เจมส์-โฟกัส คู่รักสวีทเว่อร์ ลงขันทำธุรกิจร่วมกัน เปิดร้าน ปิ้งย่างจุ่มชีส “EAT CHEESE!” ราคาไม่เเพง

เปิดตัวคบหากันมาปีกว่าแล้ว สำหรับคู่รักนักแสดง โฟกัส จีระกุล และ เจมส์-กิจเกษม แมคแฟดเดน ที่นอกจากความหวานจะไม่ได้ลดลงตามกาลเวลา เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งคู่ยังสร้างอนาคตร่วมกันด้วยการเปิดร้านอาหารปิ้งย่างจุ่มชีสในชื่อ “EAT CHEESE!”

“ด้วยความที่ผมกับโฟกัสชอบกินพวกบุฟเฟ่ต์ สเต๊ก เลยคุยกันว่ามาเปิดร้านกันไหม ซึ่งก็คิดคอนเซ็ปต์ กินนู่นนี่ผสมกัน ลองไปกินชีสที่ละลายก็คิดว่ามันน่าจะเข้ากับเนื้อหรือหมู พอลองแล้วชอบก็คิดว่าคนอื่นน่าจะชอบเหมือนเรา” เจมส์บอกยิ้มๆ ถึงที่มาธุรกิจใหม่ซึ่งตั้งอยู่ซอยจรัสลาภ ตรงข้ามตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี

ธุรกิจที่แม้จะใช้เวลาเตรียมการเพียงแค่ 4 เดือนก่อนเปิด แต่ก็ลงทุนร่วมล้านและเน้นหนักไปที่การทำ “รีเสิร์ช” เพื่อความมั่นใจ

“เราค่อนข้างละเอียดเพราะเป็นการทำธุรกิจจริงจัง โฟกัสเป็นคนแถวนี้ เราก็มาดูว่าคนแถวนี้ชอบกินอะไร ซึ่งอาหารประเภทนี้ยังไม่ค่อยมี มีการทำการบ้าน ดูที่ทาง ซึ่งได้ตรงนี้พื้นที่จะกว้าง มีที่จอดรถ ไม่อึดอัด นั่งกินสบายๆ แล้วก็มีกระบวนการคิดออกแบบร้านว่าจะเอาธีมอะไรดี”

แล้วก็สรุปที่คอนเซ็ปต์ “โรงงานผลิตอาหารอร่อย” โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาทำเป็นร้าน ตกแต่งด้วยสีดำ-เหลือง มีโต๊ะทั้งหมด 20 โต๊ะ รองรับลูกค้าได้ครั้งละ 40-50 คน ซึ่งจำนวนโต๊ะอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะกระแสตอบรับดีมาก

“ฟีดแบ็กดี วันหนึ่งจะขายอยู่ที่เฉลี่ยหมู 30 กิโลกรัม เนื้อ 15 กิโลกรัม และอาหารทะเล 10 กิโลกรัม” เจมส์บอกอย่างภาคภูมิใจ

“เราเปิดทุกวัน 17.00-24.00 น. คนแน่นตั้งแต่เปิดร้านถึงประมาณ 22.00 น. ซึ่งเป็นข้อดีของการทำการบ้านมาก่อน จำนวนลูกค้าก็ไม่ต่างจากตัวเลขที่คำนวณไว้ อย่างวันนี้คนเดินผ่าน 100 คน มากินร้านเรา 40-50 คน แต่ก็ยังไม่รู้นะว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า ต้องรอดู แต่ประทับใจที่เราทำแล้วไม่ต้องเหนื่อยรอ หรือต้องเรียกลูกค้า แต่สามารถทำงานได้เลย”

โดยถ้าถามถึงจุดเด่นของร้าน เขารีบตอบ “ต้องอยู่ที่อาหารแน่นอน”

“เมนู สูตรที่ใช้หมักหมู หมักเนื้อ น้ำจิ้ม เราดูแลทุกกระบวนการ ทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่เริ่มเราชิมจนได้สูตรที่ต้องการ ได้แล้วก็จดไว้ เพราะเรากินเองทุกวันอาหารต้องดี ต้องชัวร์ตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ อย่างหอยแมลงภู่ ถ้าเป็นนิวซีแลนด์จะหอมกว่า ไม่คาวเท่าน้ำทะเลบ้านเรา หมูก็เลือกเฉพาะสันคอที่ปิ้งแล้วจะหวาน กับสันนอกที่เนื้อแน่นๆ เนื้อวัวก็เป็นริบอาย เนื้อนุ่ม ปิ้งง่าย หรือชีสเราก็ไปคัดเอง เลือกเชดด้าชีสกับมอสซาเรลล่าชีส”

