ชวนชิม ข้าวต้มมัด-ขนมกล้วย สูตรสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่โชคชัย 4 ลาดพร้าว

ขนมไทย ถือเป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยอย่างหนึ่งที่รู้จักกันดี เพราะเป็นการบ่งบอกถึงความละเอียดอ่อนประณีตในทุกกระบวนการทำ

ปัจจุบัน ขนมไทยหลายชนิดมักถูกลืมไปแล้ว ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย คนทำรุ่นเก๋าล้มหายตายจากไป หรือเป็นเพราะความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการทำ จึงถูกปฏิเสธจากคนรุ่นใหม่ที่จะสืบสานต่อ ดังนั้น ดูเหมือนว่าจะหาขนมไทย (แท้) รับประทานยากเย็นเหลือเกิน

แต่กระนั้นคงไม่หมดหวังเสียทีเดียว เพราะยังคงมีแต่ผู้ประกอบอาชีพทำขนมไทยที่เป็นข้าวต้มมัดรายหนึ่ง เป็นสูตรดั้งเดิม ขายอยู่กลางกรุง ที่ว่าสูตรดั้งเดิมเพราะคนทำเป็นคนร่วมสมัยตั้งแต่สงครามโลก ครั้งที่ 2 แล้วยังสืบทอดมาจากในวังเลยทีเดียว

“บ้านขนมไทย คุณยายอัมภา” (THAI DESSERT) เป็นสถานที่ทำขนมไทยนานาชนิดสูตรโบราณ ทั้งข้าวต้มมัด ขนมกล้วย ขนมเทียน ขนมใส่ไส้ ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 13 โชคชัย 4 ซอย 39 ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โทรศัพท์ (02) 539-9690/(081) 401-4438 แต่สำหรับที่นี่แล้วขนมที่ทำเป็นหลักและขายดีคือ ข้าวต้มผัด หรือข้าวต้มมัด กับขนมกล้วย ส่วนขนมเทียนและอื่นๆ อาจทำเฉพาะหน้าเทศกาลเท่านั้น

bt-004%e0%b8%84%e0%b8%b8%e0%b8%93%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%a1%e0%b8%a0%e0%b8%b2-%e0%b9%80%e0%b8%89%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%a2-728x879

คุณยายอัมภา เฉลิมนัย เล่าว่า ทำขนมไทยมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทำอยู่ที่สี่แยกมหานาค ตอนนั้นอายุเพียง 9 ขวบ แม่ของคุณยายซึ่งเคยทำอาหารในวังเป็นคนทำ ส่วนตัวเธอเป็นผู้ช่วย จึงทำให้ถูกซึมซับนับจากนั้น พร้อมกับยึดอาชีพนี้มาตลอดจนย้ายมาอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบัน แล้วได้ถ่ายทอดการทำขนมไทยสูตรโบราณ ให้แก่ คุณประภาทิพย์ ฉ. เจริญผล ลูกสาวคนโต เพื่อรับช่วงต่อไป

คุณยายอัมภา บอกว่า กล้วยน้ำว้า ที่ใช้ทำข้าวต้มมัดและขนมกล้วย สั่งมาจากอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ไม่ได้เลือกพันธุ์ เพราะเธอบอกว่ากล้วยที่ดำเนินสะดวกล้วนแต่เป็นพันธุ์ดีมีคุณภาพทั้งนั้น โดยสภาพกล้วยที่ส่งมาจะดิบก่อน แล้วสัก 1 วัน จึงจะเริ่มสุกใช้งานได้ ส่วนขนาดจะไม่ใหญ่หรือเล็กมาก เป็นขนาดที่กำลังพอดีเมื่อผ่าครึ่งแล้วสามารถห่อได้

ส่วนใบตอง สั่งมาจากเจ้าประจำที่อ่างทอง ใช้ใบตองตกอาทิตย์ละ 10 กิโลกรัม จะใช้เฉพาะใบตองอ่อนเท่านั้น แต่ขนมกล้วยใช้ใบตองแก่ คุณประภาทิพย์ บอกว่า ใบตองที่ใช้ห่อข้าวต้มมัด ถ้าใช้ 1 ทาง ใบจะฉีกได้ 5 ส่วน

 

การทำข้าวต้มมัดที่ยุ่งยาก

กว่าจะนำออกขาย

คุณประภาทิพย์ เผยว่า ข้าวเหนียว ที่ใช้ทำข้าวต้มผัด ถ้าจะให้อร่อยควรใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงู แต่เนื่องจากมีราคาสูงสู้ไม่ไหว ดังนั้น จึงปรับมาใช้ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพรองลงมา เป็นข้าวเหนียวจากจังหวัดลำปาง ดูแล้วเมล็ดสวยและราคาพอสู้ไหว ส่วนการสั่งกล้วยมาครั้งละเกือบ 200 หวี ต่ออาทิตย์ และใช้วันละ 30-50 หวี

เธอให้รายละเอียดวิธีการทำข้าวต้มมัดในแต่ละวันว่า ก่อนอื่นต้องแช่ข้าวเหนียว จำนวน 11 ลิตร จากนั้นนำมาล้าง แล้วนำขึ้นมาให้สะเด็ดน้ำ ระหว่างนั้นให้ละลายส่วนผสมน้ำกะทิ ซึ่งได้แก่ น้ำตาลทราย 4 กิโลกรัม เกลือถุงขนาดจิ๋ว (2 ขีด) จำนวน 4 ถุง และกะทิ 8 กิโลกรัม คนให้เข้ากันแล้วนำไปตั้งไฟให้เดือด

