“ปรุง” ร้านอาหาร “โป้ โยคีเพลย์บอย” ครัวชุมชนมีบริการดีลิเวอรี่

 ประสบผลสำเร็จกับการทำธุรกิจอาหารผ่านช่องทางจำหน่ายในโลกออนไลน์มาแล้ว การต่อยอดธุรกิจให้ก้าวไปสู่หน้าร้าน จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่คุณปิยะ ศาสตรวาหา และคุณอภิชนา ศาสตรวาหา ลงมือทำ จนเกิดเป็นร้าน “ปรุง” ครัวของชุมชน โดยมีระบบการขายผ่าน 2 ช่องทาง ดีลิเวอรี่+ หน้าร้าน ที่สามารถเข้าถึงเป้าหมาย “คนเมือง”

ดีลิเวอรี่สู่หน้าร้าน
ปรุงจากใจ ใส่รสมือ         

คุณปิยะ ศาสตรวาหา หรือ “โป้ โยคีเพลย์บอย” บอกเล่าเรื่องราวถึงบทบาทใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในชีวิตกับการทำธุรกิจร้านอาหารว่า เกิดจากตนเองและภรรยาได้วางแผนเติมเต็มชีวิตคู่โดยมีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจ แต่ด้วยขณะนั้นทั้งสองยังรับบทบาททำงานนอกบ้านด้วยกันทั้งคู่

ฉะนั้นถ้าจะมีลูก จึงต้องมีใครคนใดคนหนึ่ง ก้าวเข้ามารับหน้าที่นี้แบบเต็มร้อย และว่าที่คุณแม่ คุณอภิชนาศาสตรวาหา หรือคุณหนูเล็ก คือผู้เสียสละอย่างเต็มใจ

“เรา 2 คนมีความคิดเห็นตรงกันว่า ถ้ามีลูกก็ต้องการเลี้ยงเอง กระทั่งตั้งท้อง จึงสรุปว่า ภรรยายอมออกจากงาน แต่เราก็มองหาธุรกิจเล็กๆ ที่สามารถจะทำควบคู่ไปกับการดูแลลูกได้”

ด้วยเพราะคุณแม่ของคุณหนูเล็กมีพรสวรรค์ ถนัดปรุงรสอาหาร โดยเฉพาะอาหารปักษ์ใต้ โดยมีสูตรทำทานมากมาย จนเมื่อเห็นว่าบุตรสาวต้องการสร้างอาชีพจึงหยิบยื่นสูตรพร้อมสอนการปรุงรสให้อย่างเต็มอกเต็มใจ

“เมื่อประมาณ 3 ปี เรามองว่า จะทำอาหารผ่านช่องทางจำหน่ายด้วยระบบออนไลน์ ทำเป็นดีลิเวอรี่ แต่ว่าขณะนั้นคุณแม่และผู้ใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าจะไปรอดได้ อย่างไร เพราะดีลิเวอรี่เป็นอะไรที่ใหม่มาก แต่ก็ขอโอกาสท่านในการลองทำ ซึ่งคุณแม่บอกว่า ถ้าอย่างนั้นสอนให้สูตรเดียวก่อน คือขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้” คุณหนูเล็ก เล่าถึงจุดเริ่มต้นกับการขายอาหารผ่านช่องทางดีลิเวอรี่

หลังเปิดโลกออนไลน์ ปรากฏว่าเสียงตอบรับดี มียอดสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง ผู้ใหญ่จึงเห็นเป็นว่าช่องทางนี้สามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัวบุตรสาว จึงสอนเพิ่มเติมเมนูต่างๆ ให้

ร้านปรุง ในรูปแบบดีลิเวอรี่ จึงมีชื่อเสียง ส่งผลให้คุณโป้ และคุณหนูเล็ก ต้องหันหน้ามาคุยถึงการต่อยอดสร้างหน้าร้านเป็นของตนเอง เพราะเชื่อว่ายังมีกลุ่มเป้าหมายที่หวังนั่งทานอาหารนอกบ้านภายใต้บรรยากาศอบอุ่น

 

