“เมียนมา” ในแง่มุมที่คนไทยต้องเรียนรู้

ค่าครองชีพในเมียนมา (พม่า) สูงมาก ถ้าคิดจะทำธุรกิจในประเทศนี้ ต้องดูสไตล์ ถ้าจับทางถูก อนาคตสบาย คนรวยในพม่าชอบช็อปปิ้งที่เมืองไทย ไปทำศัลยกรรม ไปโรงพยาบาล อาหารตอนเช้า คนพม่านิยมกินน้ำยาปลา คนพม่าไม่ชอบกินของหวาน คนพม่าชอบกินหมาก หากจะขอบใจคนพม่าให้พูดว่า “ตอแหล ตอแหล” ผู้หญิงคนไหนที่โดนคนพม่าเรียกว่า กระดอ แสดงว่า ได้รับเกียรติอย่างสูง 

 

ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ กระแสเปิดร้านกาแฟในบ้านเราก็ยังมาแรงอยู่ ยังเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ก้อนโต หากอยู่ในทำเลทอง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนก็อยู่ในสภาพเดียวกัน ถ้าใครไปเวียดนามจะเห็นชัดเจนว่าในเมืองหลวงอย่างฮานอยหรือเมืองเศรษฐกิจอย่างโฮจิมินห์ธุรกิจร้านกาแฟก็ยังไปได้ดี และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในย่านที่มีชาวต่างชาติ และถ้าใครไปประเทศสหภาพเมียนมาก็จะเห็นในรูปแบบเดียวกัน

เทรนด์ร้านกาแฟสมัยใหม่   

อย่างที่เมียวดี ร้านกาแฟเริ่มมีความทันสมัยใหม่ขึ้น เช่นเดียวกับที่เกาะสองหรือวิกตอเรียพอยท์ตรงท่าเรือก็จะมีร้านกาแฟแบบเดียวกับบ้านเรา แต่อาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดตรงที่ร้านกาแฟในเกาะสอง ขายทั้งอาหารคาวและหวาน และเปิดมุมกาแฟพร้อมกันไปด้วย

ร้านกาแฟแบบเดิมของพม่าที่นั่งเก้าอี้เตี้ยๆ ก็ยังเปิดให้บริการอยู่ ซึ่งจะมีขนมนมเนย บางเจ้าก็มีซาลาเปาวางไว้ให้ลูกค้าได้เลือกรับประทานตามใจชอบ ร้านกาแฟแบบพม่า เป็นกาแฟสมัยก่อน ขายราคาแก้วละ 10 บาท คนพม่าส่วนใหญ่ชอบดื่มชามากกว่า ส่วนคนหนุ่มสาวชอบดื่มกาแฟคาปูชิโน่ และกาแฟรสเอสเพรสโซ่

อย่างที่ทราบกันดีว่า เวลานี้พม่าเป็นประเทศเนื้อหอม ใครๆ ก็อยากเข้าไปลงทุน ในเดือนหนึ่งๆ มีคณะผู้ประกอบการไทยไปศึกษาดูงานดูลู่ทางกันหลายคณะ แต่มีไม่กี่รายที่สามารถเข้าไปทำธุรกิจได้อย่างจริงจัง เพราะจะว่าไปแล้วแม้ทางรัฐบาลเมียนมาจะเปิดช่องเขียนกฎหมายให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจได้สะดวกและง่ายขึ้น

ร้านกาแฟสไตล์พม่าที่เกาะสอง

แต่ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ราคาค่าเช่าอาคารและที่ดินแพงมาก โดยเฉพาะในย่านธุรกิจ และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานก็ยังไม่ดีพอ ไฟฟ้ายังติดๆ ดับๆ ประจำ ฉะนั้น อย่าได้แปลกใจที่บ้านและอาคารจะมีเครื่องปั่นไฟสำรองของตัวเองไว้ใช้ในยามที่ไฟฟ้าดับ

เพื่อให้เห็นภาพการใช้ชีวิตของผู้คนในนครย่างกุ้งชัดเจนขึ้น ต้องลองฟังคำบอกเล่าจาก “คุณตู” วัย 30 กว่า ไกด์พม่าที่แต่งงานกับสาวไทย และตั้งบริษัททัวร์พาคนไทยไปเที่ยวและไปศึกษาดูงานที่พม่า

โค้กกระป๋องที่เมืองไทย 15-20 บาท ที่นี่ 1,000 จ๊าด ถ้าในร้านอาหารก็ 1,500 จ๊าด ถ้าเป็นต่างจังหวัด  2,000 จ๊าด ข้าวผัด จานละ 2,000 จ๊าด ถ้ามีไข่ดาวด้วยก็ 2,500 จ๊าด เงินเดือน 50,000 จ๊าด ได้ข้าวผัดแค่ 20 จาน ซึ่งเงินเดือนก็ไม่พอใช้ ดังนั้น จึงเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

ที่ย่างกุ้งให้สังเกตดูร้านอาหารตามสั่งขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ไม่มีใครไปซื้อกิน เพราะมันแพง เราเห็นชาวพม่าส่วนใหญ่ไปทำงานก็จะหิ้วปิ่นโต ถือตะกร้าใส่กับข้าวที่บ้านไปกิน เอามาคนละอย่างกินร่วมกัน นี่แหละเป็นการใช้ชีวิตของชาวพม่า

