ผู้เขียน | กนกพร หมีทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
สถาปนิกหนุ่ม เบนเข็ม ทำครีมสารพัดสมุนไพร บรรเทาอาการปวดเมื่อย เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ
คุณเจ๋ง-ภูมิพัฒน์ ธนาลภัสไพศาล ผู้ก่อตั้ง บริษัท พนาวารีไพศาล จำกัด หนุ่มสถาปัตย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จับพลัดจับผลูมาเป็นเจ้าของธุรกิจครีมบรรเทาอาการปวดเมื่อยแบรนด์ Botamed (โบทาเมด) ชายหนุ่มเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า ช่วงทำงานเป็นสถาปนิก รับงานค่อนข้างหนัก ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน ส่งผลให้เกิดอาการป่วย หัวใจเต้นผิดจังหวะ รักษาอยู่นานหลายเดือนจนต้องหยุดพักงาน เมื่อหายกลับมาเป็นปกติ ก็ไม่ได้กลับไปทำอาชีพเดิมเพราะกลัวว่าร่างกายจะทนไม่ไหว
โดยช่วงที่หยุดพักงาน คุณเจ๋งไม่ได้ปล่อยตัวเองให้ว่าง แต่ใช้เวลาว่างไปลงเรียนคอร์สธุรกิจ ศึกษาธรรมะ และฮวงจุ้ย จึงรู้ว่าเป็นคนธาตุไม้ ทำธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพรน่าจะรุ่ง เห็นว่ายาบรรเทาอาการปวดเมื่อยเป็นที่ต้องการของตลาด บวกกับเป็นคนชอบเดินทาง เจออาการปวดเมื่อยบ่อย จึงตัดสินใจทำธุรกิจนี้
“ช่วงแรกทำคนเดียว ได้ครอบครัวมาช่วยบ้าง นำเงินเก็บที่ได้จากอาชีพสถาปนิกมาลงทุน หานักวิจัยฝีมือดีมาช่วยทำ ซื้อสินค้าที่มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อยทุกยี่ห้อในตลาดมาทดลองใช้ ทั้งดังและไม่ดัง ศึกษาฉลากส่วนผสม ส่วนใหญ่แล้วใช้สมุนไพรคล้ายกัน ค้นหาสมุนไพรที่ช่วยอาการปวดจากกูเกิ้ล พบว่ามีหลายตัวมาก สุดท้ายเลือกมา 20 ชื่อที่เห็นว่าแปลก แล้วให้นักวิจัยนำมารวมกันเป็นสูตรยา”
หลังได้สมุนไพร นักวิจัย และสูตร ถึงขั้นตอนของการออกแบบ และผลิต คุณเจ๋ง บอกว่า ทางบริษัทได้จ้างผลิตแบบ OEM บอกความต้องการของตัวเองไปว่าอยากให้แบรนด์ออกมาในรูปแบบไหน ด้วยความเป็นคนยุคใหม่ และไม่อยากให้ลูกค้ามองว่าเป็นยาโบราณ จึงออกแบบให้ทันสมัย พกพาง่าย แถมดูไม่ออกว่านี่คือครีมแก้ปวดเมื่อย มี 3 ขนาดตั้งแต่ใหญ่ไปจนถึงหลอดจิ๋วขนาด 10 กรัม
เมื่อกระบวนการผลิตเสร็จสมบูรณ์ จดทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้านเรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาคือการทำตลาด นักธุรกิจหนุ่ม เล่าว่า สร้างฐานลูกค้าด้วยการแจกให้ทดลองใช้ฟรีเป็นพันหลอด โดยเริ่มจากญาติ และเพื่อน และขยายไปเรื่อยๆ หลายกลุ่ม จนเป็นที่รู้จักมีฐานลูกค้า เติบโตมาร่วม 2 ปีแล้ว
ส่วนเรื่องการทำตลาด ในประเทศไทยมีหลายยี่ห้อที่เป็นแบรนด์ดังครองตลาดอยู่แล้ว โบทาเมดจึงเลือกฉีกกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัย และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่รู้จักแบรนด์ผ่านโซเชียล
“ช่วงแรกที่ทำเข้าใจว่าตลาดของสินค้าคือนักกีฬา แต่จริงๆ แล้วเป็นผู้สูงอายุเสียส่วนใหญ่ และพนักงานออฟฟิศช่วง 35 เป็นต้นไป โบทาเมดได้รับความนิยมมาก หลายคนใช้ยี่ห้อเดิมๆ ในตลาดจนดื้อยา เมื่อเปลี่ยนมาใช้แบรนด์เราจึงทำให้เห็นผล”
ก่อนเล่าต่อว่า กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่มาก แต่ยังไม่ชำนาญเรื่องการสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ เช่น เห็นสินค้าจากโซเชียลอ่านแล้วสนใจ สรรพคุณน่าใช้ เมื่อถึงเวลาอยากสั่งซื้อแต่ทำไม่เป็น ต้องอาศัยลูกหลานมาช่วยสั่งให้ โบทาเมดจึงมีวัยรุ่นทักมาสั่งผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก
นอกจากฐานลูกค้าในไทย โบทาเมด ยังได้รับการคัดเลือกจากกรมการค้าต่างประเทศให้นำสินค้าไปวางจำหน่ายในโรงพยาบาลที่ สปป.ลาว และกำลังจะเข้าโรงพยาบาลเอกชนของไทยอีกด้วย ส่วนการส่งออกนั้น มีหลายประเทศติดต่อมาเหมือนกัน เช่น มาเลเซีย อินเดีย
“เคยไปออกบู๊ธที่อินเดีย สินค้าได้รับความสนใจมาก เพราะคนอินเดียคุ้นเคยกับสมุนไพรอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าสินค้าเรามีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบหลากหลาย เขาจึงเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าเรา”
ถามถึงความแตกต่างระหว่างสองอาชีพ สถาปนิกกับเจ้าของธุรกิจ คุณเจ๋ง บอกว่า ทำธุรกิจได้ค่าตอบแทนมากกว่า แต่มีความเสี่ยงสูง ส่วนสถาปนิกเป็นงานเฉพาะทางใช้เวลาการทำงานนานกว่าจะจบโปรเจ็กต์ สร้างบ้าน 1 หลังต้องอยู่กับงานไป 2 ปี ที่ไม่ต่างคือพื้นฐาน ทั้งสถาปนิกและทำธุรกิจคือต้องเข้าใจความต้องการของคน
ในอนาคต หากธุรกิจเติบโต ยอดขายเป็นไปตามที่หวัง ชายหนุ่ม ระบุว่า มีโอกาสที่จะเปลี่ยนการผลิตแบบ OEM มาเปิดโรงงานเล็กๆ ผลิตเอง รวมทั้งเพิ่มโปรดักต์สมุนไพรแปรรูปเป็นสกินแคร์
“ถ้าถามว่าธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จมั้ย ผมมองว่าสำเร็จในการเริ่มต้นธุรกิจ จากแรกๆ ที่ทำคนเดียว ปัจจุบันมีหุ้นส่วนเข้ามาช่วยดูครบทุกด้าน ส่วนเรื่องรายได้นั้นไต่ไปเรื่อยๆ”