มรดกตกทอดหลายร้อยปี “นวดไทย” เสริมสมรรถนะนักกีฬาและคนรักการออกกำลังกาย

มรดกตกทอดหลายร้อยปี  “นวดไทย” เสริมสมรรถนะนักกีฬาและคนรักการออกกำลังกาย

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้หยิบยกข้อมูลจากส่วนงานการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ระบุว่า  ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้านการแพทย์แผนไทย เนื่องจากการบาดเจ็บหลังออกกำลังกาย และฟื้นฟูอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน เนื่องจากประชาชน รักการออกกำลังกายมากขึ้น  จากการศึกษาพบว่า การนวดไทย เป็นศาสตร์อีกแขนงที่สามารถใช้บรรเทาและรักษาอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อได้  และประกอบกับภูมิปัญญานวดไทยที่มีการถ่ายทอดมาหลายศตวรรษ เป็นมรดกทางการแพทย์ที่จะนำสู่การประกาศเป็นมรดกของมนุษยชาติของยูเนสโก (UNESCO) จึงเห็นว่าน่าจะนำมาปรับใช้ในงานครั้งนี้  โดยการนวดไทย ยึดถือโครงสร้างตามแนวเส้นประธาน 10 ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการนวดสปอร์ต การนวดสวีดิช รวมถึงการทำกายภาพ เพื่อประโยชน์กับนักกีฬา ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย และช่วยบรรเทาความเครียด ความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการออกกำลังกาย หรือกรณีการบาดเจ็บเล็กน้อยจากการออกแรงมากเกินไปได้

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ที่ใช้การนวดไทยประกอบได้ดังนี้  1. นวดก่อนการแข่งขัน หรือ การนวดไทยก่อนเริ่มเล่นกีฬา การนวดในระยะนี้ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของธาตุลมและธาตุไฟ เน้นการยืดเหยียด และนวดแบบกระตุ้นจะนวดก่อนการแข่งขัน 1 วัน หรือภายใน 4 ชั่วโมงก่อนการแข่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อตื่นตัว และพร้อมรับการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งช่วยส่งเลือด สารอาหารที่จำเป็นไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ช่วยให้ระบบกล้ามเนื้อ และระบบประสาททำงานประสานกันได้ดี  2. นวดระหว่างการแข่งขัน  เป็นการช่วยให้ธาตุลมไหลเวียนสม่ำเสมอ เน้นการนวดกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ นวดระยะเวลาสั้นและเร็ว เพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้  3. การนวดหลังการแข่งขัน เป็นการนวดที่พบมากที่สุด การนวดไทยในระยะนี้ จะช่วยกระจายลมและทำให้ธาตุลมสงบ เน้นการนวดลงน้ำมัน เช่น น้ำมันไพล หรือ น้ำมันกระดูกไก่ดำ ที่มีฤทธิ์บรรเทาปวดลดการอักเสบ จากนั้นใช้การ ประคบร้อนร่วมด้วยเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ใช้การนวดแบบระยะยาวและนวดอย่างช้าๆ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย ขับของเสียตามระบบไหลเวียนน้ำเหลืองภายในร่างกาย และช่วยรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาได้

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากการนวดไทยที่ช่วยบรรเทาอาการปวดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อได้อย่างดีแล้วยังมีสมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีฤทธิ์ลดปวด บรรเทาอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อได้ เช่น พริก ล่าสุดได้พัฒนาเป็นเอ็นแคปซินครีม ทาวันละครั้งลดอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ กระดูกไก่ดำ หรือ มัสคูลย์สเปรย์ และ เถาวัลย์เปรียงแคปซูลบรรเทาการอักเสบกล้ามเนื้อได้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน

ท่านที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร โทรศัพท์ (037) 216-164 และเฟซบุ๊กสมุนไพรอภัยภูเบศร  หรือร่วมปรึกษาสุขภาพ และไปพบกันได้ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 6-10 มี.ค. นี้ ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 10-12