“ปลาเค็มฝังทราย-ถุงผ้ามัดย้อม-โฮมสเตย์” อาชีพเสริมทำเงิน ของชาวประมงบ้านเกาะพิทักษ์ จ.ชุมพร

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” มีโอกาสลงใต้ ไปเที่ยวที่ ชุมพร หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “ชุมชนเกาะพิทักษ์” ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร โดยหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเวิ้งทะเล ฝั่งตะวันตก มี “ผู้ใหญ่หรั่ง” หรือ คุณอำพล ธานีครุฑ ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านเกาะพิทักษ์ ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

“ผู้ใหญ่หรั่ง” หรือ คุณอำพล ธานีครุฑ ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านเกาะพิทักษ์

เขาเล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านที่เกาะแห่งนี้ ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก มีการนำสัตว์น้ำต่างๆที่จับได้ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา มาแปรรูปเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เพื่อทำกินเองและทำขาย ทั้ง กะปิ ปลาเค็มฝังทราย ปลาหวาน กุ้งแห้ง หมึกแห้ง รายได้จึงพอมีกินมีใช้เล็กน้อย

ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มีโครงการแผนพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของทางชุมชน มีการสอนองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งหลักการขาย ไอเดียในการทำสินค้าให้แตกต่างจากของที่อื่นทั่วไป มีการส่งเสริมให้ทำการตลาดแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางขายและแหล่งรายได้ อีกทั้งสอนการทำสื่อ ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยียนมากขึ้น

คุณผึ้ง – ภัสรา แก้วประสงค์ ประธานกลุ่มแปรรูปอาหารจากสัตว์น้ำ รูปโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

คุณผึ้ง – ภัสรา แก้วประสงค์ ประธานกลุ่มแปรรูปอาหารจากสัตว์น้ำ หมู่บ้านเกาะพิทักษ์ วัย 32 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆที่หมู่บ้าน มีการนำสัตว์ทะเลที่จับได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว โดยของขึ้นชื่อของหมู่บ้านเกาะพิทักษ์ มีหลากหลาย ทั้ง ปลาเค็มฝังทราย ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ใช้ในการถนอมอาหารให้ทานได้นานขึ้น กะปิที่มีทั้งทำจากเคยและกุ้งฝอย ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ

แต่การออกแบบผลิตภัณฑ์และเรื่องราวของสินค้าที่จะเป็นจุดขาย ไม่ได้ใส่ใจเท่าไหร่นัก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านยังไม่มีความแตกต่างจากที่อื่นเท่าไหร่ หลังจากที่ได้เรียนรู้กับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ให้องค์ความรู้และสอนการตลาดต่างๆ

ผลิตภัณฑ์แปรรูปของทางกลุ่ม รูปโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

ชาวบ้านจึงสามารถสร้างเรื่องราวเข้าไปในสินค้าของตัวเอง ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความต่างได้ อย่างสัตว์น้ำจำพวกปลา จับมาได้ก็นำไปทำเป็นน้ำปลา จากนั้นก็มีการต่อยอดจากวัตถุดิบเดียวกันไปเป็นน้ำพริกและกะปิ ซึ่งกะปิของที่หมู่บ้านเกาะพิทักษ์ เป็นผลิตภัณฑ์พิเศษ คือ ทำออกมาวางขายเฉพาะเดือนมีนาคม ถึงตุลาคม เท่านั้น

ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าออนไลน์ โดยเขาจะเป็นคนที่เคยมาท่องเที่ยวที่หมู่บ้านและได้มาลองชิมแล้วติดใจ จึงมาสั่งซื้อทางออนไลน์ซ้ำ ซึ่งรายได้จากการขายกะปิได้ราวๆ 2 แสนบาทต่อปี ส่วนน้ำพริกสร้างรายได้ให้ชุมชนประมาณ หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท ส่วนปลาเค็มฝังทราย อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ มีรายได้ในการขายไม่แน่นอน เพราะปลาที่ชาวบ้านหาจับมาได้ มีหลายขนาดจึงทำให้ราคาจำหน่ายต่างกัน

คุณผา – อารีรัตน์ ซ่านฮู่ ประธานกลุ่มผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้เคี้ยม รูปโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