“เราดูทุกรายละเอียดเพื่อให้คนกินรู้สึกว่าเราใส่ใจ เราเองก็กินได้ เราพูดได้หมดว่าเราใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง” เจมส์ยืนยัน

และไม่เพียงเมนูปิ้งย่างที่มีให้เลือกชุดหมู เนื้อ ทะเล ในไซซ์ S M L บรรดาอาหารทานเล่นกว่า 10 เมนูก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะ ไก่ทอดเกลือ, เห็ดทอดเทมปุระ, ฟิชฟรายด์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องของ “อาหาร” แล้ว “ราคา” ก็ช่วยดึงดูดลูกค้าได้ไม่แพ้กัน เพราะเจ้าของร้านการันตีว่า พกเงินมาแค่ 170 บาทก็สามารถอิ่มอร่อยได้

“ราคาขั้นต่ำของเรา 170 บาทก็สามารถกินเมนูจุ่มชีสได้สบายมาก เป็นราคาทั่วไปที่ไม่ได้ขึ้นห้างหรือแพงมาก เด็กวัยรุ่นกินได้ ถ้าเป็นเนื้อริบอายไซซ์ L จะเเพงหน่อย เพราะต้นทุนมันสูงกว่า ซึ่งตอนแรกเราก็ลังเลว่าถ้าขายถูกแบบนี้แล้วจะไหวไหม แต่มองไปมองมาก็อยู่ได้ มีช่องว่างเล็กๆ ของตลาดอยู่ เพราะตอนนี้มีร้านหรู ร้านแพงเยอะ เราขายราคาเท่านี้ก็มีลูกค้ามาเรื่อยๆ เลี้ยงลูกน้องได้ไม่กระทบกระเทือน เราหวังระยะยาว วาดฝันว่า 1-2 ปี ให้คนรู้ว่าที่นี่เป็นแหล่งใหญ่ถ้าจะกินปิ้งย่างจุ่มชีส”

ขณะเดียวกัน เขาก็หวังพัฒนาระบบในร้านให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะยอมรับว่าแรกๆ ค่อนข้างจะมีปัญหาเรื่องการจัดการ

โดยเจมส์เล่า “มีปัญหาช่วงวันแรก วันที่สอง ลูกน้องเราไม่ได้ถูกฝึกมารับคนจำนวนมากๆ ไม่ได้ฝึกมากับเรื่องเวลา แต่ฝึกมากับการทำอาหาร ลูกค้าก็บอกว่าของช้า วันรุ่งขึ้นคนมาเพิ่มมากกว่าเก่า แล้วคนกินเบียร์เลยปิดดึกกว่าปกติ ลูกน้องก็เลิกงานดึก เราก็ต้องทำความเข้าใจกับลูกน้องว่าถ้าลูกค้ามาอยู่นานแสดงว่าเขาชอบเรา พนักงานก็ได้พัฒนาเชิงอารมณ์ นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องไปร้าน”

“รายละเอียดเยอะมาก” คนทำธุรกิจร้านอาหารบอก

“เราต้องคิดเผื่อปัญหาต่างๆ เยอะมาก ถ้าผมอยู่ก็ออกหน้าแก้ปัญหา แต่ถ้าไม่อยู่ร้านก็จะบอกลูกน้องว่า ลูกค้าต้องมาก่อนนะ คิดให้ได้ว่าเราทำอะไรผิดตรงไหน แต่ถ้าคิดหาความผิดของเราไม่ได้ ลูกค้าก็อาจจะเกินไป”

“อย่างลูกค้ามา 10 คน มาเซตใหญ่ โต๊ะยาว สั่งอาหารทีละ 6 เซต ผมบอกก่อนเลยว่าด้วยความที่ลูกค้ามาเยอะ เราก็ขอส่งทีละเซต พอส่งไป 3 เซต อีก 3 เซตยังไม่ไป เขาก็บ่นว่าทำไมช้าจัง เราก็ขอโทษเขา อธิบายเขาไปว่าของทุกอย่างที่เราทำ เราเน้นสด เน้นคุณภาพ ไม่ได้เน้นความเร็ว ซึ่งจริงๆ เราอยากส่งให้หมด ทำให้ดีที่สุดในทุกส่วน ส่วนใหญ่ลูกค้าก็น่ารัก เขาเข้าใจ”

ซึ่งนั่นทำให้เขาว่า “ได้เรียนรู้อะไรเยอะภายในเวลาสั้นๆ” ทั้งเรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ ทั้งเรียนรู้จากการนำธุรกิจที่เคยทำมาปรับใช้

“ตอนนั้นเราทำงาน 7 วัน หุ้นทำร้านก๋วยเตี๋ยวกับคุณแม่แต่เราไม่ได้อยู่ร้านเลย แม่ต้องดูแลทุกอย่าง เราไม่อยากให้แม่เหนื่อยเลยเซ้งให้ญาติซึ่งตอนนี้เขาก็ยังไปต่อได้ นั่นเลยทำให้รู้ว่าถ้าจะทำธุรกิจต้องลงไปดูเอง”

