ไปให้สุด…หยุดที่ 7-11 แปลงร่าง “ร้านสะดวกซื้อ” ตอบทุกโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ

อาจพูดได้ว่าคนไทยไม่มีใครไม่รู้จักร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ภายใต้การบริหารของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แต่จะมีกี่คนรู้ว่าบริษัทแห่งนี้มีรายได้สูงถึง 4.89 แสนล้านบาท

ในปีที่ผ่านมา แต่ละวันมีจำนวนลูกค้าที่เดินเข้าร้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” 12,157,312 คน (ตัวเลขเดือนสิงหาคม 2561) เฉลี่ยลูกค้า 1,184 คนต่อสาขาต่อวัน ที่เข้าไปใช้บริการและจับจ่ายซื้อสินค้าและทำธุรกรรมต่าง ๆ จึงไม่ต้องแปลกใจที่การเติบโตของยักษ์คอนวีเนี่ยนรายนี้จะร้อนแรงและเดินหน้าบุกไม่หยุด ด้วยเป้าหมาย 13,000 สาขา ในปี 2564 จากปัจจุบัน 10,268 สาขาทั่วประเทศ

การเติบโตของ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เดินควบคู่กันไปทั้งในแนวลึกและแนวกว้าง แทรกซึมอยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ชีวิตของคนไทย

ยุทธศาสตร์ “แนวลึก” ตามแผนการเติบโตด้วยการสปีดสาขาปีละ 700 สาขา เพื่อไปสู่เป้าหมาย 13,000 สาขา ไม่เพียงโมเดลสแตนดาร์ดชั้นเดียวตามชุมชนต่าง ๆ แต่ยักษ์คอนวีเนี่ยนรายนี้ยังแตกสารพัดโมเดลออกมาตอบโจทย์ลูกค้าเพื่อให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่, ความต้องการของลูกค้าและตอกย้ำภาพลักษณ์ผู้นำตลาดแบบครบวงจร

ด้วยโมเดลใหม่ ๆ ที่ไม่ผูกติดอยู่กับร้านห้องแถว อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม หรือปั๊มน้ำมันเท่านั้น แต่ได้ทยอยเปิดสาขารูปแบบ “ดูเพล็กซ์” หรือร้าน 2 ชั้น และ 3 ชั้น รวมถึงสาขาไซซ์ใหญ่ที่เป็นสแตนด์อะโลน ที่มาพร้อมลานจอดรถตามชุมชนต่าง ๆ เน้นเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพื่อรับกับเทรนด์ใหม่ ๆ เช่น ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ต้อนรับ

รวมถึงการเพิ่มจุดบริการตนเอง ทั้งจุดชำระค่าสินค้าและอุ่นอาหารด้วยตนเอง และคีออสก์สำหรับสั่งหรือรับสินค้าของ 24 Shopping เป็นต้น เข้ามาสร้างสีสันและบรรยากาศกระตุ้นให้เกิดการเข้ามาใช้บริการภายในร้านที่ครบครัน

ทั้งสร้างการเติบโตใน “แนวกว้าง” ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของยักษ์ร้านสะดวกซื้อ ไม่เพียงฉีกหนีคู่แข่งด้วยจำนวนสาขาและบริการ แต่ยังเป็นการต่อยอดสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับค้าปลีกยุคใหม่และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญของเซเว่นอีเลฟเว่น ในยุคที่ธนาคารปรับลดสาขาเพื่อลดต้นทุน เซเว่นฯอาศัยจุดแข็งที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ เข้ามาเติมเต็มในฐานะ “ตัวแทนธนาคาร” (แบงกิ้งเอเย่นต์)

โดยนำร่องโปรเจ็กต์แรกกับธนาคารออมสิน โดยเปิดรับฝากถอนเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่นฯที่ีครอบคลุมกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่ 31 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา และยังมีธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่งที่เข้าคิวรอเป็นพันธมิตร

ถือเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดที่ร้านเซเว่นฯมีสาขาครอบคลุมกว่า 6,000 สาขา เรียกว่ามากกว่าสาขาแบงก์เองเสียอีก

ขณะที่ก่อนหน้านี้ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ได้เคยร่วมมือกับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB THAI) เรียกเสียงฮือฮาในช่วงนั้น ด้วยการเข้าไปเปิดสาขาธนาคารภายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ให้บริการแบบครบครันทั้งเปิดบัญชี บริการฝากเงิน บริการโอนเงินด่วนระหว่างประเทศ บริการแลกเงินตราต่างประเทศ บริการสินเชื่อรายย่อย บริการบัตรเดบิตและบัตรเครดิต

