ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตระหนักถึงความสำคัญในการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตยาง และผลักดันให้มีการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยจัดหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อถ่ายทอดความรู้การแปรรูปยางให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบกิจการยาง สามารถสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตของตนเองได้
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้กำหนดหลักสูตรการอบรมความรู้แปรรูปยางประเภทต่างๆ เช่น การผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำยางข้นชนิดครีม เทคโนโลยียางแห้งเบื้องต้น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยางโดยวิธีจุ่ม การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยางโดยการตีฟองเพื่อผลิตของชำร่วย การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยางโดยการตีฟอง การแปรรูปยางรัดของจากยางแห้ง การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ยางแห้งโดยการอัดเบ้าพิมพ์ การทำเบ้าปูนปลาสเตอร์และการทำตุ๊กตายาง หน้ากากยาง การผลิตหมอนยางพารา ฯลฯ
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 02-940-7391 อีเมล [email protected] หรือ การยางแห่งประเทศไทย ทุกสาขา
“สระน้ำยางพารา” ทำได้ง่าย
งานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ที่จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 13-19 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดบึงกาฬ ได้นำเสนอนิทรรศการ “นวัตกรรมยางพารา สร้างมูลค่าเพิ่ม” ครอบคลุมตั้งแต่ “ต้นน้ำ” – เน้นการผลิตวัตถุดิบคุณภาพดี และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ “กลางน้ำ” – ส่งเสริมการแปรรูปยางขั้นต้น “ปลายน้ำ” – เน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และนิทรรศการ “เกษตรกรรมใหม่ ทดแทนการปลูกยาง” เช่น การทำสวนผลไม้ (ลิ้นจี่ ทุเรียน กล้วย) การเลี้ยงแพะในสวนยาง การปลูกพืชสมุนไพรและเลี้ยงไก่งวงในสวนยาง
หนึ่งในมุมนิทรรศการที่น่าสนใจคือ “สระน้ำยางพารา” ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางเลือกสำหรับแปรรูปยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม คุณไอศูรย์ แสนคำ ผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดบึงกาฬ (ผอ.กยท.จังหวัดบึงกาฬ) เปิดเผยว่า กยท.จังหวัดบึงกาฬ ได้นำเสนอแนวคิดการจัดสร้าง “สระน้ำหรือบ่อน้ำเคลือบยางพารา” เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ
“สระน้ำหรือบ่อน้ำเคลือบยางพารา” มีคุณสมบัติที่โดดเด่น สามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตรและทำการประมงได้ มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปี ไม่ต้องใช้เงินทุนมากนัก สำหรับสระน้ำหรือบ่อน้ำเคลือบยางพารา ที่มีขนาด 4×2 เมตร มีต้นทุนการผลิตเพียงแค่ 4,500 บาท เท่านั้น สามารถโยกย้ายบ่อน้ำเคลือบยางพาราไปได้ทุกพื้นที่ที่ต้องการ หากสระน้ำหรือบ่อน้ำเคลือบยางพาราชำรุด สามารถนำน้ำยางพารามาซ่อมแซมก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ
บ่อน้ำเคลือบยางพารา ทำได้ง่าย มีขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก 1.เริ่มจากจัดเตรียมน้ำยางคอมปาวด์ บ่มทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 24 ชั่วโมง 2.ตัดเย็บผ้าด้ายดิบให้เป็นรูปทรงสระน้ำหรือบ่อตามที่ต้องการ 3. หลังจากนั้นนำน้ำยางคอมปาวด์ทาบนผ้าด้ายดิบ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นจึงค่อยนำไปใช้งานได้
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดบึงกาฬ โทรศัพท์ 042-492-194
