รตวรรณ ออมไธสง (ไข่ตุ้ม ทองเนื้อเก้า) จัดสรรเวลาว่างทำอาชีพเสริม ปรุงเมนูสารพัดหมู เมนูเด็ด “หมูหย็องกรอบ” สูตรอาม่า

โด่งดังเป็นที่รู้จักจากการขโมยซีนในละคร “ทองเนื้อเก้า” เมื่อ 4 ปีก่อนเพราะคำว่า “ไข่ตุ้ม” คำเดียว ซึ่งปัจจุบันคำนี้ไม่เพียงทำให้ มิน-รตวรรณ ออมไธสง มีผลงานต่อเนื่อง แต่ยังเป็นที่มาของชื่อธุรกิจหมูหย็องกรอบ “ไข่ตุ้ม โต้รุ่ง (Midnight Kaitoom)” ของเธออีกด้วย

“ธุรกิจนี้มินทำมาประมาณ 1 ปีแล้ว ทำกับเพื่อน เพราะมีเวลาว่างเยอะเลยอยากทำอาชีพเสริม พอดีบ้านเพื่อนมินเขาทำหมูหย็องอยู่ ทำขายส่งตามเยาวราชแต่ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง เลยคิดว่าเรามาทำธุรกิจกัน หุ้นกันดีกว่า ไหนๆ เพื่อนก็มีธุรกิจอยู่แล้ว” นักแสดงสาววัย 29 บอกพลางยิ้มกว้าง

ก่อนจะเล่าถึงชื่อ “ไข่ตุ้ม โต้รุ่ง มาจากมินกับเพื่อนนั่งคิดกันในร้านข้าวต้มโต้รุ่งว่า หมูหย็อง หมูแผ่น หมูทุบ ไว้กินกับข้าวต้มนี่ ถ้าอย่างนั้นชื่อโต้รุ่งดีกว่าเหมือนข้าวต้มโต้รุ่ง แล้วก็เอาคำว่าไข่ตุ้มมาเป็นชื่อแบรนด์ เพราะคนจำมินได้ว่าไข่ตุ้ม”

และแม้จะชื่อ “ไข่ตุ้ม” แต่ผลิตภัณฑ์ล้วนประกอบด้วยสารพัดหมู ไม่ว่าจะหมูหย็อง หมูแผ่น หมูทุบ เรื่อยไปจนถึงน้ำพริกหมูหย็อง นั่นเลยสร้างความสับสนให้แก่ผู้คนจำนวนไม่น้อย

“คนก็จะงงมาก” เจ้าของออกตัว

ทว่านั่นกลับเป็นข้อดี “คนจะมายืนมองถุงว่าอะไร ไข่อะไรดูไม่ใช่เป็นไข่ คนก็จะเดินเข้ามาถามว่าขายอะไรคะ เราก็จะได้ขายของต่อได้เลย”

สำหรับการแบ่งงาน มินรับหน้าที่หลักในด้านการขายเพราะอาศัยว่าพอเป็นที่รู้จัก ส่วนเรื่องการผลิต เรื่องงานบัญชียกให้เพื่อนดูแลไป นอกนั้นไม่ว่ากรอกใส่ถุง ปั๊มชื่อสินค้า ฯลฯ ก็จะช่วยๆ กันทำตามประสา “ธุรกิจในครัวเรือน”

“จริงๆ ทำแบบครัวเรือนมาก เพราะว่าหมูทำที่บ้านเพื่อน เราก็คิดแค่ว่าช่วงนี้อยากขายเยอะหน่อยก็ให้เพื่อนผลิตมาเยอะหน่อย เวลาไปออกบู๊ธก็สั่งเท่าที่เราจะใช้ โชคดีที่โรงงานผลิตเป็นของเพื่อน เราไม่ต้องสต๊อกของ พอไปขายที่ใหม่เราก็สั่งล็อตใหม่ โดยล็อตหนึ่งสั่งทีก็เป็น 100 กิโลกรัม สินค้าเราก็จะสดใหม่ เราได้เปรียบตรงนี้” มิน ว่า

ขณะเดียวกัน ยังบอก “มันไม่ใช่การลงทุนขนาดใหญ่ น่าจะไม่เกิน 30,000 บาท เพราะเราไม่ได้ลงทุนอะไรเลย เป็นเงินหมุนมากๆ เราเอาของมาก่อน ล็อตนี้ขายเสร็จก็ค่อยเอาเงินไปจ่ายค่าหมู ตอนนั้นเราคิดกันแค่ว่าขอแค่ให้มีเงินเดือนละนิดๆ หน่อยๆ มาซื้อขนมกิน เวลาไปขายก็ไปกัน 2 คน แบกหามกันเอง เปิดร้านเอง บางคนงงว่าทำไมมาเปิดร้านเอง เพราะเรารู้สึกว่าอะไรที่ทำได้ก็ทำเองดีกว่ามันเซฟต้นทุน กำไรที่ควรจะได้แต่เราต้องมาเสียกับค่าคนก็ประหยัดไว้ดีกว่า”

