ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้าน |
---|---|
ผู้เขียน | กฤตวรรณ ทิพย์ไชย |
เผยแพร่ |
หลายจังหวัดในประเทศไทย ที่มีพื้นที่ติดกับทะเล ไม่ว่าจะเป็นฝั่งทะเลอ่าวไทย หรือทะเลอันดามัน ล้วนแต่มีความน่าอิจฉาในความสมบูรณ์ของแหล่งอาหารที่ขึ้นชื่อหลายเมนูที่มนุษย์อย่างเราๆ ชื่นชอบ
จังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดต้นๆ ที่เมื่อเอ่ยชื่อแล้วต้องนึกถึงเมนูอาหารทะเลและที่ขาดเสียไม่ได้ คือ อาหารทะเลแปรรูป ที่สามารถเก็บเอาไว้รับประทานได้นานๆ เพราะคนจันทบุรีคือผู้ผลิตสินค้าบริโภคในหลายชนิด อีกทั้งยังเป็นผู้แปรรูปสินค้าอาหารที่ขึ้นชื่อมากมาย และหากจะพูดถึงอาหารทะเลแปรรูป ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค หรือบรรดากุ๊ก เชฟ ผู้เลือกสรรวัตถุดิบในการประกอบอาหารแล้วละก็ จะต้องพูดถึง กุ้งแห้ง ของดีเมืองจันทบุรี ที่ได้รับการบอกต่อว่า อร่อย มีรสชาติเค็มกำลังดี ที่สำคัญ สะอาด เก็บได้นานไม่เหม็นหรือขึ้นราง่าย
กุ้งแห้ง ของดีเมืองจันท์ ติดอันดับสินค้าแปรรูปโอท็อป กับฝีมือการผลิตอย่างเชี่ยวชาญ ตราบที่มีมนุษย์อยู่คู่กับทะเลเลยก็ว่าได้ หนึ่งในผู้ผลิตสินค้า “กุ้งแห้ง” ของดีเมืองจันทบุรี ได้ให้ข้อมูลว่า อาชีพการทำกุ้งแห้งนี้ ถือเป็นอาชีพแห่งวิถีชีวิตของประชาชน ชาวอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ที่ยึดอาชีพการทำกุ้งแห้ง ขายมาอย่างยาวนาน โดยเราใช้วิถีการแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ในกระบวนการผลิต และใช้ส่วนผสมเครื่องปรุงรส ด้วยเกลือเท่านั้น ไม่มีการนำสารเร่งหรือสีผสมอาหาร ใดๆ เพื่อแต่งสีสันหรือรสชาติทั้งสิ้น เพราะการแต่งเติมรสชาติ มีเพียงการนำเกลือมาคลุกเคล้าผสม เท่านั้น
คุณวิไล บัวหลวง ชาวอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ผู้ผลิตสินค้ากุ้งแห้ง เล่าว่า ได้นำสินค้า กุ้งแห้ง ของดีเมืองจันท์ ไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าในกรุงเทพมหานครเป็นประจำ และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจำนวนมาก คำพูดของผู้บริโภค “กุ้งแห้งเมืองจันท์ สะอาดและอร่อย รสชาติเค็มกำลังดี” ทำให้มีกำลังใจในการยึดอาชีพผลิตกุ้งแห้งมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมแบบภูมิปัญญา ไม่อาศัยเครื่องมือเครื่องจักรใดๆ ในการผลิต
เคล็ดลับการเลือกขนาดกุ้งสด
1. กุ้งสดขนาดกลาง จำนวน 150 ตัว ต่อกิโลกรัม
2. มีส่วนผสมปริมาณเกลือเม็ด 1 กิโลกรัม ต่อ กุ้ง 13 กิโลกรัม
ขั้นตอนการทำ
1. ล้างกุ้งให้สะอาดจนกว่าน้ำล้างจะใส โดยล้างประมาณ 5-7 น้ำ หากการล้างไม่สะอาด จะทำให้เกิดกุ้งเน่าขึ้นก่อนจะเป็นกุ้งแห้ง
2. นำเกลือเม็ด 1 กิโลกรัม คลุกเคล้ากุ้ง ปริมาณ 13 กิโลกรัม ให้เข้ากัน
3. เติมน้ำสะอาดลงไปให้มีปริมาณพอดีท่วมตัวกุ้ง
4. แช่กุ้งทิ้งไว้ ประมาณ 15 นาที
5. นำกุ้งขึ้นมานึ่ง โดยใช้เวลานึ่ง 1 ชั่วโมง
หลังจากนึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้วให้นำกุ้งขึ้นมาตากแดด 2 แดดครึ่ง หลังจากนั้นนำมากะเทาะเปลือก
วิธีการกะเทาะเปลือกของคุณวิไล ด้วยมือโดยง่าย เพียงแค่นำผ้าขาวบางมาเย็บให้เป็นถุงผ้า โดยเย็บเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เย็บปิด 3 ด้าน จากนั้น สะบัดถุงตีกับพื้นสะอาด เป็นการกะเทาะเปลือกด้วยแรงกระแทกจากแรงมือ จะทำให้เปลือกกุ้งที่กรอบแตกและหลุดออกจากตัวเนื้อกุ้ง ได้เป็นกุ้งแห้งสำเร็จ ได้อย่างง่ายดาย
ข้อสังเกต : กุ้งสด จำนวน 100 กิโลกรัม จะได้กุ้งแห้ง 10 กิโลกรัม ดังนั้น การใช้กุ้งสด น้ำหนัก 13 กิโลกรัม จะได้กุ้งแห้งเพียง 1.5 กิโลกรัม เท่านั้น สาเหตุนี้ละคะ ทำให้ราคากุ้งแห้งค่อนข้างแพง และหากยิ่งเป็นกุ้งขนาดใหญ่ เมื่อผ่านการทำให้เป็นกุ้งแห้งแล้ว ก็อาจจะอยู่ที่ ราคาขายกิโลกรัมละ 400 -500 บาท แต่ขอรับรองสำหรับกุ้งแห้งของดีเมืองจันท์ว่า อร่อย สะอาด คุณภาพสูง