“ปิ่นโตหัวม้าลาย” ครองใจไฮโซ

ปัจจุบัน แม้ว่าสินค้าจากจีนจะเข้ามาในพม่าทุกหัวระแหง แต่ในความเป็นจริง คนเมียนมาก็นิยมใช้สินค้าไทย

ที่นี่สินค้ามี 2 ประเภท คุณภาพดีก็ต้องเป็นของไทย แต่ถ้าต้องการของถูก ก็ของจีน แต่หลักๆ เลยจะเป็นของจีนกับไทย สมัยก่อนปิ่นโตขายดี ชาวพม่าจะหิ้วปิ่นโตกัน ถ้าใครถือปิ่นโตสแตนเลสตราหัวม้าลายจะไฮโซ ถึงแม้ว่าค่าครองชีพในพม่าจะสูงมาก แต่หัวม้าลายทุกวันนี้ก็ยังขายดี ถ้าเราจะทำธุรกิจในพม่า เราต้องดูสไตล์ด้วย ถ้าเราจับทางถูก อนาคตสบาย ตอนนี้คนไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น มากันเยอะ

ปัจจุบัน เรื่องพลังงานในพม่ายังไม่เพียงพอ บางครั้งที่โรงแรมอาบน้ำ สระผม อยู่ดีๆ ไฟดับ อย่าตกใจ 1-2 นาที ก็จะกลับมาติดเหมือนเดิม เพราะว่าไฟฟ้าไม่พอ ดังนั้น บ้านทุกหลังต้องมีเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ อย่างร้านค้าใหญ่ๆ บริเวณหน้าร้านจะมีกล่องสี่เหลี่ยมใหญ่ๆ นั่นคือ เครื่องปั่นไฟ ส่วนบ้านหรือที่เป็นอพาร์ตเมนต์จะเป็นลักษณะเล็กๆ จีนเอาเครื่องปั่นไฟมาขาย ยอดขายดีมาก

ฝั่งไทยก็ผลิตเอามาขาย อย่างพวกที่ใช้โซล่าร์เซลล์ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับพลังงาน  ไทยกับจีนสู้กันตลอด ในเรื่องคุณภาพของไทยจะขายดีกว่าจีน แต่ถ้าเน้นราคาถูก สินค้าไทยสู้ของจีนไม่ได้ เครื่องสำอางพม่าก็ทำได้เยอะ แต่ส่วนใหญ่คุณภาพยังไม่ถึง คนรวยในพม่าเวลาที่ช็อปปิ้งจะไปช็อปปิ้งที่เมืองไทย ไม่ว่าจะทำศัลยกรรม ไปโรงพยาบาล หรืออะไรก็ตาม เพราะว่าเน้นคุณภาพ”

ข้อคิดเตือนใจนักลงทุน

คนพม่าแต่งตัวไม่หรูหรา แต่มีเงินทั้งนั้น อาหารตอนเช้า คนพม่านิยมกินน้ำยาปลา คนพม่าไม่นิยมกินโจ๊ก คนพม่าก็กินข้าวต้มตอนป่วยเท่านั้น คนพม่าไม่ชอบกินของหวานๆ เช่น ช็อกโกแลต หากอยากขายช็อกโกแลตในพม่า ไปขายหมากข้างถนนยังกำไรดีกว่าอีก เพราะคนพม่าชอบกินหมาก เชื่อไหมว่า โต๊ะที่ตั้งขายหมากข้างทาง กำไร 3,000 บาท ต่อวัน แค่ขาย คำละ 100 จ๊าดเอง แต่พม่า 1 คน เคี้ยวๆ แป๊บเดียวก็บ้วนทิ้งแล้ว อย่างน้อยจะซื้อกันวันละ 1,000 จ๊าด เดือนหนึ่งได้เป็นแสนเลย

พูดเรื่องธุรกิจมามากแล้ว มาฟังเรื่องเบาๆ กันบ้าง คุณตู บอกว่า “ในพม่า คำว่า ขอบใจ นักท่องเที่ยวสามารถใช้ คำว่า thank you ก็ได้ แต่ถ้าอยากชมเขาว่าเก่งมาก ดีเยี่ยม เราก็มองหน้า ชูนิ้วโป้งให้เขา แล้วพูดว่าตอแหล ตอแหล แต่ถ้าพูดจริงๆ จะออกเสียงว่า ตอแล คุณหญิงคุณนาย คนพม่าจะเรียกว่า กระดอ ผู้หญิงคนไหนที่โดนเรียกว่า กระดอ แสดงว่า ได้รับเกียรติอย่างสูง แล้วเขาจะปลื้มมากๆ”

ทัศนะและอาชีพของหนุ่มพม่าคนนี้ คงทำให้เราๆ ท่านๆ ได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของประเทศสหภาพเมียนมา ซึ่งไม่ว่าเขาจะเปิดหรือปิดประเทศก็ย่อมส่งผลถึงบ้านเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น การเข้าไปทำธุรกิจก็ควรเข้าไปอย่างผู้ให้และเน้นการทำธุรกิจแบบวิน-วิน ซึ่งวิธีการและแนวปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพที่ดีต่อกัน