ธุรกิจสีขาว ดูแลผู้สูงอายุ “บ้านอุดมสุข” ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งเงิน

ธุรกิจสีขาว ดูแลผู้สูงอายุ “บ้านอุดมสุข” ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งเงิน

“…อีก 10 ปี เราจะมีเด็กกับผู้สูงอายุในสัดส่วนเท่ากันประมาณ 12 ล้านคน และในระยะยาวจำนวนผู้สูงอายุจะมีมากกว่าจำนวนเด็ก  ขณะที่วัยแรงงานเริ่มลดลงเป็นโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงอายุประชากรที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า…”

ข้อมูลส่วนหนึ่งจากการวิจัย ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ข้างต้น อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นภาพในอนาคตอันใกล้ได้ลางๆว่า ชีวิตบั้นปลายของใครหลายคน อาจไม่มีคนในครอบครัวมาคอยดูแลใกล้ชิด เหมือนสังคมไทยในยุคก่อน ที่ปู่ย่า-ตายาย มักได้อยู่ร่วมชายคากับครอบครัวถึงรุ่นเหลนโหลน เรื่อยไปจนกว่าอายุขัยจะสิ้นสุดลงตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ

เพราะเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป และด้วยปัจจัยภายนอกหลายประการ ต่างส่งผลให้ “ผู้สูงอายุ”กลุ่มหนึ่ง ขาดแคลนคนคอยดูแล บรรดาลูกหลาน ซึ่งอาจพอมีกำลังจ่าย จึงมักมองหา “เนิร์สซิ่ง โฮม-Nursing Home” เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระประจำวัน  จนในปัจจุบันธุรกิจให้บริการลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นหนาตาอย่างเห็นได้ชัด

“บ้านอุดมสุข”  บ้านสีเขียวหลังใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่บนที่ดินขนาดกว่า 5 ไร่ เป็นกิจการรับดูแลผู้สูงอายุ เปิดให้บริการมาได้ราว 4 ปี ตั้งอยู่ที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งเจ้าของกรุณาสละเวลามาให้ข้อมูลการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์และน่าสนใจ..หลายแง่มุม

นายแพทย์สมพงษ์ และ คุณภาณี ศิริรัตน์ คือ สองสามีภรรยา เจ้าของกิจการ “บ้านอุดมสุข” ที่เกริ่นถึง โดยคุณหมอสมพงษ์ อาสาเป็นผู้ให้ข้อมูล เริ่มต้นความเป็นมาให้ฟัง “บ้านอุดมสุข” นี้ เป็นธุรกิจของครอบครัว โดยมีคุณภาณี หรือ ติ๋ม-ภรรยา รับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ดูแลทุกอย่างภายในบ้าน

เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของกิจการ คุณหมอสมพงษ์ ย้อนความทรงจำให้ฟังว่า  สมัยที่เขาได้รับทุนไปต่างประเทศ ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานกิจการเนิร์สซิ่ง โฮม ทั้งรัฐและเอกชน ของประเทศญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ทำให้เกิดความคิด อยากเห็นเมืองไทยมีเนิร์สซิ่ง โฮม ซึ่งมีการจัดการดีๆแบบนั้นบ้าง

นายแพทย์สมพงษ์ และ คุณภาณี ศิริรัตน์ คือ สองสามีภรรยา เจ้าของกิจการ “บ้านอุดมสุข”

“ภาพบ้านพักคนชรา ที่ติดอยู่ในหัวของคนไทยมักเป็นบ้านสงเคราะห์ของรัฐ ที่อาจมีความแออัดและไม่ค่อยสมบูรณ์อยู่บ้าง ฉะนั้นแนวคิดของของทำธุรกิจนี้ คือ พยายามจะเปลี่ยนภาพในใจของคนทั่วไปว่า บ้านดูแลผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดิมๆเสมอไป  จึงออกแบบบ้านและบรรยากาศโดยรอบให้เหมือนพาคุณตา-คุณยาย มาพักผ่อนในรีสอร์ตต่างจังหวัด”คุณหมอสมพงษ์ อธิบาย

ก่อนเล่าด้วยว่า สำหรับแผนผังสิ่งปลูกสร้าง ตัวเขาออกแบบเอง โดยพยายามให้มีความแตกต่าง ซึ่งก่อนหน้าจะลงเสาเข็ม  ทางสถาปนิก แนะนำให้ไปศึกษาต้นแบบตามโรงพยาบาล เขาจึงต้องอธิบายใหม่  ไม่ได้คิดจะสร้างโรงพยาบาล แต่ต้องการสร้าง “บ้าน” เป็นสถานที่พักผ่อนเหมาะสมกับการดูแลผู้สูงอายุ