“อย่างครั้งนี้ผมเป็นนายทุน โชคดีที่ละครซา มีเวลา 2-3 วันต่ออาทิตย์ก็ลงไปดูเอง ซึ่งคนที่จะร่วมโปรเจ็กต์กับเราต้องมีแนวทางร่วมกับเรา เขาต้องเป็นแขนขาให้เราได้ตอนเราไม่อยู่ ธุรกิจที่ทำต้องดูแลเหมือนลูก ถึงเราจะเป็นนายทุน ธุรกิจผ่านการรีเสิร์ชแล้วมันไปของมันเองได้ แต่เราก็ต้องประคองข้างๆ ไม่ใช่ให้คนร่วมโปรเจ็กต์มาเหนื่อยแทน”

โดยนอกจากลูกน้องทั้ง 6 คน ยังหมายรวมถึงโฟกัส แฟนสาว ที่แม้จะไม่ได้ร่วมลงทุนเป็นตัวเงิน แต่เขามอบหุ้นส่วนหนึ่งให้ เพราะถือว่าเป็นผู้ออกไอเดียและช่วยดูแลร้าน

“น้องช่วยออกไอเดีย แต่มาลงทุนจริงจังไม่ได้เพราะเขาก็มีธุรกิจของเขา เราก็แบ่งหุ้นให้” ฝ่ายชายบอก

และย้ำว่าไม่กลัวอาถรรพ์เรื่องคนรักไม่ควรทำธุรกิจร่วมกัน เนื่องจากปรึกษาพูดคุยกันตลอด หรือหากความคิดเห็นไปคนละทางก็หาเหตุผลมาคุยกัน

“ก็คุยกัน ฟังกันก่อนว่าไอเดียนี้คืออะไร ทำประโยชน์ไหม ต้นทุนเท่าไหร่ ดูว่าสมเหตุสมผลไหม ซึ่งพอคุยกันมันจะทำให้เรารู้ว่าไอเดียดีหรือไม่ดี คุยกันด้วยเหตุผล โฟกัสก็ฟัง เรามีลูกน้องเป็นมือซ้ายมือขวาคอยดูแล แต่วันไหนโฟกัสว่างก็จะเข้ามา ผมว่างก็จะเข้ามา ถ้าว่างด้วยกันก็มาดูแลเอง เพราะธุรกิจก็เหมือนลูก ต้องหิ้ว ต้องอุ้มจนมันเดินเองได้”

หากเมื่อถามถึงเป้าหมายของร้าน “EAT CHEESE!” เขากลับสารภาพ “ไม่ได้ตั้งความหวังไว้”

“แต่ช่วงเปิดร้านแรกๆ เราหาวันหยุดให้ลูกน้องไม่ได้ก็อยากหาให้เขา ทุกคนอยากได้เงินแต่ต้องมีการพักผ่อนให้พวกเขาด้วย ให้สักวันต่ออาทิตย์ ซึ่งนี่เป็นอนาคตที่คิดไว้”

“ส่วนเป้าหมายเรื่องกำไร ผมไม่ได้คิด ขอสู้กับวันนี้ก่อน สู้กับทีละความหวัง”

เช่นเดียวกับการที่หลายคนเชียร์ให้ขยายสาขา ซึ่งคนทำยอมรับว่า “ผมก็คิดนะ แต่ถ้าวันที่ไม่มีลูกค้าล่ะ ทำยังไง ความอยากต้องชั่งกับความรับผิดชอบ”

“ผมอยากให้มันค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ถ้าอยู่ได้ก็จะได้เป็นกระเป๋าอีกข้างไว้เลี้ยงดูชีวิตตัวเอง ทำให้เราได้ตามความฝันของตัวเองมากขึ้น”

“รายได้หลักเราอาจจะมาจากงานในวงการ แต่การมีธุรกิจส่วนตัวทำให้เรามีเวลามากขึ้น อย่างบางบทมันไม่เข้ากับเรา สมัยก่อนอาจต้องฝืนรับ ตอนนี้เราก็อาจจะรับบทที่เราอยากเล่นจริงๆ รับงานที่ตรงกับทิศทางชีวิตได้มากกว่า เราอยู่วงการอย่างเดียว บางทีอาจต้องบังคับรับงานอาหารเสริม งานแอลกอฮอล์ ซึ่งไลฟ์สไตล์ผมไม่ใช่อย่างนั้น”

“การมีธุรกิจทำให้เราเลี่ยงงานที่ไม่อยากทำได้ และได้โตในทิศทางที่อยากโต”

ทิศทางที่เขาเลือกแล้วกับร้านปิ้งย่างจุ่มชีส “EAT CHEESE!”