ถุงพลาสติกหลบไป! ‘พวงกุญแจถุงผ้า’ มากประโยชน์ ห้อยกระเป๋าได้ แถมใส่ของได้อีกเพียบ

ถุงพลาสติกหลบไป! ‘พวงกุญแจถุงผ้า’ มากประโยชน์ ห้อยกระเป๋าได้ แถมใส่ของได้อีกเพียบ

พูดถึงกระแสรักษ์โลก ช่วง 2 ปีมานี้คนไทยให้ความสำคัญมากขึ้น มีธุรกิจเกิดใหม่ที่ช่วยให้คนลดการใช้ขยะ หรือลดการใช้พลังงานซึ่งอาจจะสร้างมลพิษให้กับประเทศ อาทิเช่น การใช้รถยนต์อีโค่คาร์ ร้านสะดวกซื้อที่ลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่ของเอง

หรือจะเป็นธุรกิจกระเป๋าผ้าซึ่งเป็นเทรนด์ต่อเนื่องมาตลอด ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกแถมใช้งานได้ยาวนานอีกด้วย Make a Wood house and Crafts” ร้านพวงกุญแจถุงผ้า 2 in 1 แฮนด์เมดของคู่พ่อลูก คุณเจน-ชาลิสา วาระดี อายุ 26 ปี และคุณชาลี วาระดี อดีตนักข่าวมากประสบการณ์ที่คนในวงการข่าวรู้จักกันเป็นอย่างดี ปัจจุบันทั้งคู่ช่วยกันทำธุรกิจนี้มาได้ 1 ปีกว่าแล้ว

นัดแนะพูดคุยกันที่ร้านกาแฟแถวบางนา บรรยากาศสุดชิล คุณเจน เริ่มบทสนทนาด้วยรอยยิ้มถึงที่มาของธุรกิจนี้ให้ฟังว่า เริ่มทำพวงกุญแจถุงผ้ามาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งได้แนวคิดมาจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อครั้งไปเรียนต่อด้านภาษาที่ประเทศนิวซีแลนด์

“ที่นิวซีแลนด์คนส่วนใหญ่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ช่วงที่กลับมาคนไทยเองก็กำลังรณรงค์เรื่องลดการใช้ถุงพลาสติกพอดี เลยทำโปรดักต์ชิ้นนี้ออกมา ใช้ทักษะด้านออกแบบ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ช่วยครีเอตจนได้โปรดักต์มากประโยชน์ คือพวงกุญแจที่สามารถเป็นถุงผ้าได้ พกพาง่าย เวลาไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ หรือมีคนให้ของ เราสามารถดึงถุงที่อยู่ในพวงกุญแจออกมาใส่ของได้ทันที” คุณเจน เล่าที่มา

เพราะเป็นคู่พ่อลูกนักอนุรักษ์ใส่ใจธรรมชาติ ดีไซน์ของพวงกุญแจจึงออกมาในลักษณะรูปสัตว์ เช่น ปลา นกฮูก สุนัข กระต่าย กวาง กระรอก ฯลฯ

“โปรดักต์นี้มีจุดเด่นมากกว่าถุงผ้า ใช้งานง่าย พกพาสะดวก ไม่มีทางลืม เพราะเป็นพวงกุญแจห้อยกระเป๋า การออกแบบเราต้องกระตุ้นให้คนอยากซื้อ ออกแบบให้น่ารัก ที่สำคัญ ต้องใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด ทั้งลวดลาย สี ฯลฯ” คุณชาลี เล่าเสริม

 

ดีไซน์จากต้นแบบ เก็บทุกรายละเอียด

ส่วนวัสดุนั้น คุณเจน บอกว่า เลือกซื้อจากสำเพ็ง ช่วงแรกเดินหาแบบไม่รู้ทิศทาง สอบถามเอาจากแม่ค้าจนได้ร้านถูกใจ จากนั้นก็นำมาประกอบ เย็บ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายรอบ สุดท้ายมาลงตัวที่รูปแบบปัจจุบัน

“ตัวพวงกุญแจใช้ผ้าสักหลาดซึ่งมีโทนสีจำนวนมากง่ายต่อการดีไซน์ ส่วนถุงผ้าต้องหาชนิดผ้าที่สามารถเย็บแล้วมีขนาดใหญ่จุของได้เยอะ เมื่อพับใส่ในพวงกุญแจแล้วต้องมีขนาดเล็ก สุดท้ายจบที่ผ้าร่ม เหนียว ทนทาน รับน้ำหนักได้ดี มีความเบาของผ้า พกพาสะดวก” คุณเจน บอกถึงรายละเอียดของวัสดุ

