นักธุรกิจลาวแห่งเเขวงจำปาสัก บุญเฮือง แครอล ลิดดัง พร้อมนำ “ดาว คอฟฟี่” สู่ตลาดสากล

แม่หญิงแห่งนครจำปาสัก ทายาทคนโตตระกูลลิดดัง รับไม้ต่อธุรกิจจากผู้เป็นแม่ กับความฝันเพื่อคนลาว กว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

คอกาแฟคงเคยได้ยิน เอิ้นดาวกะได๋ ประโยคฮิต ติดหู จากโฆษณาผลิตภัณฑ์ “ดาว คอฟฟี่” กาแฟสัญชาติลาว

ดร.ฮ่าว ลิดดัง คุณหมอที่ผันตัวเองมาทำธุรกิจหลังเกษียณ และมาดามเหลื่อง ลิดดัง นักธุรกิจหญิงที่เติบโตมาจากการเป็นแม่ค้า ที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ “ดาวเฮือง” หรือ “ดาวเรือง” คือสองสามีภรรยาผู้ให้กำเนิดธุรกิจกาแฟอาราบิกาสายพันธุ์ลาว “ดาว คอฟฟี่” กาแฟพรีเมี่ยมที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในระดับสากล

ปัจจุบันไม่เพียงเป็นกาแฟที่มียอดขายอันดับ 1 ใน สปป.ลาว ยังส่งออกไปไกลกว่า 10 ประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรปและอเมริกา ทำรายได้ให้กับดาวเฮืองกรุ๊ปมากกว่าพันล้านบาท ไม่รวมธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี โรงแรม ตลาดสด ผลไม้อบแห้ง ฯลฯ

สำหรับตลาดกาแฟในเมืองไทย “ดาว คอฟฟี่” เข้ามาลองสนามตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ทำรายได้ไปแล้วกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 300 ล้านบาท

ล่าสุด การเข้ามาบุกตลาดเต็มตัวทั้งกาแฟสำเร็จรูปและกาแฟเพื่อสุขภาพ ส่งสัญญาณเอาจริง โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะยึดหัวหาดเป็นผู้เล่นหลักธุรกิจกาแฟในระดับอาเซียน

บุญเฮือง แครอล ลิดดัง ทายาทคนโตของตระกูล วัย 36 ปี รับ “ไม้สอง” ดาว คอฟฟี่ นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งนครจำปาสัก สปป.ลาว ผู้ก่อตั้งอาณาจักรดาวเฮือง กรุ๊ป ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกลุ่มบริษัทดาวเฮือง เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวนานกว่า 12 ปีแล้ว ดูแลรับผิดชอบทั้งในส่วนของร้านค้าปลอดภาษี และโลจิสติกส์

แครอล บอกว่า เธอเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมของครอบครัวที่ทำงานหนัก ต่อสู้จนก้าวผ่านอุปสรรคมากมาย ได้เห็นคุณพ่อและคุณแม่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อบริหารธุรกิจกาแฟดาวให้เติบโตมากยิ่งขึ้น

“ตั้งแต่เริ่มแรก ทั้งพ่อและแม่ไม่ได้บังคับให้เราสานต่อธุรกิจกาแฟดาว เราเองตั้งแต่เล็กไม่ได้อยากเป็นอะไรเพราะชอบทุกอย่าง จนกระทั่งอายุประมาณ 14 ปี เริ่มเห็นแม่ทำการค้าไปนู่นไปนี่ โดยแม่จะพาไปด้วยทุกที่ก็เลยชอบ ประกอบกับจบปริญญาโท MBA ที่สิงคโปร์มา ทำให้กลับมารับไม้ต่อจากแม่ทันที”

แครอล ย้อนความเล่าที่มาก่อนที่ “ดาว คอฟฟี่” จะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ว่า ก่อนหน้าจะจับธุรกิจกาแฟ คุณแม่ค้าขาย ทำตลาด ทำผลไม้อบแห้ง ฯลฯ กระทั่งมาจับกาแฟ โดยเริ่มจากการปลูกเองบนพื้นที่กว่า 600 ไร่

ด้วยจุดเด่นของ “ดาว คอฟฟี่” ที่ปลูกบนที่ราบสูงโบลาเวน ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาไฟเก่าบวกกับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ส่งผลให้รสชาติกาแฟดาวโดดเด่นไม่เหมือนเจ้าอื่น

