เป็นดารารายได้ไม่แน่นอน “อี๊ด โปงลาง” เดินหน้าทำธุรกิจอาหาร ชูจุดขายคุณภาพสูง

อี๊ด วงโปงลางสะออน หรือ “สมพงษ์ คุนาประถมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องนึกถึงศิลปินอารมณ์ดีหัวหน้าวงโปงลางสะออน ที่ฝากผลงานมานับไม่ถ้วนทั้งงานเพลง งานแสดง รวมถึงคอนเสิร์ต ทว่าในอีกบทบาทหนึ่งเขาคือ นักธุรกิจซึ่งมีทั้งกิจการร้านชาบู ซูชิ แซ่บเวอร์ รวงผึ้งฮันนี่อี๊ดโกลด์ และข้าวแต๋นโปงลาง โดยอย่างหลังนั้นยอดผลิตมากถึงหลักแสนซองต่อเดือน!!!

 ข้าวแต๋นโปงลาง…อร่อยง่ายๆ ยอดขายไม่ธรรมดา

“ไม่คิดว่าจะได้ขนาดนี้ เราทำเพราะแค่อยากหาธุรกิจทำ” ศิลปินวัย 40 ปี เผยถึงความสำเร็จอย่างไม่คาดคิดของกิจการข้าวแต๋นที่เริ่มต้นเมื่อ 4-5 ปีก่อนในช่วงวงกำลังสั่นคลอน งานจ้างก็มีไม่มากนัก

ก่อนเล่าย้อนว่า “ตอนนั้นเราแค่อยากลงทุนทำอะไรขาย ลงทุนสัก 400,000-500,000 บาท ผลิตแล้วก็ออกบู๊ธขาย ซึ่งด้วยความชอบทานข้าวแต๋นของเรา เวลาไปทัวร์คอนเสิร์ตชอบไปซื้อทานที่เป็นแผ่นใหญ่ๆ รสน้ำตาล เวลากัดกินก็แตก หกเต็มไปหมด เลยมาคิดว่าในเมื่อเราชอบทานจะทำยังไงให้เป็นอาชีพเลยคิดพัฒนาสูตร เดินทางไปดูโรงงานต่างๆ จนเกิดมาเป็นข้าวแต๋นโปงลางที่แผ่นเล็กพอดีคำ”

“เริ่มจากรสแรกเป็นรสออริจินอล เราทำแพ็กเกจเพื่อส่งออกอย่างเดียวเลย เพราะมองว่าข้าวแต๋นที่ผลิตจากวัตถุดิบไทยๆ อย่างข้าว ถ้าเอามาทำให้ดูดีใส่แพ็กเกจดีๆ จะสามารถขายต่างประเทศได้ เราก็เลยไปเปิดบู๊ธเช่นที่งานไทยเฟ็กซ์ สำหรับแสดงสินค้าส่งออก แล้วมีนักธุรกิจมาเห็นก็ติดต่อส่งออกไปขาย มีที่เกาหลี เวียดนาม จีน ซึ่งตอนแรกเราจ้างคนอื่นผลิต เวลาออร์เดอร์เยอะๆ เขาจะเล่นแง่ อยากจะเพิ่มราคาบ้าง อะไรบ้าง เลยทำโรงงานเองดีกว่า ไปขอใบอนุญาตอะไรเรียบร้อย พอเราทำเสร็จมันก็ควบคุมเองได้ โดยทำเป็นรูปแบบบริษัทภายใต้ชื่อ Eatzy

“บริษัทเราก็จะมีทีมงานแต่ละฝ่ายดูแล ฝ่ายโรงงาน ฝ่ายการตลาด ฯลฯ ส่วนเราดูแลภาพรวม วัตถุดิบเข้าอย่างไร จ่ายอะไรไปบ้างแต่ละเดือน เรื่องของประชาสัมพันธ์ แล้วก็สุดท้ายดูแลเรื่องงบประมาณ ค่าใช้จ่าย”

โดยนอกจากส่งออกต่างประเทศ ปัจจุบันข้าวแต๋นโปงลางที่มีให้เลือก 5 รสชาติ ทั้งทุเรียน สาหร่าย ชีส ต้มยำ และลาบ ยังวางขายในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น บิ๊กซี แม็กซ์แวลู พารากอน เดอะมอลล์ โกลเด้น เพลส ตามคำเรียกร้องของแฟนคลับชาวไทยที่อยากลิ้มลองบ้าง นั่นทำให้อี๊ดต้องปรับกลยุทธ์การตลาดโดยอาศัยรายการโทรทัศน์ต่างๆ และช่องทางโซเชียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์ซึ่งได้ผลดีทีเดียว

