เจาะลึกเบื้องหลัง “เครื่องทองลงหิน” งานหัตถกรรมเลอค่าควรอนุรักษ์

นับเป็นปูชนียบุคคลด้านงานหัตถกรรมเครื่องทองลงหิน เพราะสั่งสมประสบการณ์งานด้านนี้มายาว นานกว่าครึ่งศตวรรษ สำหรับ คุณสมคิด ด้วงเงิน ปัจจุบันเป็นเจ้าของ “ศูนย์หัตถกรรมทองลงหิน”ย่านบางบัว กรุงเทพฯ ซึ่งงานหัตถกรรมเครื่องทองลงหิน นับเป็นกรรมวิธีผลิตเครื่องใช้สอยแฮนด์เมดเล่อค่า ลูกค้าต่างชาติชอบ ขายสมค่าเหนื่อย ช้อน-ส้อม คู่ละ 500 บาท ช้อนกาแฟ ชิ้นละ 100 บาท

“เครื่องทองลงหิน (BRONZE WARE )” มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน และนำเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการนำดีบุก และทองแดงผสมกันแล้วหลอมเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ พร้อมกับแกะสลักตกแต่งด้วยลวดลายที่สวยงาม ประณีต ไม่ว่าจะเป็นช้อน ทัพพี มีด ส้อม ที่คีบน้ำแข็ง หรือแม้แต่ของที่ระลึกสำหรับไว้แจกในโอกาสวาระต่างๆ อาทิ ที่เปิดขวด พวงกุญแจ หรือแม้กระทั่งพระพุทธรูปและงานศิลปวิทยาการต่างๆ ล้วนทำมาจากงานหัตถกรรมทองลงหินทั้งนั้น

แหล่งผลิตงานหัตถกรรมเครื่องทองลงหินในปัจจุบัน พบว่าจำนวนผู้ผลิตเหลือน้อยราย อีกทั้งเป็นการผลิตในอุตสาหกรรมครัวเรือน เพราะถูกสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่าชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นอาศัยในชุมชนประดิษฐ์โทรการ ย่านบางบัว กรุงเทพฯ ยังประกอบอาชีพงานหัตถกรรมทองลงหินอยู่ โดยรวมตัวกันจัดตั้งเป็นศูนย์หัตถกรรมทองลงหินขึ้น และมี คุณสมคิด ด้วงเงิน เป็นแกนนำที่สำคัญ ซึ่งแต่เดิมทำงานเป็นช่างทองลงหินในชุมชนประดิษฐ์โทรการ กระทั่งตัดสินใจออกมาสร้างเป็นอาชีพเป็นของตัวเอง

สมคิด ด้วงเงิน

คุณสมคิด เป็นชาวพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันอายุ 77 ปี ประกอบอาชีพงานหัตถกรรมทองลงหิน มากว่า 50 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าของ “ศูนย์หัตถกรรมทองลงหิน” แล้วยังเป็นปูชนียบุคคลร่วมสมัยที่เชื่อมโยงงานหัตถกรรมทองลงหินจากรุ่นเก่าจนถึงสมัยปัจจุบัน

ในยุคที่ตลาดคึกคักมียอดการสั่งงานเข้ามาจากร้านจิวเวลรี่แถวเจริญกรุง สีลม อย่างไม่ขาดระยะ หรือแม้แต่ตลาดต่างประเทศที่สนใจงานประเภทนี้อย่างมาก จนต้องหาคนมาทำงานเพิ่ม พร้อมกับส่งกระจายตามกลุ่มเพื่อนบ้านรอบชุมชนที่ประกอบอาชีพเดียวกันทำ ช่วยให้คนในชุมชนทุกครัวเรือนมีงานทำทุกคน แล้วยังมีส่วนทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

ลุงสมคิด บอกว่า การจัดทำชิ้นงานขึ้นมาสักชิ้น จะเริ่มต้นด้วยการได้รับออร์เดอร์จากลูกค้า ซึ่งเป็นแบบตัวอย่างที่ลูกค้าออกแบบเอง หรือหากไม่มี ทางศูนย์เป็นผู้ออกแบบให้ สำหรับแบบสินค้าที่สั่งทำจะต้องมีรายละเอียดหลายประการ อาทิ ความกว้าง ยาว หนา ตามลักษณะที่มีความพิเศษของส่วนผสม

ดังนั้นการกำหนดราคาของสินค้าแต่ละชนิดจึงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของรายละเอียดงานแต่ละชนิด สำหรับแม่พิมพ์ที่ใช้มี 2 ชนิดคือแม่พิมพ์ดินที่มักใช้กับการขึ้นรูปทรง กับแม่พิมพ์เหล็กใช้ในกรณีที่เป็นงานแกะสลักที่มีรายละเอียดมากซึ่งการจะนำแม่พิมพ์ชนิดใดมาใช้ขึ้นอยู่กับชนิดงานที่ลูกค้าสั่งเป็นหลัก

แม่พิมพ์ดินจะมีกรรมวิธีและขั้นตอนตามอย่างโบราณ คือ จะต้องเป็นดินที่นำมาจากก้นคลองที่ปราศจากกรวดหรือเม็ดทราย เม็ดหอย เพราะมิเช่นนั้นก็จะต้องกรองด้วยผ้าขาวบางก่อน คล้ายๆ กับการกรองแป้งทำขนมจีน ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ความละเอียด จากนั้นจึงนำมาผสมกับขี้เถ้า ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 (ขี้เถ้า 3 ส่วน ดิน 1 ส่วน) แล้วใช้เท้าย่ำเป็นเวลานานจนเมื่อหยิบขึ้นมาแล้วไม่ติดมือ จึงถือว่าใช้ได้ หลังจากนั้น ให้นำมาปั้นเป็นรูปแล้วผึ่งไว้ในร่มก่อน