ถึงแม้จะบอกว่าหวังกำไรแค่ไว้กินขนม แต่เวลาออกร้านขายตามที่ต่างๆ กลับทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ บางแห่ง 3 วันขายได้เป็นแสนบาท แถมหลายคนยังติดใจมาตามซื้อในอินสตาแกรม midnight_kaitoom บ้างก็โทรมาที่ (084) 269-1469, (086) 556-2629 หรือไลน์ bbrief

ส่วนหนึ่งอาจเพราะ “มินจะไปขายเองทุกครั้ง อย่างน้อยก็จะมีคนมาถ่ายรูปกับเรา เราก็ชิมหมูไหมคะ? เรามั่นใจว่าพอได้ชิมต้องซื้อ คนก็ชิมแล้วก็เฮ้ย! รสชาติไม่เหมือนที่อื่น เป็นหมูหย็องแบบกรอบ ไม่ได้เป็นฝอยๆ รสชาติพอดี ไม่มัน เพราะหมูเราเป็นหมูเนื้อแดงล้วน 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีมัน แล้วเวลาทำเป็นโฮมเมดแท้ๆ”

“จริงๆ ต้นเหตุของหมูหย็อง เพื่อนเล่าให้ฟังว่า อากงชอบกินหมูมาก อาม่าเลยคิดวิธีให้หมูอยู่ได้นานเลยคิดทำหมูหย็องขึ้นมา ตอนนี้อาม่าอายุ 80 กว่าแล้วก็ยังเป็นคนปรุงรสเองอยู่ ซึ่งก็เป็นซิกเนเจอร์ของร้านเรา ส่วนหมูแผ่นจะเป็นหมูแผ่นใหญ่ย่างด้วยเตาถ่าน จะไม่ได้เป็นแผ่นแตกๆ เล็กๆ พอทำใส่ถุงก็จะเป็นถุงใหญ่หน่อย ส่วนน้ำพริกจะเป็นหมูหย็องที่ชิ้นไม่ใหญ่ เขาจะไม่เอามาขาย อาม่าก็เอามาปรุงรสให้จัดขึ้นเป็นน้ำพริกทำไว้กินกันที่บ้าน ไม่ได้ขาย แต่มินกินแล้วชอบเลยเอามาทำ”

สำหรับราคาขาย หมูหย็อง 250 กรัม ราคา 250 บาท, หมูหย็อง 120 กรัม ราคา 150 บาท, หมูแผ่น 200 กรัม ราคา 200 บาท, หมูทุบ 200 กรัม ราคา 200 บาท น้ำพริกกระปุกละ 70 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้กระแสตอบรับจะดี แต่เธอยอมรับว่าช่วงหลังอาจขายดีไม่เท่าช่วงแรกๆ เพราะเมื่อติดงานก็ไม่ค่อยได้ไปขาย รวมถึงไม่ได้โปรโมตเท่าที่ควร

“อาจจะมินเองที่ไม่ค่อยขยัน ถ้าขยันมันก็จะไปได้เรื่อย แต่เราเองเอาเท่าที่ไหว ช่วงหลังเราไม่ค่อยได้โปรโมตสักเท่าไหร่ก็จะซาๆ ไปนิดหนึ่ง ถ้าทำจริงๆ มินว่าเป็นธุรกิจที่อยู่ได้เลย เพราะว่าเราแทบไม่เสียอะไรเลย ของเราไม่มีสต๊อก เราปันผลมาจ่าย เงินเราจะไม่จมก็เลยจะสบายหน่อย” เธอยอมรับ

พร้อมกับเล่าถึงความตั้งใจครั้งใหม่ “ตอนนี้เริ่มจะคิดให้ใหญ่ขึ้น มองเห็นตลาดมากขึ้นเลยต้องพัฒนาแพ็กเกจเพื่อให้อยู่ได้นานขึ้น ถ้ามันอยู่ได้นานขึ้นเราจะได้ส่งไปขายในที่ต่างๆ ได้ เราจะทำแพ็กเกจใหม่เป็นแพ็กเกจที่มี Shelf life (อายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์) ได้นานขึ้น ตอนนี้จะอยู่ได้แค่ 2-3 เดือนจะทำให้มันอยู่ได้ 6-12 เดือน แต่ไม่ได้ใส่สารกันบูดนะ มันจะมีวิธีถนอมอาหารโดยใช้แพ็กเกจ”