สำหรับบ่อน้ำเคลือบยางพารา ที่ กยท.จังหวัดบึงกาฬ นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เป็นผลงานของ บริษัท สยามพาราเซ็นเตอร์ จำกัด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 086-732-2678, 085-033-4678 ที่ใช้เทคโนโลยีเคลือบสระน้ำ บ่อน้ำด้วยสูตรน้ำยางธรรมชาติ (น้ำยางคอมปาวด์) เพื่อป้องกันน้ำซึมลงสู่ผิวดินหรือกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ สามารถใช้ได้กับสระน้ำหรือบ่อน้ำทุกประเภท ทั้งภาคเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อน้ำอเนกประสงค์
บริษัท สยามพาราเซ็นเตอร์ จำกัด เป็นผู้ผลิตน้ำยางพารากรีน (น้ำยางคอมปาวด์) ได้ให้คำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่ต้องการผลิตสระหรือบ่อยางพาราด้วยตัวเองว่า ต้องเตรียมพื้นที่ให้เรียบ พื้นบ่อต้องไม่มีสิ่งแหลมคม เช่น รากไม้ หิน ขอบปากบ่อดินต้องแน่นและต้องทำร่องกันน้ำเซาะบ่อ ห่างจากปากบ่อประมาณ 50 เซนติเมตร ความลึกของบ่อสามารถทำได้หลายระดับตามความสะดวกของพื้นที่ แต่ไม่ควรลึกน้อยกว่า 50 เซนติเมตร ในบ่อและด้านข้างของบ่อต้องเรียบ
การทำขอบบ่อสามารถทำได้หลายวิธี เช่น กรณีที่ขุดบ่อได้ตามขนาดของบ่อสำเร็จรูปที่มีความลึก 80 เซนติเมตร ให้ตรึงชายผ้าลงไปในดินโดยใช้เหล็กเสียบกับผ้าให้แนบกับดินให้เรียบร้อย กรณีที่ไม่สามารถขุดได้ลึก แนะนำให้ทำราวเพื่อยึดบ่อให้ตรึงโดยวิธีเจาะตาไก่และใช้เชือกร้อยตามรูของตาไก่
ขั้นตอนการทำสระหรือบ่อน้ำเคลือบยางพารา เกษตรกรควรเตรียมแผ่นผ้าด้ายดิบให้เท่ากับพื้นที่ที่ต้องการปู สำหรับ พื้นที่ 1 ตารางเมตร จะใช้น้ำยางคอมปาวด์ 1 กิโลกรัม การปูสระยาง ต้องทำสองชั้น ทั้งผ้าและน้ำยางเพื่อความคงทน จากนั้นนำน้ำยางพาราเคลือบลงไปบนผืนผ้าให้น้ำยางซึมผ่านลงบนผืนผ้าและปล่อยให้แห้งก่อน จึงค่อยทำชั้นที่สองต่อไป เสร็จแล้วทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้น้ำยางแห้งสนิทได้ดีจึงค่อยปล่อยน้ำลงไป
สวนยางพาราบึงกาฬในวันนี้
คุณไอศูรย์ แสนคำ ผอ.กยท.จังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ปลูกยางพารา จำนวน 840,000 ไร่ เปิดกรีดแล้ว 770,000 ไร่ กยท.จังหวัดบึงกาฬ ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน (พอย.) กิจกรรมส่งเสริมการลดพื้นที่ปลูกยาง โดยตัดโค่นสวนยางเดิมและการส่งเสริมให้ผู้ปลูกยางพาราปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมใหม่ เช่น การเลี้ยงสัตว์ หรือการปลูกพืชผัก ผลไม้ โดยมีเป้าหมายลดพื้นที่สวนยางที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน แต่ต่ำกว่า 25 ปี จำนวน 150,000 ไร่ ทั่วประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาราคายางตกต่ำ และช่วยเพิ่มรายได้รวมไปถึงสร้างทางเลือกในอาชีพ เพื่อความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง มีเกษตรกรชาวสวนยางพาราบึงกาฬสนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวน 4,500 ราย เนื้อที่ 6,900 ไร่
เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการเป็นเกษตรกรฯ ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับ กยท. และมีสวนยางตั้งอยู่บนที่ดินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ถือครองพื้นที่สวนยางอยู่ไม่เกิน 50 ไร่ โดยจะได้รับเงินทุนอุดหนุน ไร่ละ 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 10 ไร่ ต่อราย โดย กยท.จังหวัดบึงกาฬ มอบทุนอุดหนุนให้เกษตรกรฯ นำไปพัฒนาอาชีพการเกษตรอื่นๆ โดยจ่ายงวดที่ 1 ไร่ละ 4,000 บาท หลังจากเกษตรกรโค่นต้นยางแล้ว จ่ายงวดที่ 2 ไร่ละ 6,000 บาท เมื่อเกษตรกรเข้ารับการอบรมตามแผนพัฒนาอาชีพและดำเนินการตามแผนพัฒนาอาชีพแล้วเสร็จ