นับถือใจคุณยาย! นั่งรถไฟขึ้นล่อง นครสวรรค์-กรุงเทพฯ ตั้งแผงขายของ ไม่มีวันหยุด

นับถือใจคุณยาย! นั่งรถไฟขึ้นล่อง นครสวรรค์-กรุงเทพฯ ตั้งแผงขายของ ไม่มีวันหยุด

ได้ข้อมูลแนะนำจากแหล่งข่าวท่านหนึ่ง อยากให้ “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ไปพูดคุยกับแม่ค้าวัยเกือบแปดสิบ ที่ยังกระฉับกระเฉงมีเรี่ยวแรงมาตั้งแผงขายของแถวซอยอารีย์ ริมถนนพหลโยธินขาออก

ก่อนสิบเอ็ดโมงวันก่อน จึงไปตามเบาะแสที่แจ้งมา เดินวนมองหาอยู่หลายเที่ยว ยังไม่เห็นวี่แวว เลยเปิดภาพในไลน์กลุ่มให้พ่อค้ารถเข็นขายผลไม้ในละแวกดู ก่อนถามไถ่… รู้จักคุณยายคนนี้มั้ย

“รู้สิ ขายของอยู่แถวนี้แหละ แต่ยังมาไม่ถึง….เอ๊า นั่นไง นั่นไงมาแล้ว แหมมม! ยายนี่มีแฟนคลับมาตามหาด้วยนะ” คู่สนทนาท่านเดิม ให้ข้อมูลด้วยน้ำเสียงร่าเริง

มองตามรถตุ๊กๆ ที่คุณยายโดยสารมา คะเนด้วยสายตาคร่าวๆ บรรดาสัมภาระ ซึ่งประกอบด้วย พืชผัก ผลไม้ ถุงใหญ่หลายถุง น้ำหนักรวมๆ กันแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 100 กิโล

ใช้เวลาขนของลงจากรถ ตั้งเก้าอี้ วางกระจาด จัดสินค้าบนแผงอยู่พักใหญ่ โดยมีพ่อค้าแม่ขายร้านค้าใกล้ๆกัน มาช่วยจัดอีกแรง นั่งพักแหนื่อยอยู่ครู่หนึ่ง คุณยาย จึงสละเวลามาให้ข้อมูลด้วยสีหน้ายิ้มแย้มใจดี

“ชื่อ จำปี นามสกุลตัว-บุญรักษา นามสกุลแฟน-เปรมปรีดิ์ ปัจจุบัน อายุ 78 ปี พื้นเพเป็นคนตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จ้า” คุณยาย แนะนำตัวเป็นทางการ

ก่อนย้อนประวัติให้รู้จักกันมากขึ้น สามีของคุณยายจำปี ทำงานการรถไฟฯ เป็นพนักงานทำทาง แต่เสียชีวิตไปนานแล้วตั้งแต่อายุได้เพียง 50 กว่าๆ ส่วนลูกเต้านั้นมีด้วยกัน 4 คน ปัจจุบันเหลืออยู่ 2 คนเป็นชาย-หญิง ลูกชายคนโตกับคนเล็กเสียชีวิตแล้ว

ส่วนตัวคุณยายจำปีเอง ก่อนหน้านี้  เคยทำงานโรงงาน รับจ้างทั่วไป สมัยสาวๆ ช่วงหน้า “มะขามเทศ” หน้า “มะม่วง” จะรับซื้อผลไม้ตามฤดูจากชาวสวนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ แล้วนำมาขายส่งที่ปากคลองตลาด ครั้งหนึ่ง 500 กิโลบ้าง 1,000 กิโลบ้าง แต่พออายุมากขึ้นทำไม่ไหว เลยหันมาเป็นแม่ค้าหาบเร่

“เป็นแม่ค้าได้ 30 กว่าปีแล้ว เมื่อก่อนไม่ได้นั่งขายแบบนี้  อาศัยหาบเอา เร่ไปเรื่อยแถวสะพานควายบ้าง ซอยอารีย์บ้าง  เมื่อก่อนยังไม่มีเทศกิจ เหนื่อยก็นั่งขายแถวฟุตปาธ พอมีเทศกิจเขาก็ไล่ แลยขยับมานั่งขายด้านในนี้” คุณยายจำปี ย้อนความทรงจำ ให้ฟังอย่างนั้น