อย่างเขาว่า “ตอนแรกเราคิดว่าคนส่วนมากก็คงจะไม่ค่อยได้ซื้อ ตลาดในบ้านเราคงไม่เยอะเท่าไหร่ เพราะข้าวแต๋นมีคู่แข่งเยอะในไทย แล้วระดับราคาของเรา คือ ขายปลีกซองละ 35 บาท ปรากฏว่าพอเริ่มออกทีวี มีกระแสออนไลน์ก็มีคนไทยมาซื้อเยอะ เวลาเดินผ่านชั้นวางเขาก็หยิบ หรือที่วางขายตามสถานที่ที่มีทัวร์ เวลานักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนจีนที่ชอบรสทุเรียนมากก็จะซื้อกลับไปคนละลัง สองลัง ทำให้ตอนนี้ธุรกิจอยู่ได้ โรงงานต้องผลิตทุกวัน วันหนึ่งเฉลี่ยๆ 3,000-4,000 ซอง เดือนหนึ่งก็เป็นแสนๆ ซอง มันค่อยๆ โต พอมันโตก็จะได้เป็นมรดกตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปได้”

“รายได้ตอนนี้เลยกลายเป็นว่ามาจากวงโปงลางฯ และข้าวแต๋นควบคู่กันไป อย่างทำวงมันคือธุรกิจดารามันก็ไม่แน่นอน บางเดือนงานเยอะ บางเดือนงานน้อย แต่ว่าข้าวแต๋นมันยืนพื้นอยู่แล้ว มีแต่เพิ่มกับคงตัว คนที่เคยสั่ง ห้างต่างๆ ก็มีแต่สั่งเพิ่มขึ้น น้อยที่จะสั่งลดลง เพราะเราวางบนเชลฟ์ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริงๆ”

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ศิลปินดังบอกเลยว่าไม่ง่าย เพราะนอกจากไม่มีความรู้เรื่องข้าวแต๋น อาศัยแค่ชอบรับประทานจนต้องศึกษาพัฒนาสูตรลองผิดลองถูกมานับไม่ถ้วน เขายังต้องอาศัยความอดทนเป็นอย่างมาก

“ผมว่ามันก็ยาก” เขาสารภาพ

“เราไม่ใช่ว่าลงทุนตู้มเดียวแล้วถ้าไม่ไหวก็หยุดเลย แต่เราต้องอาศัยความอดทนกว่ามันจะติดตลาด เราถึงขั้นไปเล่นดนตรี ไปร้องเพลง ตอนเอาสินค้าไปขอวางขาย ไปใช้ความเป็นตัวเองเข้าไปขอความเห็นใจจากห้างต่างๆ กล้าที่จะเข้าไปบอกว่าผมอยากมีอาชีพ อยากมีธุรกิจ ช่วยเอาสินค้าเราไปชิมให้หน่อย พอเขาเห็นใจให้เราไปวางขายแล้วมันขายได้ทีนี้ก็ยาว พอปีใหม่เราก็พาวงไปสวัสดี ไปเล่นโปงลาง มันก็ได้อานิสงส์จากโปงลางด้วย”

“โดยต่อไปเราก็จะต่อยอดไปเรื่อยๆ จะมีสินค้าอีกหลายตัวที่เข้ากับเรา เป็นของพื้นบ้านที่มาใส่บรรจุภัณฑ์สวยๆ แล้วออกขายภายใต้แบรนด์อีทซี่”

 แฟรนไชส์ชาบูฯ… คุณภาพต้องมาก่อน

ร้านชาบู ซูชิ แซ่บเวอร์ คือธุรกิจถัดมาของอี๊ด โปงลางฯ ที่เริ่มเดินหน้าในปี 2561 กับร้านแรกสาขาโลตัส กุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนสาขา 2 มีคนสนใจซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดที่จังหวัดตราด

“ร้านชาบูก็เกิดจากความชอบทาน” เจ้าของร้านบอกยิ้มๆ

“เราอยากทำเพราะพอโตถึงช่วงอายุหนึ่งก็อยากมีอะไรที่นอกจากข้าวแต๋น เราทำมาเยอะ ทำค่ายมวยทำอะไรเราก็ทำแต่มันเจ๊งเพราะว่าไม่ถนัด บวกกับพี่ชายอยู่กาฬสินธุ์เขาอยากเปิด เราก็เอาสิ ลองดู เรานานๆ ไปดูทีแต่พี่ชายก็ช่วยดูแลอยู่ ซึ่งที่กาฬสินธุ์ก็อยู่ได้แล้ว”

นั่นทำให้เขาเห็นช่องทางขยับขยายด้วยการขายแฟรนไชส์เพื่อให้คนในพื้นที่อื่นๆ ได้ลิ้มลองความสดของเนื้อสัตว์ ผัก รวมถึงน้ำซุปรสเด็ด และน้ำจิ้มรสแซ่บ ทว่านั่นกลับก่อให้เกิดปัญหาขึ้น