สำหรับเงินลงทุนในการทำธุรกิจ เจ้าของกิจการท่านนี้ เผย  กู้ธนาคารมาลงทุนสำหรับสิ่งปลูกสร้างหลายสิบล้านบาท  ขณะที่ที่ดินเป็นสมบัติจากทางครอบครัวภรรยา ส่วนสาเหตุไม่เริ่มทำจากเล็กไปก่อนนั้น เนื่องจากอยากสร้างให้เป็นกิจการที่ดูดี น่าเชื่อถือ ตั้งแต่เริ่มต้น

“ผมเป็นหมอโบราณ ถูกสอนมาอย่าทำธุรกิจหวังแต่กำไร เอาแค่เลี้ยงตัวได้  ฉะนั้นธุรกิจตัวนี้ ถ้าคิดจากตัวเงินที่ลงทุนไปตอนต้นไม่คุ้มหรอก เพราะกำไรมีไม่มาก แต่หากคิดถึงในระยะยาว ถ้าทำให้ดีเสมอต้นเสมอปลาย เชื่อว่าน่าจะได้ทั้งบุญ ได้ทั้งเงิน” คุณหมอสมพงษ์ บอกจริงจัง

เมื่อโครงสร้างและการจัดการภายในพร้อม จึงถึงเวลาประชาสัมพันธ์เปิดตัว ประเด็นนี้ คุณหมอสมพงษ์ เล่าให้ฟังว่า ช่วงต้น มีผู้ใหญ่หลายท่านช่วยแนะนำให้ จนได้ลูกค้ามาชุดหนึ่ง นอกจากนั้นเป็นหน้าที่ของพรรคพวกเพื่อนฝูงในละแวก เข้ามาเสริมอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังเคยซื้อพื้นที่โฆษณาในหลายสื่อ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการโทรทัศน์ แต่ผลตอบรับไม่ดีเท่ากับการ “บอกต่อ”

“ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากการบอกต่อ ซึ่งการที่ลูกค้าบอกต่อแสดงว่าลูกค้ายอมรับ แม้ญาติที่เขามาให้เราดูแลเสียชีวิตไปแล้ว  เขายังบอกต่อให้เพื่อนฝูงมาใช้บริการ ในทางกลับกันถ้าเราทำไม่ดี เขาคงสาปส่งให้” คุณหมอสมพงษ์ เล่าอย่างนั้น

สะดุดกับคำบอกเล่าประเด็น “มีลูกค้ามาเสียชีวิต” คุณหมอสมพงษ์ จึงอธิบายขยายความให้ฟัง  ที่ผ่านมามีผู้สูงอายุมาอยู่และดูแลกันจนเสียชีวิตหลายราย และ คุณติ๋ม-ภรรยา เป็นต้องร้องไห้เสียใจทุกคราวไป จนญาติของคุณตา-คุณยาย เหล่านั้น ต้องเข้ามาปลอบ ที่เป็นอย่างนี้อาจเพราะดูแลกันใกล้ชิดเหมือนญาติ เมื่อมีอันต้องพลัดพราก จึงเสียอกเสียใจบ้างเป็นธรรมดา

ถามถึงรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุ คุณหมอสมพงษ์ ล่าสุดทีมงานมีอยู่ประมาณ 20 คน รวมแม่บ้านทำความสะอาด และแม่ครัว แบ่งงานดูแลผู้สูงอายุจำนวนกว่า 30 คน ตลอด 24 ชั่วโมง ฉะนั้นจึงไม่ใช่การดูแลแบบประกบหนึ่งต่อหนึ่ง เพราะหากมีการจ้างงานในลักษณะนั้น ค่าบริการรายหัวจะคิดเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ เนื่องจากไม่คุ้มทุน

“ต้นทุนในการทำธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮมดูแลผู้สูงอายุ นอกจากสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นต้นทุนก้อนใหญ่คงที่แล้ว ยังมีต้นทุนสำคัญอีกก้อนหนึ่งคือ ค่าแรงเจ้าหน้าที่ดูแล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในแต่ละเดือน ฉะนั้นธุรกิจกำไรไม่เยอะมาก แต่ถ้าทำไม่ดีแล้วคงบาป แถมเงินไม่ได้ เพราะจะไม่มีใครเอาพ่อแม่มาฝาก คนอยู่เดิมก็คงทยอยหนีไป”

