“กาแฟเทพเสด็จ” กาแฟไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะ ขายกก.ละ 500 บาท

ติดอันดับแหล่งปลูกกาแฟดีมีคุณภาพที่จังหวัดเชียงใหม่ แถมได้เครื่องหมายทะเบียน GI (Geographical Indication) หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สำหรับกาแฟไทย แบรนด์ “เทพเสด็จ” ผลผลิตกาแฟจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟสดแม่ตอน ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด ที่ได้รวมตัวกันสร้างแบรนด์กาแฟไทย มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เลียนแบบไม่ได้ทั้งกลิ่นและรสชาติ

คุณสุวรรณ เทโวขัติ หรือคุณโขง

คุณสุวรรณ เทโวขัติ หรือ คุณโขง ประธานกลุ่มวิสาหกิจกาแฟสดเทพเสด็จ วัย 41 ปี เล่าว่า ชื่อกาแฟเทพเสด็จ มาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยม โครงการหลวงป่าเมี่ยงในปี พ.ศ. 2534 ทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ มาถึง 2 ครั้ง จึงขอพระราชทานนามชื่อตำบลเทพเสด็จ เลยเป็นที่มาของชื่อกาแฟเทพเสด็จ ปลูกในตำบลเทพเสด็จ

สำหรับกาแฟเทพเสด็จ เป็นกาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์ “คาติมอร์” (CatiMor) ค่อนข้างทนทานต่อโรค ปลูกอยู่บนพื้นที่สูง 1,100 – 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศเย็นทั้งปี เฉลี่ย 10 – 28 องศาเซลเซียส ปลอดภัยไร้สารพิษ ปลูกในป่า มีดอกไม้ป่า หรือเรียกว่า “ดอกก่อ” มีสีเหลือง ประกอบกับในพื้นที่มีผึ้งโก๋น หรือผึ้งโพรง เวลาผึ้งโพรงไปตอมเกสรจากดอกก่อ แล้วมาเกาะดอกกาแฟ เมล็ดกาแฟที่ได้จะมีกลิ่นหอมดอกไม้ป่า และรสชาติกลมกล่อม

“ในช่วงที่ต้นกาแฟออกดอก จะเป็นช่วงที่ดอกไม้ป่าออกดอกพอดี ดังนั้นจะเกิดการผสมเกสร ระหว่าง ดอกกาแฟกับดอกไม้ป่า โดยมีผึ้งโก๋น หรือผึ้งโพรง เป็นพาหะ ทำให้เมล็ดกาแฟที่ได้ จะมีกลิ่นของดอกไม้ป่า ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและเลียนแบบไม่ได้”

ตำบลเทพเสด็จ ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาผีปันน้ำ ทางด้านทิศเหนือ และเทือกเขาขุนตาล ทางทิศตะวันออก ติดต่อกับ 3 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดลำปาง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ย 1,050 เมตร และจุดสูงสุดของยอดดอย คือ 1,950 เมตร บนยอดดอยลังกาที่สูงเด่นเป็นสง่า เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอดอยสะเก็ด

สำหรับสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟสดแม่ตอน มีประมาณ 34 ราย พื้นที่ปลูกกาแฟรวมประมาณเกือบ 500 ไร่ ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ 500 ตัน/ปี ได้เครื่องหมาย GI ปี 2558 เมล็ดกาแฟคั่ว มี 3 ระดับ 1. คั่วอ่อน รสชาติจะค่อนข้างเปรี้ยวและขมเล็กน้อย 2. คั่วกลาง กาแฟมีกลิ่นหอมและขมขึ้น 3. คั่วเข้ม ค่อนข้างขม กลิ่นจะไม่ค่อยหอม

ด้านขั้นตอนกว่าจะเป็นกาแฟส่งขายในตลาด คุณโขง ลำดับกระบวนการว่า

  1. นำกาแฟสุกสีแดงจากต้น ไปลอยน้ำ คัดเฉพาะเมล็ดกาแฟที่จมน้ำไปปอกเปลือก
  2. หมักด้วยน้ำเปล่า 1-2 วัน นำขึ้นมาทำความสะอาด จากนั้นไปตากแห้ง
  3. คัดเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์ (เมล็ดที่แตกจะคัดออก) จากนั้นนำไปคั่วด้วยเครื่องคั่วกาแฟโดยผู้คั่วที่ชำนาญ ในอุณหภูมิประมาณ 140-250 องศา
  4. พักให้เมล็ดกาแฟเย็น ก่อนนำไปบรรจุในถุงฟอยล์ เพื่อการจำหน่าย

ข้อควรระวัง เก็บกาแฟไว้ในที่แห้งและไม่มีความชื้นสูง ควรใช้กาแฟคั่วบดให้หมดภายใน 15-30 วัน หลังจากเปิดถุง

ด้านราคาจำหน่าย ประธานกลุ่มวิสาหกิจกาแฟสดเทพเสด็จ ระบุว่า กาแฟกะลา (กาแฟที่ยังไม่คั่ว) กิโลกรัมละ 130 บาท กาแฟที่คั่วแล้วกิโลกรัมละ 400 – 500 บาท