โชว์อาหารปักษ์ใต้
ตั้งไว้เป็นครัวชุมชน

บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านชลนิเวศน์ ย่านถนนประชาชื่น จึงเป็นทำเลที่คุณโป้ และคุณหนูเล็ก เลือกลงทุนสร้างร้านอาหารขนาด 40 ที่นั่ง โดยมีเมนูอาหารให้ลูกค้าเลือกกว่า 30 รายการ แต่เมนูฮิตติดลมบนได้ในเวลาอันรวดเร็ว ราว 10 รายการ อาทิขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ ขาหมูน้ำแดงสูตรโบราณทานคู่หมั่นโถว ก๋วยเตี๋ยวบกชาววัง ผัดสะตอกะปิกุ้งหมูสับ แกงเหลืองคูนปลากะพง สะโพกไก่อบราดซอสเกรวี่ เต้าหู้ทอดเกลือ เชิงปลากรายทอดกรอบ

ส่วนราคาขายตั้งไว้ปานกลาง โดยเริ่มต้นประมาณ 80-240 บาท (สำหรับอาหารจานปกติ) ซึ่งคุณหนูเล็กว่า กับราคาอาหารตั้งไว้ไม่ต่างจากดีลิเวอรี่

“ตอนนั้นเรามองว่าฐานลูกค้าเริ่มกว้างขึ้น และตั้งแต่เริ่มต้นภรรยาก็เป็นคนลงมือทำเอง เขาชอบทำอาหารมาก การขยายร้านจะทำให้เกิดพื้นที่พบปะลูกค้า ทั้งยังให้ลูกค้าได้สัมผัสบรรยากาศที่บ่งบอกถึงความเป็นเรา ส่วนแนวทางของรสชาติอาหารไม่ได้มีอะไรมากเลยครับ แค่ทำทานอย่างไร ก็ทำขายอย่างนั้น”

ครัวของชุมชน คือสิ่งที่ทั้ง 2 ผู้ประกอบการวางแนวทางไว้ ซึ่งกับการเปิดตัวมาได้ 1 ปีเต็ม ก็ถือว่ามีทิศทางเป็นเช่นนั้นจริง เพียงแต่อาจเพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจ ยอดขายจึงไม่เป็นไปตามควร แต่ทว่ากับตัวเลขแตะหลักแสนบาทต่อเดือน ก็ถือเป็นตัวเลขอยู่ในเกณฑ์พึงพอใจ

“ผมต้องการให้ร้านปรุงเป็นครัวของชุมชน และสามารถยืนหยัดอยู่ได้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ฉะนั้นในส่วนของเราฐานะผู้เริ่มต้น การเจอปัญหาไม่ว่าจะพิษเศรษฐกิจ คู่แข่งขัน หรือใดๆ ก็ตาม เรามองว่านั่นคือสิ่งที่ต้องเจอ และยิ่งถ้าเจอเร็วก็ยิ่งตั้งรับได้เร็ว ฉะนั้นกับ 1 ปีที่ดำเนินการมา แม้จุดเริ่มต้นขรุขระ แต่ก็มองว่าร้านยังคงก้าวต่อไปได้เรื่อยๆ ฐานลูกค้าก็เพิ่มมากขึ้น”

คุณโป้ และคุณหนูเล็ก ยังกล่าวถึงกลุ่มลูกค้า พบว่าแยกส่วนกับดีลิเวอรี่ โดยลูกค้าหน้าร้านจะได้คนใกล้ ส่วนดีลิเวอรี่จะกินพื้นที่กว้างออกไป

“อย่างคนอยู่ไกล หรือเดินทางมาร้านไม่สะดวก ดีลิเวอรี่จึงเป็นช่องทางที่เขาเลือก แต่ว่าคนในละแวกใกล้เคียง ไม่ว่าจะกลุ่มครอบครัว คนทำงาน จัดเลี้ยง จะมาที่ร้าน ซึ่งการออกแบบร้านของเราจะเน้นให้อยู่ในบรรยากาศเป็นกันเอง จัดวางโต๊ะให้ห่างกัน เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว เด็กๆ สามารถวิ่งเล่นได้เหมือนบ้านตัวเอง”