“ธุรกิจแบบนี้ถ้าไม่มีการบอกต่อ ลูกค้าไม่มีทางเพิ่มขึ้น แต่ถ้าทำดี แม้มีกำไรไม่มาก แต่สามารถเลี้ยงตัวอยู่ได้เรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าในอนาคตสังคมมีความต้องการธุรกิจบริการลักษณะนี้อีกมาก” คุณหมอสมพงษ์ กล่าวมั่นใจ

 เมื่อถามไถ่เกี่ยวกับอุปสรรคในการทำธุรกิจ คุณหมอสมพงษ์  วิเคราะห์ให้ฟังว่า  โดยข้อเท็จจริง ปัจจุบันมีผู้สูงอายุสภาพสมควรได้รับการดูแล เช่น อัมพาต อัมพฤกษ์ ใส่สายยาง เจาะคอ หรือหลงลืม ช่วยตัวเองไมได้   ฯลฯ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบรรดาญาติต้องจ้างคนมาดูแลที่บ้านอยู่แล้ว

แต่การหาคนเหมาะสมมางานแบบนี้ตามบ้านนั้น ค่อนข้างหาได้ยาก อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายสูงพอกับการนำผู้สูงอายุนั้นไปฝากตามเนิร์สซิ่งโฮมต่างๆ  แต่จากผลประกอบการของเนิร์สซิ่งโฮมหลายแห่ง ยังมีลูกค้ามารับบริการเป็นจำนวนน้อย ซึ่งรวมถึง “บ้านอุดมสุข” ด้วยนั้น เกิดจากคนไทยส่วนใหญ่ ยังติดกับความคิดที่ว่า หากพาพ่อ-แม่ ไปฝากไว้ตามบ้านรับดูแลแล้วเหมือนเป็นการทอดทิ้งพวกท่าน ประกอบกับเกรงคนรอบข้างจะตำหนิ ทั้งที่ความจริงแล้ว หากลูกหลานไม่มีเวลาดูแล น่าจะวางใจให้เนิร์สซิ่งโฮม ซึ่งมีคุณภาพดูแลแทน น่าจะเหมาะสมกว่า

ปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจลักษณะนี้ ยังมีเรื่องของคนดูแลที่หายากกว่าอาชีพอื่น ซึ่งคุณหมอสมพงษ์ บอกว่า เรื่องเทคนิคการดูแลผู้สูงอายุ ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร สามารถอบรมกันได้ในเวลาไม่นาน

แต่การได้คนที่มี “ใจ”กับการบริการลักษณะนี้ ค่อนข้างหายาก และถ้าได้คนที่ไม่เต็มใจทำแล้ว งานจะออกมาไม่มีคุณภาพ

“งานของเจ้าหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ แม้จะได้ค่าตอบแทนดี แต่อาจต้องรองรับอารมณ์ และมีงานสกปรกให้ทำตลอด คือ เช็ดปฏิกูลให้กับผู้สูงอายุที่ไม่ใช่พ่อไม่ใช่แม่ของพวกเขา การจะได้คนมีใจทำงานนี้จริงๆจึงยากมาก อย่างไรก็ตาม ผมแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยจ้างคนไว้ให้มากกว่าความต้องการตลอด” คุณหมอสมพงษ์ เผยเทคนิคบริหารธุรกิจในแบบของเขา

เมื่อถามถึงหลักการทำธุรกิจของครอบครัวซึ่งเป็นหัวข้อสนทนาสำคัญในครั้งนี้ คุณหมอสมพงษ์ ตอบว่า คือความโปร่งใส

“ความโปร่งใส คือ ก่อนจะเข้ามาเป็นลูกค้า จะทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ที่นี่มีบริการอะไรบ้าง และไม่มีอะไรบ้าง ไม่มีหลอกกัน นอกจากนั้น สามารถเข้าเยี่ยมคุณตา คุณยาย ได้ตลอดเวลาถึงห้องนอน ไม่มีจำกัดเวลาเยี่ยม หรือ จัดฉาก ต่อหน้าญาติอย่างหนึ่ง ลับหลังอย่างหนึ่ง อย่างนั้นไม่เอา” คุณหมอสมพงษ์ ส่งท้ายด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

“บ้านอุดมสุข” บ้านสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งอยู่เลขที่ 9/99 หมู่ 4 ตำบลท่าไม้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี 71120