และตอนนี้ร้านเซเว่นฯบางสาขาก็กำลังทดลองนำเคาน์เตอร์ “ทรูช้อป” เข้าไปอยู่ในร้าน 7-11 ที่เป็นรูปแบบร้านขายมือถือครบวงจร ที่มีตั้งแต่จำหน่ายมือถือและอุปกรณ์เสริม รับส่งเครื่องซ่อม สมัครใช้บริการ จนถึงย้ายค่ายเบอร์เดิม

นอกจากนี้ “ซีพี ออลล์” ยังซุ่มวางแผนเข้าสู่ธุรกิจดูแลสุขภาพ โดยช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้จัดตั้ง บริษัท ออลล์ เวลเนส จํากัด (ALL Wellness Co., Ltd.) ระบุว่า มีเป้าหมายเพื่อดําเนินธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพให้กับชุมชนด้วยนวัตกรรมระบบดิจิทัล และสร้างความสะดวกในการดูแลสุขภาพ รวมถึงแนะนําให้คําปรึกษาการดูแลสุขภาพโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

ต้องติดตามกันต่อไปว่า โมเดลธุรกิจของยักษ์ใหญ่ร้านสะดวกซื้อรายนี้จะเจาะลึกถึงการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคด้วยรูปแบบไหน

และที่กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็คือ การคว้าสิทธิ์เป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมือง (Downtown VAT Refund for Tourists) ให้กับกรมสรรพากร ในช่วงทดลอง 6 เดือนตั้งแต่ 1ต.ค. 2561 เพียงรายเดียว ที่ทำให้ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ทั้งหลายสั่นสะเทือนไปตามกัน


สำหรับภาพของร้านเซเว่นอีเลฟเว่นกับการขยายบทบาทสู่การเชื่อมต่อธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” มากขึ้น นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า ทิศทางภาพรวมค้าปลีกออฟไลน์แบบมีหน้าร้าน ปัจจุบันตลาดมีการขยายตัวเพียงปีละ 3% ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซร้อนแรงด้วยอัตราการเติบโตกว่า 8.8% ด้วยมูลค่า 3.06 ล้านล้านบาท กลายเป็นช่องทางการตลาดที่ทรงพลัง ตั้งแต่แพลตฟอร์มของร้านค้าออนไลน์ บริการดีลิเวอรี่ และระบบชำระเงิน “อีเพย์เมนต์”

ดังนั้นการทำธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ต้องผสานจุดแข็ง ทั้งการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์-ออฟไลน์ เสริมด้วยระบบโลจิสติกส์ ระบบอีเพย์เมนต์ ที่สะดวกและรวดเร็ว รวมไปถึงการใช้ “บิ๊กดาต้า” (Big Data) เข้ามาช่วยศึกษาข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงจุด

เช่นเดียวกันโมเดลธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่นก็ไม่แตกต่าง ต้องให้ความสำคัญกับอีคอมเมิร์ซมากขึ้น และผสานจุดแข็งของออฟไลน์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ เช่น เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บไซต์ ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง หรือทรู ช้อปปิ้ง ก็สามารถแจ้งความต้องการได้ว่า จะมารับสินค้าที่ร้านเซเว่นฯสาขาใกล้บ้าน หรือใช้บริการดีลิเวอรี่ส่งถึงบ้านก็ได้

“แม้ว่าการซื้อสินค้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วโลกลดน้อยลง แต่สำหรับในประเทศไทยยังมีอัตราการซื้อสินค้าและบริการลดลงไม่มาก แต่ละปียอดขายของเซเว่นอีเลฟเว่นเติบโตเกือบ 10%” นายปิยะวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่า โมเดลธุรกิจของเซเว่นอีเลฟเว่นในยุคต่อไปจะเป็นมากกว่า “ร้านสะดวกซื้อ” คือเป็นศูนย์รวมทุกความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค 

เพราะด้วยศักยภาพของสาขา 13,000 แห่งที่กระจายอยู่ในทุกชุมชนทั่วประเทศ กลายเป็นจุดแข็งในการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกค้าปลีกออนไลน์และค้าปลีกออฟไลน์

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีดิจิทัลก็ทำให้ยักษ์สะดวกซื้อแห่งนี้สามารถแปลงร่างเป็นผู้ให้บริการฝาก-ถอนเงิน เสมือนธนาคารรวมทั้งตัวแทนคืนภาษีของกรมสรรพากรได้อย่างไม่ยาก และอนาคตอาจจะได้เห็นโมเดลร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่เป็นคลินิกสุขภาพของชุมชนก็คงไม่ไกลเกินความจริง