“พอเราทำได้สักพักจะเห็นปัญหาคือ พอต่างจังหวัดไปไกลๆ ทีมซัพพลายเออร์ที่เป็นทีมดูแลลูกค้าก็ดูแลไม่ทั่วถึง เราเลยห่วงเรื่องคุณภาพ แล้วแฟรนไชส์ที่ขายไป ถ้าไม่ไปดูแลใกล้ชิดรับรองว่าสูตรมันจะเพี้ยน น้ำจิ้ม วัตถุดิบ เราก็เลยอย่าเพิ่งขยาย ขอให้ทีมมันแน่นกว่านี้จึงหยุดไว้ที่ 2 สาขา แล้วก็ปรับกลยุทธ์ใหม่ว่าอาจจะทำในกรุงเทพฯ โซนที่เราสามารถควบคุมได้ดีกว่า”

 รวงผึ้งสร้างโอกาส 1 ตำบล 1 ตัวแทน

แม้การขยายแฟรนไชส์ของร้านชาบูฯ จะต้องหยุดไว้ แต่อี๊ดก็ยังเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป โดยล่าสุดเป็นผลิตภัณฑ์รวงผึ้งฮันนี่อี๊ดโกลด์

มีน้องแฟนคลับทำธุรกิจด้านนี้ เขาก็โทรมาคุยว่าน่าสนใจมาก รวงผึ้งเป็นเรื่องของสุขภาพ มีประโยชน์กับตับ ไต ล้างสารพิษ ใช้แทนน้ำตาล ช่วยเรื่องความดัน เบาหวาน เราก็ชอบทานอยู่แล้วด้วยเลยเดินทางไปดูที่ฟาร์มที่เชียงใหม่ เห็นว่าน่าเป็นไปได้เลยคุยแผนการตลาดกัน” เจ้าตัวเล่าถึงธุรกิจล่าสุด

ธุรกิจที่ร่วมกับหุ้นส่วนเจ้าของฟาร์มผึ้ง โดยเขารับหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ผลิตสื่อต่างๆ เผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดียซึ่งจะเป็นสื่อหลักในการติดต่อสื่อสารกับตัวแทนจำหน่าย

“เราจะขายผ่านโซเชียลมีเดีย โดยมีตัวแทนจำหน่ายตำบลละ 1 ท่าน ซึ่งเราตกใจว่าพอเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ Honeybee รวงผึ้ง” ไม่กี่ชั่วโมงมีคนมาสมัคร 300-400 คน เราถึงต้องไปเปิดบริษัทที่เชียงใหม่ แถวอำเภอหางดง ใกล้ๆ ฟาร์ม โดยแผนการตลาดที่เราทำเป็นอะไรที่ง่ายมากๆ เรารับ 1 คน ต่อ 1 ตำบล แล้วก็จะมีค่าสมัครคนละ 2,900 บาท ได้รวงผึ้ง 2 กล่อง แล้วก็ได้เว็บไซต์ ได้สื่อโฆษณา เพื่อจะได้นำไปเปิดให้ลูกค้าที่อยู่ในตำบลตัวเองดู ซึ่งการขายจะข้ามตำบลไม่ได้”

“คนที่เป็นตัวแทนไม่ต้องสต๊อกของ ไม่ต้องส่งของ บริษัทดูแลหมด เพียงแค่คุณขายรวงผึ้งขนาด 300 กรัม ราคา 350 บาท ให้กับลูกค้า เงินจะส่งเข้าบริษัท 250 บาท เพื่อจัดส่งตามที่คุณสั่ง คุณก็ได้กำไรไปเลยต่อกล่อง เอาแบบง่ายๆ แบบนี้” เขาว่า

พร้อมกับย้ำ “ยืนยันว่าไม่ใช่ระบบขายตรง เราแค่เป็นสมาชิก เป็นตัวแทน ไม่ต้องสต๊อกของ ไม่ต้องสมัครอีกครั้ง และส่งต่อให้ลูกให้หลานได้ เพราะเป้าหมายเราอยากให้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างตัวแทน ให้เขาสามารถร่ำรวยยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมันเป็นการทำธุรกิจของตัวเองที่ไม่ต้องไปลงทุนเยอะ แค่ใช้เงินไม่กี่บาทแต่มีคนดูแลให้ทั้งหมด อย่างตาสีตาสาอยู่เถียงนาอยากขาย คุณจะได้เรียนรู้ว่าขายผ่านออนไลน์เป็นยังไง อยากให้คนที่อาจจะไม่ต้องอยู่ในเมืองมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แล้วเขาสามารถเอาไปปรับใช้กับการขายสินค้าอื่นได้ แม้รายได้ที่เราได้ต่อกล่องอาจจะน้อย แต่ถ้าตัวแทนสร้างตัวได้ พวกเราก็มีความสุขแล้ว”

“ส่วนธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ เราจะรอดูว่ามีอะไรเข้ามาแล้วค่อยพิจารณาว่าไปได้ไหม เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องทำทีละอย่าง ทำหลายอย่างก็ได้ ถ้าเราเข้าใจ เราถนัด เราชอบในสินค้าตัวนั้น”

เช่นเดียวกับข้าวแต๋น ชาบู และรวงผึ้ง ที่กว่าจะกลายเป็นธุรกิจทำเงินก็ล้วนเริ่มต้นมาจากความชอบ