นึกสงสัยบ้านอยู่ตั้งนครสวรรค์ ทำไมมาขายไกลถึงกรุงเทพฯ คุณยายหันมองหน้าคล้ายจะบอกว่าไม่น่าถาม ก่อนตอบยิ้มๆ

“แถวบ้านเขามี มะขามเทศ มะละกอ มะม่วง กระถิน กันเยอะแยะแล้ว จะไปขายให้ใครหล่ะ รับมาขายกรุงเทพฯ ดีกว่า”

 

สังเกตไปบนแผงขายพบสินค้าหลากหลาย เช่น  ถั่วต้ม มันต้ม ละมุด มะละกอ มะขามเทศ สะเดา น้ำพริกปลาร้า ปลาจ่อม มะเขือตอแหล ฯลฯ เลยถามไถ่ถึงที่มา คุณยายจำปี บอก ส่วนใหญ่รับมาจากชาวบ้าน-ชาวสวนในละแวกบ้าน  อย่าง มะละกอฮอลแลนด์  เจ้านี้ปลูกไว้ 100 กว่าต้น เก็บได้ทุกวัน วันละ 2-3 ตะกร้า เขาเอามาส่งให้ ส่วนพืชผักที่ปลูกเองไม่มี เพราะปลูกเท่าไหร่ตายหมด ไม่มีใครรดน้ำ เพราะต้องออกมาขายของทุกวัน

ชวนคุยต่อถึงภารกิจประจำวัน คุณยายจำปี บอกว่า ตื่นนอนตอนตีห้าเพื่อไปให้ทันขึ้นรถไฟ ที่สถานีช่องแค ตอน 6 โมงเช้า โดยมีลูกๆ มาส่งและช่วยทยอยของขึ้นรถ พอส่งเสร็จเขาค่อยกลับไปทำงานตามปกติ ส่วนของที่ขนมาขายนั้นถามว่ารวมแล้วหนักกี่กิโล ไม่รู้เพราะไม่เคยชั่ง แต่เฉพาะมะขามเทศ รับมาครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50 กิโล

“ค่าตั๋วรถไฟขามา 36 บาท ค่าระวางของ 20 บาท  ถึงกรุงเทพฯ 10 โมงกว่า ลงสถานีบางซื่อ เรียกตุ๊กๆ มาซอยอารีย์ 80 บาท มีขาประจำหลายคัน เขาช่วยขนของขึ้นลง ตั้งแผงกว่าจะเสร็จ 11 โมง ขายไปถึง 2 ทุ่ม เก็บแผง ไปขึ้นรถเร็วที่สถานีสามเสน เสียค่าตั๋ว 86 บาท ไปถึงบ้านเที่ยงคืน บางวันรถเสียเวลา ถึงบ้านตี 1”

“ขากลับเลือกนั่งรถเร็วและขึ้นที่สถานีสามเสน เพราะตู้ยังว่าง เวลาง่วงนอนได้ ลูกจะให้นอนไปเลย 3 ทุ่มเขาจะโทรมา แม่…3 ทุ่มแล้วนะ และขากลับถ้าของเหลือเล็กๆ น้อยๆ ไม่ขนกลับเอาแอบๆ ไว้ในซอยนี่แหละ ไม่มีใครมายุ่งหรอก เมื่อวานก็ขายหมดเหลือแต่สะเดา” คุณยายจำปี เล่าเป็นฉากๆ

ก่อนเล่าให้ฟังด้วยว่า ตามปกติกลับถึงบ้านเที่ยงคืน ลูกจะมารับ กว่าจะได้หลับราวตี 1 พอตี 5 ต้องตื่นอีกแล้ว

ถามว่าไม่ง่วงบ้างหรือ คุณยายจำปี บอก ก็ง่วงนะ บางครั้งอยากหยุด แต่หยุดไม่ได้ เพราะของสั่งไว้ไปรออยู่ตรงสถานีรถไฟแล้ว หยุดไม่ได้ สงสารเขา ถ้าไม่ซื้อเขา เขาคงขาดรายได้ ไม่มีเงินจะซื้ออะไรกินกัน

