หนุ่มกะเหรี่ยงตาบอด สู้ไม่ท้อ ตั้งโรงงานผลิตเนยถั่วคุณภาพ ทำส่งขายเทสโก้ โลตัส

หนุ่มกะเหรี่ยงตาบอด สู้ไม่ท้อ ตั้งโรงงานผลิตเนยถั่วคุณภาพ ทำส่งขายห้างใหญ่มีสาขาทั่วประเทศ อย่าง เทสโก้ โลตัส

พอลร์ ผู้พิชิตไพร ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง วัย 40 กว่า พิการตาบอดสนิททั้งสองข้าง ที่ความมืดมัวไม่สามารถทำร้ายเขาได้ ต่อสู้จนวันนี้มีโรงงานขนาดย่อมผลิตเนยถั่ว น้ำมัน และผลิตภัณฑ์จากงา จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ พอลร์ ฟู้ด ที่สำคัญ ยังเป็นพาร์ตเนอร์ผลิตเนยถั่วส่งขายห้างยักษ์ใหญ่อย่าง เทสโก้ โลตัส

“ย้อนไปเมื่อปี 2541 ขณะศึกษาปริญญาตรีด้านบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม ตาของผมค่อยๆ พร่ามัว บอดลงช้าๆ  เป็นผลมาจาก โรคเบเซ็ต (Behcet’s) ซึ่งทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังในหลอดเลือดทั่วร่างกาย เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เข้าออกโรงพยาบาลอยู่ 3 ปี กระทั่งปี 2544 ตาบอดสนิททั้งสองข้าง จำเป็นต้องหยุดพักการเรียนไป”

เมื่อตาบอดสนิทจะให้ใช้ชีวิตในเมืองหลวงเพียงลำพังคงไม่ใช่เรื่องง่าย คุณพอลร์ตัดใจกลับบ้านเกิด จังหวัดเชียงใหม่ ขังตัวเองอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ นาน 2 ปี ร่างกายซูบผอม จนคนในครอบครัวคิดว่าอาจจะอยู่ได้ไม่นาน

สินค้าภายใต้แบรนด์ Paul Food

“โชคดีที่ผมได้กำลังใจจากพ่อแม่ ทำให้ฮึดสู้กลับมาเรียนต่อปริญญาตรี ครั้งนี้เลือกเรียนด้านครุศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จนจบ ตระเวนสอบงานราชการแต่ไม่ได้การตอบรับ”

ก่อนเล่าต่อว่า นั่งคิดเรื่องงานอยู่นาน สุดท้ายแล้วได้ไอเดียทำเนยถั่วจากเครื่องปั่นน้ำเต้าหู้เก่าในห้องเก็บของ ซื้อถั่วลิสงมาคั่วใส่แพ็กถุงละ 1 กิโลกรัมเร่ขาย ได้ชาวบ้านช่วยอุดหนุน

“ตอนที่สายตายังดีผมชอบทานเนยถั่ว แต่ในบ้านเรามีไม่กี่ยี่ห้อ ที่สำคัญ เป็นแบรนด์นำเข้าหมดเลย คิดง่ายๆ ถ้าทำคู่แข่งน้อย ใช้ถั่วไทยเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เป็นสูตรที่ได้จากมิชชันนารีชาวต่างชาติ ปรับเล็กน้อยให้เข้ากับวัฒนธรรมการกินของคนไทยมากขึ้น”

โรงงานผลิตเนยถั่ว

รวบรวมกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ผลิตเนยถั่วและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำมันงา น้ำมันทานตะวัน ฯลฯ ส่งขายร้านค้าปลีกในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ จนลงตัวตั้งแต่ปี 2550 ภายใต้แบรนด์ Paul Food มีพื้นที่โรงงาน 2 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ต่อเนื่องในปี 2554 ธุรกิจเนยถั่วเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คุณพอลร์ บอกว่า เป็นผลมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่โรงงานผลิตเนยถั่วในกรุงเทพฯ ไม่สามารถเปิดไลน์ผลิตได้ โรงงานได้รับความสนใจ ช่วงนั้นขายดีมาก แต่หลังเหตุการณ์น้ำท่วมคลี่คลายยอดขายกลับไปนิ่งเหมือนเดิม

 

