ฟังเสียงพ่อค้า-แม่ขาย อยากได้นโยบายอะไร เป็น “วาระแห่งชาติ”

ฟังเสียงพ่อค้า-แม่ขาย อยากได้นโยบายอะไร เป็น “วาระแห่งชาติ”
ฟังเสียงพ่อค้า-แม่ขาย อยากได้นโยบายอะไร เป็น “วาระแห่งชาติ”

ฟังเสียงพ่อค้า-แม่ขาย อยากได้นโยบายอะไร เป็น “วาระแห่งชาติ”

 คุณจ่อย อายุ 70 ปี แม่ค้าขายขนมโดนัท บริเวณห้างฯ  Center one ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ

“อยากให้มีการจัดพื้นที่ให้ร้านค้าริมทางสามารถขายของได้อย่างอิสระ เพราะปัจจุบันมีการกวดขันจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถขายของริมทางได้ โดยเฉพาะบริเวณที่คนเยอะๆ”

คุณสวัสดิ์ แก้วกาญจนะ อายุ 66 ปี พ่อค้าขายขนมกุยช่าย หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

“ต้องการนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของผู้สูงอายุ เพราะถ้าสังเกตแล้วส่วนใหญ่คนค้าขายที่เป็นผู้สูงอายุ มักได้ผลประกอบการไม่ดี เนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ อายุ ทำให้ได้รับการดูแลอย่างไม่ทั่วถึง”

คุณสมวงษ์ กรเพ็ชร อายุ 59 ปี พ่อค้าขายขนมเค้ก ตลาดอมรพันธุ์

“ไม่ได้ต้องการนโนบายอะไรเป็นพิเศษ เพราะไม่ว่าจะมีการปกครองกี่ยุคสมัยเศรษฐกิจก็ไม่ต่างจากเดิม เลิกคาดหวัง หันมาให้ความสำคัญกับการค้าขายเพื่อความอยู่รอดของตัวเองดีกว่า”

 คุณรชรินทร์ ธิปัตย์ อายุ 25 ปี เจ้าของร้านขายรองเท้ามือสอง บริเวณหน้าวัดพระศรีฯ บางเขน

“ไม่ได้ต้องการนโยบายและเลิกคาดหวังแล้ว เพราะนโยบายช่วยพ่อค้าแม่ค้า ไม่ว่าจะผ่านรัฐบาลกี่ยุคสมัยก็เกิดความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจไม่ดีเหมือนเดิม”

คุณไพโรจน์ เรวัตโต อายุ 67 ปี เจ้าของร้านขายของชำ ย่านจตุจักร

“อยากให้มีนโยบายลดความสำคัญของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และหันมาช่วยกระจายรายได้ให้กับร้านค้าขนาดเล็ก เพราะปัจจุบันรัฐบาลเน้นผูกขาดกับบริษัทขนาดใหญ่ เจ้าของร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดัง ทำให้ร้านค้าขนาดเล็กเกิดภาวะขาดรายได้ คนหันไปใช้บริการร้านขนาดใหญ่กันหมด”

คุณลำไย คุ้มสวัสดิ์ อายุ 58 ปี แม่ค้าขายกล้วยฉาบ ย่านลาดพร้าว

“อยากให้มีนโยบายที่ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ถ้าประชาชนกลับมาอยู่ดีกินดี แม่ค้าก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนตัวแล้วชอบ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะ ค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้งแสนจะแพง หากมีนโยบาย 30 บาท จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ให้สามารถนำไปใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ได้”

คุณสงกรานต์ พิณสีดา อายุ 65 ปี พ่อค้าขายชุดนอน บริเวณหน้าห้างฯ ดัง ย่านลาดพร้าว

“ก่อนหน้านี้เคยทำนามาก่อน แต่ประสบปัญหาขายข้าวไม่ได้ เกิดหนี้สินล้นตัว จึงอยากให้มีการส่งเสริมชาวนาและเกษตรกร ให้มีรายได้ ไม่ขาดทุน ปลดหนี้สิน จะได้กลับไปทำนาเหมือนเดิม”