กระซิบถาม วันๆ ขายของได้กำไรเยอะมั้ย คุณยายจำปี บอก พอได้ ลงทุนวันละประมาณ 3,000 กว่าบาท กำไรรวมแล้วตกวันละ 1,000 กว่าบาท แต่ถ้าแยกเป็นอย่างๆ กำไรต่อถุงไม่มากมายอะไร  อย่างถั่วต้ม ขายถุงละ 20 ได้กำไรถุงละ 5 บาท ต้องขายให้ได้ 20 ถุง ถึงจะมีกำไร 100 บาท

เมื่อถามถึงวันหยุดพักผ่อน คุณยายจำปี บอก ขายทุกวันไม่มีวันหยุด  เว้นแต่จำเป็นจริงๆ อย่าง หมอนัด 3 เดือนครั้ง เพราะมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน แต่คุณหมอชม คุมได้เก่งมาก ไม่มีอะไรน่าห่วง

ทึ่งอึ้งกับความขยันขันแข็งของคุณยาย เลยถามไป ไม่เหนื่อยบ้างหรือ คุณยายจำปี บอก

“เหนื่อยเหมือนกัน แต่มีคนช่วย อย่างของที่จะรับมาขาย ให้เขาไปส่งไว้ที่สถานีฯ ตอนขนขึ้นรถไฟให้ลูกช่วย ถึงกรุงเทพฯ ตอนตั้งแผงก็มีคนช่วย  แต่ถ้าเหนื่อย จะนั่งพักหายใจยาวๆ แล้วค่อยขายของต่อ”

ถามตรงๆ เคยท้อมั้ย คุณยายจำปี ตอบทันที ไม่ท้อ ถ้าได้มาขายของอย่างนี้ไม่ท้อ แต่พอไปเป็นลูกจ้าง

ไม่ค่อยชอบ สมัยก่อน เคยไปรับจ้างเกี่ยวถั่ว เกี่ยวข้าว ไม่ค่อยชอบให้มีคนมาสั่ง แต่เป็นแม่ค้าขายของ ลูกห้ามก็ยังไม่ฟัง อยากมาขายทุกวัน

“ก่อนหน้านี้ เคยขาหัก ต้องหยุดไปปีครึ่ง พอค่อยยังชั่วไปสั่งของมาขายใหม่ ลูกเอาไปคืนเขาหมด เราไม่ยอม เคยมีคนถามแล้วจะหยุดขายเมื่อไหร่ ยังบอกไม่ได้ แต่ตอนนี้ยัง” คุณยายจำปี บอกหนักแน่น

เป็นแม่ค้ามาหลายสิบปี คงพบเจอลูกค้าหลากหลาย เรื่องนี้ คุณยายจำปี  เล่าถึงประสบการณ์ “ฝังใจ”ครั้งหนึ่งให้ฟัง

“ตอนนั้นขายมะม่วงเขียวเสวย กิโลละ 40 บาท  ลูกค้าผู้หญิงคนหนึ่งน่าจะเป็นคนทำงานในละแวก เขาเลือกอยู่นาน ชั่งแล้วได้ 7 ขีด ก็ส่งแบงก์ 100 มา ความจริงต้องทอน 72 บาท  แต่เราทอนไป 70 บาท ขาด 2 บาท เพราะไม่มีเศษเหรียญ เราบอกว่า หนูขอยายได้มั้ย 2 บาท ยายไม่มีจริงๆ เขาโมโหใหญ่ บอก เอาตังค์คืนมา เราก็คืนแบงก์ 100 ให้เขาไป ตั้งแต่วันนั้นเขาไม่มาซื้ออีกเลย แต่เห็นบ้างเดินมาเมียงมอง เราเองก็จะไม่ขายของให้ลูกค้าคนนี้อีกต่อไป เงิน 2 บาททำไมให้กันไม่ได้ เราเองยังลดให้ลูกค้าได้เลย รู้สึกน้อยใจเหมือนกัน”

ก่อนจาก ขอให้ฝากไปยังผู้คนที่อาจกำลังท้อแท้ในชีวิตการทำมาหากิน คุณยายจำปี บอกสั้นๆ

“ไปท้อแท้ทำไม ทำไปเรื่อยๆ ถ้ายากนักก็สวดมนต์บ้าง”