ทางด้านการตลาด เจ้าของกิจการกล่าวยอมรับว่าในช่วงหลังปัญหาที่พบมากคือตลาดลดลงเนื่องจากงานหัตถกรรมประเภทนี้ค่อนข้างดูแลรักษายาก อีกทั้งยังนำไปใช้งานได้บางกลุ่มและบางสถานที่เท่านั้น จึงได้รับความสนใจจากลูกค้าไม่มากเหมือนเมื่อก่อน เพราะเป็นชิ้นงานที่มีความสวยงาม มีคุณค่าและโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ มากกว่างานสเตนเลส

แต่อย่างไรก็ตาม ความนิยมยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ที่มีถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนการสั่งผลิต โดยตลาดต่างประเทศส่วนมากอยู่ในแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป เป็นพวก ช้อน ส้อม กำไล ส่วนประเภทอื่นๆ ก็มีคละกันไป

สำหรับตลาดในประเทศตอนนี้มีร้านที่รับไปจำหน่ายหลักคือที่นารายภัณฑ์ ส่วนลูกค้ารายย่อยมักมาสั่งผลิตเพื่อไปถวายวัด หรือลูกค้าสั่งในวาระพิเศษให้ผลิตเป็นของชำร่วยที่มักเป็นพวงกุญแจหรือช้อนกาแฟ และส่วนน้อยที่สั่งทำไว้ใช้เอง หรือมีลูกค้าแวะเวียนมาเลือกซื้อบ้าง อย่างช้อน-ส้อม คู่ละ 500 บาท ช้อนกาแฟ ชิ้นละ 100 บาท

คุณลุงสมคิด บอกว่า การสั่งผลิตสินค้าในตอนนี้ถ้าผลิตจำนวนมากเป็นหลักหมื่นชิ้น ต้องสั่งล่วงหน้าเป็นเดือนเพราะช่างทำมีน้อยกว่าเมื่อก่อน อีกทั้งจะผลิตเท่ากับจำนวนชิ้นงานที่สั่ง โดยจะไม่สต๊อกไว้เนื่องจากรูปแบบของงานไม่เหมือนกัน อีกทั้งรสนิยมความชอบของลูกค้าแตกต่างกัน

คุณลุงยังแสดงความเป็นห่วงงานหัตถกรรมประเภทนี้ว่า นับวันคนที่มีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญด้านงานหัตถกรรมทองลงหินยิ่งลดน้อยลง จะเหลือที่ทำกันอยู่ก็จะเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่นับวันจะสูญหายตายจากไปพร้อมกับวิชาความรู้ จึงมองว่าในอนาคตหัตถกรรมงานชิ้นนี้คงเหลือแต่ตำนานเท่านั้น

ดังนั้น จึงขอฝากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน จะต้องร่วมมือกันหาวิธีฟื้นฟูให้กลับมาเป็นงานหัตถศิลป์ที่อยู่กับประเทศไทย และเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นลูก รุ่นหลาน ได้เรียนรู้ต่อไป ขณะเดียวกัน คุณลุงยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้โดยร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เพื่อส่งนักศึกษามาเรียนตามหลักสูตรไม่น้อยกว่า 3 เดือน

นอกจากนั้นทางศูนย์หัตถกรรมยังได้เปิดสอนงานทองลงหินให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจและอยากสืบทอดความรู้ แต่อยากบอกว่าหากใครมีความสนใจจริงๆ ไม่ใช่แค่อยากอย่างเดียว แต่ควรมีความสนใจและใจรักด้วยความมุ่งมั่น อย่างไรก็ตาม หากคุณสามารถมาเรียนรู้ ฝึกหัดให้เป็นผู้ชำนาญเพียงไม่กี่เดือนก็สามารถทำได้เก่งแล้ว และผมยินดีถ่ายทอดความรู้ให้ทุกอย่างเท่าที่ทำได้

นอกจากคุณสมคิดจะมีบทบาทในฐานะเจ้าของกิจการของศูนย์หัตถกรรมทองลงหินแล้ว ยังมีบทบาทต่อชุมชนประดิษฐ์โทรการ ในฐานะประธานชุมชนโดยมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ทุกครอบครัว พร้อมกับมีการวางโครงสร้างชุมชนออกเป็นกลุ่มต่างๆ ในการบริหารงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง อันได้แก่ กลุ่มงานอาชีพ ที่ได้รับงานมาจากทางศูนย์หัตถกรรม แล้วป้อนงานให้กลุ่มอาชีพนำไปกระจายส่งต่อแต่ละครัวเรือน ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องกัน จึงตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์เข้ามาเพื่อช่วยบริหารด้านการเงิน

“อยากจะเชิญชวนผู้ที่มีความสนใจจริงมาเรียนรู้ หรือหันมาช่วยกันอนุรักษ์งานหัตถกรรมทองลงหินที่มีความเก่าแก่โบราณแบบนี้ให้คงอยู่คู่กับประเทศชาติเราสืบต่อไป เพราะว่าผู้ที่มีความรู้ในวิชาชีพนี้ยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้” ลุงสมคิด กล่าวฝาก

ท่านที่สนใจและมีความประสงค์จะสั่งทำผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมทองลงหินหรือต้องการทราบรายละเอียดการอบรม สามารถติดต่อได้ที่ คุณสมคิด ด้วงเงิน ศูนย์หัตถกรรมทองลงหิน เลขที่ 13 ซอยพหลโยธิน 47 ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ (02) 579-2861, (081) 936-3447