คุณผา – อารีรัตน์ ซ่านฮู่ วัย 52 ปี ประธานกลุ่มผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้เคี่ยม หมู่บ้านเกาะพิทักษ์ เผยว่า “คนในกลุ่มส่วนใหญ่ก็ประกอบอาชีพหาปลา เป็นแม่บ้านกัน พอมีเวลาว่างก็มาย้อมผ้าขาย แต่ผ้ามัดย้อมที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน จึงไปขอคำปรึกษาครูสอนอาชีพของทางกรมอุตสาหกรรม ว่าลองทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นดูไหม ทางกลุ่มจึงนำผ้ามัดย้อมธรรมดา มาต่อยอดเป็น “ถุงผ้ามัดย้อม” จุดเด่นอยู่ที่การนำโคลนทะเลมาหมักผ้า ซึ่งโคลนทะเลของหมู่บ้านเรา ได้รับการดูแลจากกรมบำบัดน้ำ ทำให้ได้โคลนเป็นโคลนจากธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่มีมลพิษปนเปื้อน เมื่อนำมาหมักกับผ้าก็จะได้ผ้าที่มีคุณภาพดีกว่าที่อื่นๆ ได้ใช้ของจากธรรมชาติอย่างแท้จริง ถือว่าสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชนค่อนข้างดีเลยทีเดียว และในอนาคตก็มีแผนจะต่อยอดทำเป็นพวงกุญแจและกระเป๋าใส่โน้ตบุ๊กต่อไป”

ผ้ามัดย้อม รูปโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

 

กระเป๋าผ้ามัดย้อม รูปโดย พัชรพร องค์สรณะคมกุล

นอกจากผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์น้ำ อย่าง กะปิและปลาเค็มฝังทราย อีกทั้งผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้เคี่ยมและถุงผ้ามัดย้อม ที่เป็นรายได้อีกช่องทางของชาวบ้านแล้ว ที่เกาะแห่งนี้ ยังเปิดเป็น “โฮมสเตย์” ให้นักท่องเที่ยวได้ใช้บริการกันอีกด้วย

“หมู่บ้านเกาะพิทักษ์ของเรา ปีๆหนึ่งต้อนรับนักท่องเที่ยวหลายแสนคน มีทั้งแบบมาเที่ยวเฉยๆ แล้วก็ซื้อของจากชุมชนกลับไป ก็มีราวๆ แสนคน แบ่งเป็นคนไทย 80% นักท่องเที่ยวต่างชาติ 20% อีกส่วนก็มาเข้าพักที่เกาะราวๆ ห้าหมื่นสองพันกว่าคน ก็ถือว่าน้อยกว่ามาเที่ยวเท่าตัว ส่วนใหญ่คนที่มาพักจะเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวยุโรป มาอยู่ทีหนึ่งก็ราวๆ 7-15 วัน ส่วนคนไทยก็มาแค่ 2-3 วันก็กลับไปทำงานแล้ว ทางเราก็ไม่ได้รับเข้ามาทุกเชื้อชาตินะ มีการสกรีนก่อนว่ารวยไหม ถ้าไม่รวยเราไม่รับ เพราะกลุ่มคนพวกนี้เขาจะมีมารยาทมาก เมื่อมาเที่ยวก็มาเที่ยวเพื่อพักผ่อนจริงๆ มาสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านจริงๆ แต่เราก็คิดราคาให้เท่ากับที่คนไทยมาพักนั่นแหละ เพราะทางเราก็อยากได้เพื่อน การทำการท่องเที่ยวแบบนี้ ถ้าจะทำให้ดีต้องทำแบบเครือญาติ ที่เมื่อคิดถึงกันก็มาหากันบ่อยๆ นั่นคือสูตรสำเร็จล่ะ” ผู้ใหญ่หรั่ง กล่าว

โฮมสเตย์ของหมู่บ้านเกาะพิทักษ์ เป็นที่พักแบบเรียบง่าย สะอาด และมีความเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้านญาติพี่น้อง โฮมสเตย์ที่นี่มีทั้งหมด 23 หลัง มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวเลือกทำหลากหลายตามความสนใจ ทั้งกิจกรรมตกหมึก, ดำน้ำดูปะการัง, เดินศึกษาดูธรรมชาติ และกิจกรรมเจาะหอย มีในช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม หรืออยากชมทะเลแหวก (น้ำขึ้น – น้ำลง) ในเดือน มีนาคม-กันยายน, ชมโลมาสีชมพูได้เฉพาะเดือนมกราคม – กรกฎาคม และประเพณีวิ่งทะเลแหวก ที่มีในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว

อัตราค่าบริการโฮมสเตย์มีอยู่ 2 ราคา ได้แก่ ราคาวีไอพี อยู่ที่คนละ 900 บาท ต่อ 1 คืน ราคาธรรมดา คนละ 800 บาท ต่อ 1 คืน หากสนใจ สามารถสอบถามรายละเอียด ได้ที่เบอร์ผู้ใหญ่หรั่ง (081) 093-1443