“แล้วตอนนี้มินก็ส่งให้ห้องแล็บตรวจอยู่เพื่อดูข้อมูลโภชนาการว่ามีคุณค่าอะไรเท่าไหร่ เพราะกลุ่มเป้าหมายเราเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีครอบครัว ซึ่งผู้หญิงจะชอบซื้อไปให้ลูกกิน ลูกชอบ ไม่มีสารกันบูด ไม่มีผงชูรส ส่วนผู้ชายก็ซื้อเยอะเพราะเขามองว่าเป็นกับแกล้ม กินเป็นของกินเล่น เราก็อยากให้เขามั่นใจว่ากินแล้วปลอดภัยจริงๆ”

“ที่ผ่านมาเราทำครัวเรือนเกินไป แพ็กเกจเราจะต้องมานั่งปั๊มมือ ปั๊มโลโก้ มันอาจจะเบี้ยวบ้าง ไม่เห็นสี เบอร์โทรไม่ชัด ถ้าเราพิมพ์ออกมาทุกอย่างทำอย่างดี คนก็จะเห็นรายละเอียดชัดเจน ข้อมูลโภชนาการเท่าไหร่ มีขายที่ไหน เขาก็จะได้ซื้อได้ ตอนนี้อยู่ในช่วงดำเนินการอยู่ น่าจะปลายๆ ปีที่ปล่อยอันใหม่ออกมาก็อาจจะเห็นวางตามร้านขายอาหารสุขภาพ แล้วก็ร้านของฝาก”

นอกจากนี้ สาวร่างเล็กยังว่า “เป้าหมายของมินก็ยังอยากให้มันอยู่ในตลาด ไม่อยากให้มันหายไป ยังเห็นไข่ตุ้ม  โต้รุ่ง อยู่ เป้าหมายถัดไปคือ อยากให้คนที่เขาเดินผ่านไปผ่านมาเห็นแล้วอยากซื้อมากกว่าเดิม และถ้ามันเป็นไปได้มินก็อยากส่งออก”

ซึ่งก่อนหน้านี้มีคนมาติดต่อไปขายที่ประเทศจีนแต่เธอเห็นว่ายังไม่ค่อยมีข้อมูลใดๆ รวมถึงเมื่อได้พูดคุยกันแล้ว อายุผลิตภัณฑ์แค่ 2-3 เดือนนั้นสั้นเกินกว่าที่จะส่งออก คนทำจึงต้องกลับมาพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“จริงๆ ก็อยากทำทีเดียวเสร็จเลย” นักแสดงสาว สารภาพพลางหัวเราะ

“แต่พอมาทำจริงๆ จะรู้ว่าไม่สามารถทำได้รวดเร็วขนาดนั้น ก็จะค่อยๆ ทำไป ทำอันนี้ไหวเอาแค่นี้ก่อน พอมีฐานมากพอ มีกำลังมากพอค่อยขยายก็ได้ เพราะเพื่อนมินคนนี้ก็เคยลงทุนอะไรสักอย่าง แล้วสุดท้ายก็พัง เราก็เลยรู้สึกว่าไม่จำเป็นที่เราต้องรีบทำก็ได้ ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ ทำไป เราจะได้ไม่เจ็บเวลาเราล้ม”

หากนั่นก็ไม่ได้หมายความว่ากลัวจนได้แค่คิดแต่ไม่ลงมือทำเสียที เพราะไม่เช่นนั้นคงยากจะได้พบความสำเร็จ

“มินมีธุรกิจที่อยากทำเยอะมาก แต่ถ้าแค่คิดแล้วไม่ลงมือทำ เราก็จะไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น มินอยากให้ลองคิดอะไรที่ไม่เกินตัวเรา เราจับต้องได้ สมมติเราอยากเปิดโรงงานอะไรใหญ่ๆ เราลองมาเปิดเล็กๆ ก่อนได้ไหม ถ้าเราทำมีเงินทุนมากพอค่อยไปลองทำใหญ่ ถ้าได้แต่คิดในหัวเราจะไม่รู้เลยว่าปัญหาอุปสรรคข้างหน้าคืออะไร ผลลัพธ์จะเป็นยังไง”

“อย่างน้อยถ้าลงมือทำจะได้รู้ว่าปัญหา อุปสรรค และผลลัพธ์คืออะไร แล้วเอามาใช้ในการต่อยอดขั้นต่อไป”

เหมือนที่เธอกำลังต่อยอดให้ “ไข่ตุ้ม โต้รุ่ง” กลายเป็น (ธุรกิจ) หมูที่ตัวใหญ่ขึ้น