณมานพเผยว่า จุดอ่อนของไปรษณีย์ไทย เป็นเรื่องของการแข่งขันและความคล่องตัวในการดำเนินงาน เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐ การดำเนินงานต่างๆ จึงใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่คล่องตัวเท่ารายอื่น อีกทั้งราคาค่าบริการมีรัฐบาลคอยกำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและการเมือง ไปรษณีย์ไทยได้พยายามแก้ไข และวางแผนงานระยะยาว เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้น

ผู้ใช้บริการหลักๆของไปรษณีย์ไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้บริการส่งของทั่วไป 1 – 2 ชิ้น หรือ walk in มาที่จุดบริการ และ กลุ่มผู้ใช้บริการที่ทำธุรกิจซื้อขายออนไลน์ต่างๆ จากความเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาทในปี 2561 นี้เอง ทำให้ไปรษณีย์ไทย มีปริมาณงานจัดส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซสูงถึง 54% ของทั้งตลาด หรือประมาณ 310 ล้านชิ้น จากปริมาณรวม 580 ล้านชิ้น คิดเป็นรายได้ 3 หมื่นล้านบาท

รูปจาก ไปรษณีย์ไทย
รูปจาก ไปรษณีย์ไทย

คุณพิษณุ กล่าวเสริมท้ายว่า การค้าขายอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ในอนาคตจะมีคู่แข่งทางธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์รายใหม่ๆเข้ามาอีกหลายราย แต่ไปรษณีย์ไทย มีข้อได้เปรียบในเรื่องของการให้บริการที่หลากหลายกว่า ซึ่งตนคาดว่า ในปี 63 มาร์เก็ต แชร์ จะเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์จากปี 62 และ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอีก 5 ปีข้างหน้า อัตราการเติบโตน่าจะโตขึ้นอย่างน้อย 50 – 60 เปอร์เซ็นต์จากยอดการเติบโตในปัจจุบัน

สามารถดูรายละเอียดการให้บริการของไปรษณีย์ไทยได้ที่ www.thailandpost.co.th