คุณชูชาติ ตุ่นคำ อายุ 60 ปี พ่อค้าขายขนมปังนึ่ง ย่านลาดพร้าว

“อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ สนับสนุนธุรกิจสตรีตฟู้ดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายตามข้างถนนมากยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้ขายไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน จากหลักพันต่อวัน ตอนนี้บางวันได้แค่สามสี่ร้อย”

คุณรัชนีย์ เอิบอิ่ม อายุ 35 ปี แม่ค้าขายเครื่องประดับ ย่านเอกมัย

“อยากให้มีการลดค่าครองชีพ เพราะค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนสูงกว่ารายรับที่ได้มา เงินมีไม่พอเก็บ มีเพียงประทังชีวิตไปเป็นเดือนๆ เท่านั้น”

คุณเบญญา โสรส อายุ 20 ปี แม่ค้าขายเสื้อผ้า ย่านลาดกระบัง

“อยากให้มีการส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น โดยอาจมีเงินทุนสนับสนุน หรือมีการจัดอบรมเกี่ยวกับการทำธุรกิจให้กับนิสิต นักศึกษา นอกจากนี้ ยังอยากให้มีการสนับสนุนสินค้าแบรนด์ไทย ส่งเสริมธุรกิจคนไทยให้เข้มแข็ง ทัดเทียมแบรนด์โลก

คุณพรทิพย์ จันทร์แจ่มศรี อายุ 55 ปี แม่ค้าขายลูกชิ้นทอด บริเวณเกาะดินแดง อนุสาวรีย์ชัยฯ

“ต้องการให้มีคิวรถตู้ทุกสายที่อนุสาวรีย์ชัยฯเช่นเดิม เพราะปัจจุบันบริเวณเกาะดินแดงนี้มีเพียงคิวรถตู้ไปมีนบุรีเท่านั้น หลังจากที่มีการจัดระเบียบทำให้ผู้คนที่สัญจรไปมาลดน้อยลง ค้าขายไม่ดีเท่าเมื่อก่อน และอยากให้มีอิสระทางพื้นที่ทำกิน ให้ค้าขายบนทางเท้าได้เหมือนแต่ก่อน”

 คุณสมจิตร เทียนเสม อายุ 70 ปี แม่ค้าขายชุดผ้าไทย บริเวณเกาะพญาไท

“อยากให้มีนโยบายช่วยเหลือด้านการทำมาค้าขาย ที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและค้าขายดีเหมือนแต่ก่อน ทั้งอยากให้มีนโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายของคนหาเช้ากินค่ำลง เข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

คุณนงนารถ ทระโธ อายุ 67 ปี แม่ค้าขายพวงมาลัยและดอกไม้ เขตราชวิถี

“ค้าขายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เมื่อก่อนขายดีกว่าปัจจุบันมาก อยากให้ทางรัฐมีนโยบายคืนพื้นที่ทำกินให้สามารถค้าขายบนทางเท้าได้เหมือนเดิม ไม่ต้องคอยหลบหนีเทศกิจ เพราะเมื่อก่อนเราเคยขายได้ที่ตรงนี้ พอมีการจัดระเบียบใหม่เราก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน เพราะอยู่ตรงนี้มานานมากแล้ว เราเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ถ้าหนีไม่ทันก็โดนจับ ต้องเสียค่าปรับ 3,000 บาท”

คุณบุญรส พันธนาม อายุ 30 ปี พ่อค้าขายไส้กรอกย่าง ย่านเกษตร

“ไม่มีความคิดเห็นใดต่อนโยบายต่าง ๆ เพราะคิดว่าไม่ว่าจะเป็นใครเข้ามาบริหารประเทศ การค้าขายก็คงจะเหมือนเดิม หรืออาจจะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่แตกต่างจากเดิม”