ถามถึงวัตถุดิบ คุณพอลร์ ให้ข้อมูลว่า โรงงานเนยถั่วเจ้าใหญ่จะใช้ถั่วลิสงที่มาจากจีน อินเดีย แต่ของตนใช้ถั่วลิสงไทย ภาคเหนือปลูกได้ 4 ครั้งต่อปี ฉะนั้น ถั่วจะไม่ถูกเก็บเข้าตู้เย็น จึงได้รสชาติและความหอม โดยที่ไม่ต้องแต่งสี หรือเจือกลิ่นเลยแม้แต่น้อย

“เรารับซื้อวัตถุดิบจากชาวบ้านรอบพื้นที่ ส่วนใหญ่แล้วจะปลูกพืชหมุนเวียน รอบนี้ปลูกถั่วรอบหน้าปลูกข้าว เวียนกันไปมา ใช้กลุ่มแม่บ้านที่มีความสามารถเฉพาะตัวคัดถั่วด้วยมือ เอาเม็ดเสีย แตก ขึ้นรา ออกให้หมด เป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ครัวเรือนของชาวบ้าน หากเป็นโรงงานอุตสาหกรรมจะใช้การสุ่มตรวจ”

ในปี 2562 คุณพอลร์มีโอกาสร่วมงานกับ เทสโก้ โลตัส เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีมาตรฐานตามที่เทสโก้ โลตัส กำหนด เจ้าตัวบอกว่า แม้จะยากแต่มองว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะพัฒนาธุรกิจเล็กให้เติบโต ได้ร่วมงานกันทำธุรกิจเนยถั่วได้มาตรฐานในประเทศอย่าง GMP HACCP ฮาลาล

“ผมไม่คิดเลยว่าจะมาไกลขนาดนี้ ไกลกว่าที่คิดไว้มาก ยอมรับว่าตอนเข้ามาทำธุรกิจใหม่ๆ ท้อมาก บางเดือนเงินติดลบ จะตั้งเงินเดือนตัวเองยังทำไม่ได้เลย โรงงานเริ่มจากคนเพียง 1 คนจนมาเป็นกลุ่มแม่บ้านอายุ 50-60 ปีที่มาทำงานหลังช่วงทำนา เรียกว่าล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อย จนวันนี้เราได้ผลิตสินค้าไปวางขายในห้างใหญ่ มีสาขาทั่วประเทศอย่าง เทสโก้ โลตัส ผมดีใจมาก”

ด้านคุณพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้า เทสโก้ โลตัส กล่าวเสริมว่า ได้รับคำแนะนำว่ามีบริษัทผลิตเนยถั่วขนาดเล็กอยู่ที่เชียงใหม่ ด้วยความที่เทสโก้ โลตัส มีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยให้ยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่มาตรฐานสากลอยู่แล้ว กอปรกับผลิตภัณฑ์เนยถั่วในเมืองไทยแบรนด์ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงเห็นดีว่าควรสนับสนุนบริษัทผลิตเนยถั่วของไทย

“โรงงานของคุณพอลร์ เป็นโรงงานเล็กที่มีมาตรฐาน ทั้งโครงสร้าง อุปกรณ์การผลิต หรือแม้กระทั่งวัตถุดิบการผลิต เราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน พัฒนาจนได้มาตรฐานเป็นไปตามเกณฑ์ จนสามารถเป็นผู้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ เทสโก้ โลตัส ประมาณ 30,000 ขวดต่อปี จำหน่ายขวดละ 78 บาท ขนาด 200 กรัม มีทั้งสูตรบดและสูตรหยาบ”

ส่วนแผนในอนาคต คุณพรเพ็ญ บอกว่า ด้วยวัตถุดิบมาจากชาวบ้านซึ่งปลูกพืชหมุนเวียน ฉะนั้น วัตถุดิบที่ได้อาจไม่เพียงพอต่อการผลิต อาจจะต้องกลับไปที่ต้นน้ำ วางแผนการเพาะปลูกให้ดีขึ้น สินค้าจะได้เพียงพอต่อความต้องการ

ส่วนเรื่องของโรงงานและการผลิต อาจมีบางส่วนที่มีมูลค่าจำนวนมาก การใช้มือแปะสติ๊กเกอร์แบรนด์อาจไม่ใช่เรื่องง่าย อาจจะมีการพัฒนาระบบใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแล

“เราอยากให้หุ้นส่วนทางธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน ไม่ต้องเร่งเติบโต เราอยากให้มีความมั่นคง และมีรายได้สู่ชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่” คุณพรเพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 4 ก.พ. 2019