ไฮฟ์สเตอร์ hivesters ธุรกิจท่องเที่ยว จุดยืนทำเพื่อสังคม

2 สาวทายาทธุรกิจ “รุ้งทองทัวร์” ไอเดียดีสร้างกิจกรรมสุดสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงนักท่องเที่ยว มาพบกับ โลเคิล ฮีโร” และ “โลเคิล โลเคชั่น” หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละท้องถิ่น ทั้งอาหาร งานหัตถกรรม งานฝีมือ งานศิลปะ ผ่านรูปแบบกิจกรรม ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสประสบการณ์ตรงกับคนท้องถิ่น เป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายไปและกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยมีจุดยืนทำเพื่อสังคม 

คุณอชิรญา และคุณชญานิศ ธรรมปริพัตรา สองสาวคนเก่ง

จากการจัดประกวดโครงการ Booking Booster 2018 ในการนำเสนอแผนธุรกิจของสตาร์ตอัพ และกิจการเพื่อสังคมจากผู้ประกอบการทั่วโลก เพื่อชิงเงินทุนรวมมูลค่ากว่า 2 ล้านยูโรในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ผลปรากฏว่า “ไฮฟ์สเตอร์” (HiveSters) สตาร์ตอัพที่ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวระดับชุมชนของประเทศไทย ได้รับการคัดเลือกติด 1 ใน 10 อันดับของบริษัทสตาร์ตอัพจาก 100 ผู้ประกอบการทั่วโลก จะได้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ยังได้รับเงินทุนในการสนับสนุนธุรกิจ 100,000 ยูโร หรือประมาณ 4,000,000 บาท

คุณอชิ – อชิรญา ธรรมปริพัตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่งานความสนุกของไฮฟ์สเตอร์ (HiveSters) กล่าวว่า ไฮฟ์สเตอร์ ก่อตั้งขึ้นมา 4 ปีแล้ว เป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่มีจุดยืนทำเพื่อสังคม โดยเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบไทย กับผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น จัดทริปมีคุณภาพ สรรหากิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ดีต่อใจทั้งนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่

วิธีการทำงานของ HiveSter อธิบายง่ายๆ คือ จะเข้าไปร่วมพัฒนาโปรแกรมแหล่งท่องเที่ยวร่วมกับคนในชุมชน จากนั้นนำเสนอผ่านเว็บไซต์และสื่อโซเชียล โดยที่ชุมชนเหล่านั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้าไป รายได้ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้กับชุมชน เรียกว่า HiveSter เป็นสะพานเชื่อมไปยังชุมชนนั่นเอง

“ไฮฟ์สเตอร์ จะเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวได้พบกับ โลเคิล ฮีโร โลเคิล โลเคชั่น หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละท้องถิ่น ทั้งอาหาร งานหัตถกรรม งานฝีมือ งานศิลปะ ผ่านรูปแบบกิจกรรม ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับประสบการณ์แบบคนท้องถิ่น เป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมที่กำลังจะสูญหายไปและเป็นการสร้างและกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน”

สำหรับกิจกรรมที่ “ไฮฟ์สเตอร์” ใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยว คุณมิ้นท์ – ชญานิศ ธรรมปริพัตรา (น้องสาวคุณอชิ) ยกตัวอย่างเช่น ในกรุงเทพฯ มีแหล่งท่องเที่ยวตามชุมชนหลายแห่งที่น้อยคนนักจะรู้จัก อาทิ ชุมชนนางเลิ้งที่มีนักรำซัดชาตรี อายุ 70 ปี ชุมชนเกาะศาลเจ้าแถวตลิ่งชัน มีการทำแป้งพวงเป็นเครื่องหอมโบราณ มีการแทงหยวก พาไปทำผัดไทยโดยแม่ค้าสตรีตฟู้ด พาไปชมวิถีชีวิตหลายแง่มุมที่ชุมชนมอญบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน เป็นต้น

กิจกรรมของ “ไฮฟ์สเตอร์” แบ่งเป็น 6 ประเภท โดยแบ่งเป็น Food : โปรแกรมพาไปทานอาหารในท้องถิ่น  Animals  เช่น พาไปใช้เวลาอยู่กับสัตว์ที่ถูกต้อง Art & Craft : พาไปชุมชนช่างฝีมือ Adventure พาไปผจญภัยในพื้นที่ธรรมชาติ Body & Mind  เวิร์คช็อป  และ Green เป็นโปรแกรมที่พาไปเรียนรู้การทำฟาร์มแบบออร์แกนิก

ปัจจุบัน HiveSters มีโปรแกรมการท่องเที่ยวต่อเดือน ประมาณ 70 โปรแกรม โดย 70 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าองค์กร และ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าบุคคลทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ อาทิ ชาวเยอรมัน ชาวออสเตรเลีย และชาวสิงคโปร์ โดยจะแบ่งรายได้ให้กับชุมชน 45 เปอร์เซ็นต์ ไกด์ท้องถิ่น 20 เปอร์เซ็นต์ และค่าเดินทาง 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วน HiveSters จะเอาส่วนแบ่งรายได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์

ประวัติผู้บริหาร HiveSters  คุณอชิ – อชิรญา ธรรมปริพัตรา จบการศึกษาปริญญาตรีด้านการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ ประเทศฝรั่งเศส ส่วนคุณมิ้นท์ ชญานิศ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านกฎหมาย เรื่องสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ สหรัฐอเมริกา 

โดยทั้งสองสาวคนเก่ง คือ ทายาทครอบครัว “รุ้งทองทัวร์” ธุรกิจทัวร์คนไทยยาวนานกว่า 40 ปี