หลังจากนั้น นำข้าวเหนียวที่สะเด็ดน้ำใส่ลงไปรวมกับน้ำกะทิแล้วกวนให้เหนียวจนกะทิแห้ง ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากข้าวเหนียวเย็นแล้วจึงนำไปห่อ เมื่อห่อเสร็จแล้วนำไปนึ่ง ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง โดยเป็นการนึ่งด้วยถ่านก้อนซึ่งถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ขนมหลายชนิดมีความหอมชวนน่ารับประทาน ทั้งนี้เพราะยังคงวิธีแบบโบราณ

คุณยายอัมภา บอกว่า เสน่ห์ข้าวต้มมัดคือ ข้าวต้องเหนียว นุ่ม และแห้ง ไม่แฉะ ขณะเดียวกันความสุกของกล้วยที่พอดีจะช่วยเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากขึ้น

bt-003-%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%ab%e0%b8%ad%e0%b8%a1

ขนมกล้วยไส้มะพร้าวอ่อน

สูตรเด็ดที่ลูกค้าชอบมาก…มาก

สำหรับ ขนมกล้วย เจ้านี้ยังเป็นสูตรดั้งเดิมโบราณเช่นกัน แต่ที่สำคัญและลูกค้าชอบกันมากเป็นพิเศษคือ ใส่มะพร้าวอ่อน ซึ่งที่อื่นไม่ได้ทำเช่นนี้ เธอบอกว่าวิธีทำขนมกล้วยง่ายและไม่ยุ่งยากเหมือนกับการทำข้าวต้มมัด ใช้กล้วย จำนวน 2 หวี จะห่อได้ ประมาณ 300 ห่อ โขลกให้เหนียวด้วยมือ แล้วใส่น้ำตาล กะทิ และเกลือ พอคุณรับประทานแล้วจะรู้สึกได้ว่าเป็นขนมกล้วยจริง ไม่ใช่ขนมแป้ง พอทุกอย่างผสมได้เข้าที่จึงค่อยหยอดมะพร้าวอ่อนลงไป แล้วตักใส่ใบตองที่ทำเตรียมไว้มีลักษณะคล้ายเรือแล้วกลัดด้วยไม้กลัด จากนั้นจึงนำไปนึ่ง

“บ้านขนมไทย คุณยายอัมภา” จะขายข้าวต้มมัด กับขนมกล้วย เป็นหลักในแต่ละวัน โดยจะวางขายข้าวต้มมัดหน้าร้าน ในจำนวน ประมาณ 400 มัด ราคาขาย มัดละ 12 บาท คุณประภาทิพย์ บอกว่า ต้นทุนทำขนมทุกวันนี้ถือว่าสูง คงไม่ได้กำไรมาก แถมขั้นตอนมีความยุ่งยากมาก ต้องใช้เวลาเตรียมถึง 5 ชั่วโมง กว่าจะได้เป็นข้าวต้มมัดที่รับประทานได้ อาศัยว่าขายอยู่กับบ้าน ซึ่งมีลูกค้ามาสั่งทำทุกวัน ในคราวละเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ถ้าจะสั่งทำต้องแจ้งล่วงหน้า เพราะทำกันเพียง 2 คน เป็นหลักเท่านั้น

แม้ว่าคุณยายอัมภาจะมีอายุล่วงเลยมาถึงวัย 80 ปี แล้วต้องผ่านพบกับโรคประจำตัวบ้างก็คงเป็นไปตามอายุ กระนั้นเธอยังดูกระฉับกระเฉง คล่องแคล่วและพูดคุยกับคนในครอบครัวอย่างมีความสุข ดังนั้น ในแต่ละวันเวลาของเธอจึงหมดไปกับกิจกรรมต่างๆ ของขนมไทยที่ทำขาย เพราะนั่นคือ สิ่งที่เธอชอบและผูกพันกันมายาวนาน…

ใครอยากแวะมาชิมข้าวต้มมัดและขนมไทยอื่นๆ ที่อร่อย และหารับประทานยากในแบบมืออาชีพรุ่นเก๋า อยากชวนไปลองชิมที่ “บ้านขนมไทย คุณยายอัมภา” (THAI DESSERT) อยู่ในซอยโชคชัย 4 ลาดพร้าว (ซอยเดียวกับตำหนักเจ้าแม่กวนอิม) หรือโทรศัพท์ไปได้ที่ (02) 539-9690/(081) 401-4438

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2559 นี้ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จัดสัมมนาเรื่อง “กล้วยหอมทอง-กล้วยน้ำว้า ปลูกกินเองได้ ปลูกขายทำเงิน” ที่ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด…เนื้อหาพูดถึงพันธุ์ วิธีปลูก การดูแลรักษา แปรรูป และการตลาด

ค่าใช้จ่าย ท่านละ 600 บาท

bt-006-%e0%b8%82%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%ad%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99-728x546

สมัครโดย…โอนเงิน ธนาคารกสิกรไทย สาขาย่อยประชานิเวศน์ 1 เลขที่บัญชี 737-2-13905-0 บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) FAX (02) 954-3971 เลขที่ผู้เสียภาษี 0107536001451

      หมายเหตุ โทรศัพท์สำรองที่นั่ง พร้อมชำระเงินภายใน 3 วัน หลังจากวันที่รับสมัคร (ขอสงวนสิทธิ์ในการชำระเงินด้วยการโอนเข้าบัญชีเท่านั้น) ไม่รับสมัครและชำระเงิน ณ วันสัมมนา

 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (02) 954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 Mobile (082) 993-9097 (082) 993-9105 FAX (02) 954-3971

ดูเพิ่มเติมได้ที่ www.matichonacademy.com  www.facebook.com/matichon.academy.thailand

Line : matichonacademy instargragram : matichon_academy

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์