 

ดีลิเวอรี่ไปได้ไกล
ตอบไลฟ์สไตล์คนเมือง

ด้วยเพราะทำเลตั้งร้าน ต้องบอกว่าไม่ใช่ทำเลธุรกิจ ในขณะคู่แข่งขันสูง แต่กระนั้นก็ยังมีลูกค้าแวะเวียนมาไม่ขาดช่วง ทั้ง 2 ผู้ประกอบการว่า ต้องอาศัยประชาสัมพันธ์ผ่านโลกออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ซึ่งเป็นช่องทางเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ นอกจากนั้นยังวางแผนกับการลงพื้นที่โฆษณา

แต่เหนืออื่นใด และถือเป็นช่องทางส่งผลให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนคือ การบอกต่อ ฉะนั้นคุณภาพ รสชาติ การบริการ ต้องอยู่บนพื้นฐานความพึงพอใจ

“ด้วยเพราะที่ผ่านมา ปรุงประชาสัมพันธ์ผ่านออนไลน์มาตลอด จึงไม่เฉพาะลูกค้าที่รู้จักเรา แต่สื่อก็รู้จักเราไปด้วย ทำให้ร้านได้รับโอกาสในการบอกเล่าผ่านสื่อหลายแขนง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ต้องขึ้นกับความพึงพอใจของลูกค้า ผมว่าการบอกต่อเป็นกระบอกเสียงสำคัญมาก”

กับการขยายธุรกิจมาสู่หน้าร้าน ซึ่งกำลังซื้อมากขึ้น ลำพังคุณหนูเล็กคงรับมืองานปรุงรสและงานบริการได้ไม่ทั่วถึง จึงต้องอาศัยกำลังคนเข้ามาเสริมให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้จ้างแรงงาน 5 คน โดยอยู่ฝ่ายครัว 3 คน และฝ่ายบริการ 2 คน

“ร้านอาหารขนาดนี้ฝ่ายครัวควรมี 4 คน เราจึงรับเข้ามาเสริม 3 คน โดยหนูเล็กยังคงทำหน้าที่และคอยตรวจเช็กอาหารอยู่เช่นเดิม ส่วนบริการก็ควรมี 4 คน ซึ่งผมอาจไม่ได้เข้ามาเต็มตัว เพราะมีงานหลักต้องรับผิดชอบ แต่จะดูแลด้านเงินทุนและการบริหาร ตำแหน่งดูแลจึงมีหุ้นส่วนอีกคนเข้ามาประจำ ทำให้ตอนนี้การทำงานไม่ได้รับผลกระทบอะไร”

แม้จะมีหน้าร้านเป็นของตนเองแล้ว แต่ในส่วนของดีลิเวอรี่ ทั้ง 2 ผู้ประกอบการว่า ไม่ละทิ้งอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าจะเป็นส่วนส่งเสริมรายได้ดีกว่า

“รายได้ตอนนี้จะมาจาก 2 ทางคือหน้าร้านเป็นหลักราว 60 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย และดีลิเวอรี่ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่เรามองว่า ดีลิเวอรี่คือตลาดที่สามารถขยายได้อีกกว้าง โดยดูจากการใช้ชีวิตของคนเมือง แต่ละคนทำงานนอกบ้าน เวลาส่วนตัวเหลือน้อยมาก อีกทั้งสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ถือว่าติดขัด ลำบากต่อการเดินทางไปทานอาหารนอกบ้าน ฉะนั้นดีลิเวอรี่จึงเป็นทางออก และเราก็มองเห็นโอกาสตรงนี้ จึงวางแผนไว้ว่าจะเพิ่มช่องทางโฆษณาประชาสัมพันธ์ในส่วนของดีลิเวอรี่ให้มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเห็นและรู้จักเรามากกว่าที่เป็นอยู่”

สนใจเดินทางมาร้าน “ปรุง” ตั้งอยู่เลขที่ 39 หมู่บ้านชลนิเวศน์ ถนนประชาชื่น ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ (087)352-3566 หรือคลิกwww.facebook.com/prung.thai.recipes, Instagram : @prungkitchen, Line : apiyashina