แม่ฮ่องสอน-ยากจนเรื้อรัง สสว. จับมือส่วนราชการในพื้นที่ เร่งยกระดับคุณภาพขีวิตทุกมิติ

แม่ฮ่องสอน-ยากจนเรื้อรัง สสว. จับมือส่วนราชการในพื้นที่ เร่งยกระดับคุณภาพขีวิตทุกมิติ  

 เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน  มีพิธีแถลงข่าวการจัดทำโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี คุณสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับผู้บริหารส่วนราชการในพื้นที่ พร้อมกับการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการดำเนินงานภายใต้โครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน”

 คุณสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เกียรติร่วมงานแถลงข่าวโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ศูนย์ศิลปาชีพ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นตามข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในคราวเดินทางมาตรวจราชการ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา  โดยโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปีงบประมาณ 2562 เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารโครงการและสนับสนุนงบประมาณ ทั้งนี้คาดว่าเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ จะทำให้มีต้นแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ดียิ่งขึ้น

“โครงการนี้ จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายโดยเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ นำมาซึ่งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อดำเนินโครงการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง”ผู้ว่าฯแม่ฮ่องอสน กล่าว

ด้านสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ความยากจนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ได้ใช้เส้นความยากจนสะท้อนมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำของสังคม โดยคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเฉลี่ยของปัจเจกบุคคลในระดับครัวเรือน พบว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง รวมถึงจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ในปีงบประมาณ 2562 สสว. จึงได้มีการจัดทำโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนจากการสร้างงาน สร้างรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนสามารถอยู่และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยสามารถพัฒนาให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล สมดุล และยั่งยืน

ผอ. สสว. เผยว่า สำหรับ กิจกรรมต่างๆ ในโครงการต้นแบบฯ ทั้งหมด 6 กิจกรรม ได้แก่

กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมส่งเสริมต้นแบบการรวมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อการปลูกบุก ผสมผสานพืชอื่นโดยการนำงานวิจัยมาใช้แบบครบวงจร แก่สมาชิกโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดำริฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรในเครือข่ายได้รับการส่งเสริมให้นำงานวิจัยมาใช้เพื่อยกระดับผลผลิต ไม่น้อยกว่าจำนวน 300 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำกับและติดตามโดยส่วนโครงการพระราชดำริ และกิจการพิเศษฯ ประจำศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) กรมป่าไม้

 กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมพัฒนายกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่ากลุ่มโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามพระราชดำริฯ เพื่อให้สมาชิกในโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ได้รับการจ้างงาน ไม่น้อยกว่า 15 ครัวเรือน และมีช่องทางประจำในการขายผลผลิตไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำกับและติดตามโดยส่วนโครงการพระราชดำริ และกิจการพิเศษฯ ประจำศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) กรมป่าไม้

 กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมเพิ่มศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจกาแฟ บ้านแม่เหาะ จำนวน 25 ครัวเรือน และเครือข่าย 11 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจกาแฟ บ้านสบป่อง จำนวน 25 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจกระเทียม บ้านนาปลาจาด จำนวน 25 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจข้าว บ้านปางหมู จำนวน 128 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กำกับและติดตามโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมยกระดับการนำผลผลิตจากวนเกษตร (ไผ่) มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ มีสมาชิกกลุ่มอย่างน้อย 11 ครัวเรือน 11 ผลิตภัณฑ์ ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำกับและติดตามโดย สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมเพิ่มศักยภาพกลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน / กลุ่มผลิตภัณฑ์จากแกะ ตามแนวพระราชดำริ โดยแบ่งเป็น กลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน ด้วยการจัดอบรม ฝึกปฏิบัติ สร้างเครือข่าย รวมถึงการพัฒนายกระดับฟาร์มไก่แม่ฮ่องสอนตัวอย่างสู่มาตรฐานระบบป้องกันโรค GFM ให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นสมาชิกของสำนักงานปศุสัตว์ จำนวน 39 ครัวเรือน ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กำกับและติดตามโดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแกะ ดำเนินการโดยการให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติจริงในการผลิตผลิตภัณฑ์จากแกะให้มีคุณภาพ สำหรับกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากแกะของศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ จำนวน 20 ครัวเรือน ดำเนินงานโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กำกับและติดตามโดยศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน

 กิจกรรมที่ 6 กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมจัดทำสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยจะได้จัดอบรมเผยแพร่องค์ความรู้ สำหรับยกระดับการผลิตสินค้าหรือบริการ ให้เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวโดยใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่สมาชิกศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 350 ราย ครอบคลุม 7 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินงานโดย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กำกับและติดตามโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“ สสว. คาดหวังว่าโครงการนี้จะสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้มีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ในอนาคต” คุณสุวรรณชัย กล่าวในที่สุด