หลังได้วัสดุ คุณเจนรับหน้าที่เป็นดีไซเนอร์แกะลายจากต้นแบบจริง สแกนลงคอมพ์ ตัดผ้าให้ได้ตามแบบ สุดท้ายนำไปประกอบด้วยวิธีอัดกาวซึ่งมีความแข็งแรงมาก เก็บรายละเอียดครบถ้วน ทำด้วยตัวเองทุกขั้นตอน เรียกว่าเป็นงานแฮนด์เมดของแท้ งานทุกชิ้นจึงมีข้อแตกต่างกันแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก่อนส่งมอบงานจะมีคุณชาลีเป็น QC ตรวจแบบและเก็บรายละเอียดที่อาจตกหล่น

ส่วนการจำหน่าย คุณชาลีรับอีกหน้าที่เป็นคนหาตลาด บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ หน่วยงานแรกๆ ที่เข้ามาเป็นลูกค้าคือ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มอนุรักษ์ปลาและปะการังชายฝั่ง และลูกค้ากลุ่มบริษัทสั่งทำเป็นของที่ระลึกแจกตามงานประชุม งานสัมมนา

“ผมเป็นคนตรวจแบบ หากอยากนำสินค้าไปขายให้กับนักดูนก ลายเส้นต้องละเอียด และเป๊ะมากๆ ที่สำคัญ ต้องมีกลิ่นอายที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าด้วย” คุณชาลี เล่า

คุณเจน เสริมต่ออีกนิดว่า ทางร้านมีแบบให้เลือก หากไม่ตรงใจหรือมีแบบในใจอยู่แล้ว เช่น โลโก้ ตราบริษัท สามารถออกแบบให้ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รับจำนวน 50 ชิ้นขึ้นไป ในการสั่งแต่ละครั้งลูกค้าต้องเผื่อเวลาเพราะเป็นงานแฮนด์เมดใช้เวลาทำพอสมควร ใน 1 วันทำได้ประมาณ 40-50 ชิ้น ส่วนแบบที่ทางร้านทำจำหน่ายประจำสนนราคา 160 บาทต่อชิ้นเท่านั้น

“กระแสตอบรับดีมาก ทุกครั้งที่ไปออกบู๊ธลูกค้าต่างชาติให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จะชอบกันมาก เขาจะเซอร์ไพรส์กับงานแฮนด์เมดมากๆ ส่วนคนไทยยังเป็นกลุ่มเฉพาะที่มาอุดหนุน” คุณเจน เสริม

 

บริหารไม่ยาก พฤติกรรมลูกค้าคือสิ่งสำคัญ

พักจิบน้ำก่อนถามต่อถึงการบริหารงานว่าช่วยกันดูแลอย่างไร คุณชาลี บอกว่า จากนักข่าวมาทำธุรกิจ แน่นอนว่าพื้นฐานไม่ได้แน่น เมื่อต้องทำจริงจัง หลักการง่ายๆ คือ ต้องศึกษาเทรนด์ของธุรกิจนั้นๆ ศึกษาพฤติกรรมและประเภทลูกค้า ดูตลาด แล้วดูว่าสินค้าชิ้นนี้เหมาะกับกลุ่มไหน ก็เข้าไปขายกลุ่มนั้น

“ยกตัวอย่างนะ ถ้าจะขายไข่ปลาคาเวียร์ ไปตั้งขายที่ตลาดสด ก็ไม่มีใครซื้อ เพราะลูกค้าและตลาดไม่ตรงกลุ่มกัน ส่วนการขายไม่ได้ตั้งหน้าขายอย่างเดียว แต่เราขายสตอรี่ อยากให้สินค้ากับการช่วยเหลือโลกควบคู่ไปด้วยกัน” คุณชาลี เสริม

ส่วนในอนาคตทั้งคู่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สินค้าแนวนี้สามารถเติบโตได้แน่นอน ทางร้านอาจต้องเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้มากขึ้น รวมทั้งขยายฐานลูกค้าให้กว้าง อาจจะเน้นการขายทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ต่างประเทศ หรือตามร้านค้าที่สนใจเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติเพิ่มเติมด้วย

อ่านแล้วอยากมีส่วนร่วมช่วยโลกลดขยะ สามารถติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม make a wood house and craft ได้เลยรับรองไม่ผิดหวัง