อย่างไรก็ตาม แครอล บอกว่า “การทำธุรกิจย่อมมีอุปสรรค แม้ว่าเราสามารถแก้ไขและผ่านมันไปได้ แต่สิ่งที่ห้ามไม่ได้คือภัยธรรมชาติ เช่น ช่วง 3 ปีแรกที่แม่เริ่มปลูกกาแฟ เกิด “หมอกเกลือ” หรือลูกเห็บตก ไร่กาแฟเสียหายไปมาก”

แต่ด้วยความมุมานะบากบั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และการใส่ใจกับการทำงานด้วยความรักอย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาเทคนิคการปลูกกาแฟที่เวียดนามและนำมาผสมผสานกับภูมิปัญญาของชาวไร่ดาวสร้างระบบนิเวศขึ้นมา ทำให้ไร่กาแฟดาวเป็นออร์แกนิกอย่างสมบูรณ์ พร้อมกันนี้ได้สนับสนุนสร้างอาชีพให้กับบรรดาเกษตรกรมากมาย

ภายใต้การดำเนินงานของแครอล กลุ่มบริษัทดาวเฮือง ได้รับรางวัล “ASEAN Outstanding Woman Entrepreneurs” ในปี 2551 รางวัล Outstanding Export Company ในปี 2555 และประกาศนียบัตรรับรองในฐานะ Outstanding Export Company ในปี 2555 นอกจากนี้ เธอยังได้รับประกาศนียบัตรยกย่องความสำเร็จทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจจากรัฐบาล สปป.ลาว อีกมากมาย

แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งในความสำเร็จของกาแฟดาวยังมาจาก “รัฐบาล สปป.ลาว” ที่ให้สัมปทานการปลูกกาแฟ พร้อมสนับสนุนสินค้าเพื่อการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่ว่า “ความล้มเหลวไม่ใช่ทางเลือก”

แต่กว่าจะมีทุกอย่างในวันนี้ได้ แครอล บอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

การเปลี่ยนมือเข้ามารับไม้ต่อจากคุณแม่?

ไม่เชิงเปลี่ยนมือเสียทีเดียวค่ะ แม่ก็ยังทำงานอยู่ ยังเป็นประธานบริษัทของพวกเราอยู่ แต่เราเข้ามาดูว่าจะเอาอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ เข้ามาบ้าง ก็เหมือนกับที่อื่นๆ ที่มีเจเนอเรชั่นใหม่เข้ามา แม่เป็นคนที่เปิดกว้างให้เราลองทุกอย่าง ก็เริ่มจากการปรับเปลี่ยนทุกอย่างในบริษัท (หัวเราะ) ระบบการทำงานทุกอย่างตั้งแต่แบ่งหน้าที่การทำงานของพนักงานที่ค่อนข้างชัดเจน

มีการนำเทรนด์ของกาแฟเข้ามาผสมผสานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเรา รวมทั้งในส่วนของร้านค้าที่ค่อยๆ รีโนเวตไปเรื่อยๆ ตรงไหนพร้อมเราก็ทำตรงนั้น อย่างที่ดิวตี้ฟรีก็ต้องมีการตกแต่งพื้นที่ให้ดูสวยงาม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับกรุ๊ปทัวร์ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

กดดันไหม เพราะคุณแม่สร้างธุรกิจมาดี?

ช่วงแรกก็กดดัน เพราะแม่มีความสามารถเเละเก่งอยู่แล้ว แต่แม่ก็ไม่ได้คาดหวังให้เราต้องเก่งเลยซะทีเดียว เพราะรู้ว่าในการทำธุรกิจแบบนี้มันยาก แม่จะให้เราลองว่าเราทำได้หรือเปล่า ถ้าหากเราทำได้ก็พร้อมที่จะให้เราทำต่อไป

ก่อนหน้านี้เคยคิดว่ามันยุ่งยากมาก ไม่ใช่เพียงแค่มีเครื่องจักรแล้วจะประสบความสำเร็จ ครั้งหนึ่งเคยมีคนมาถามขอซื้อโรงงานต่อ ตอนนั้นก็คิดที่จะขาย เพราะคิดว่าคงทำธุรกิจต่อไม่ไหวแล้ว อีกอย่างเราเพิ่งเข้ามาดูเเลเเละลงมือไม่นานหลังจากเรียนจบปริญญาโท แต่เมื่อได้คลุกคลีมากขึ้นๆ ทำให้เข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง หากตัดสินใจขายโรงงานไปในตอนนั้น ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่เเย่ แต่เกษตรกรต้องลำบากตามไปด้วย

ธุรกิจที่ดูเเลตอนนี้?

ดาว คอฟฟี่ ร้านค้าปลอดภาษี หรือร้านดิวตี้ฟรี และโลจิสติกส์ ซึ่งธุรกิจที่ทำเงินให้กับเราคือ ธุรกิจกาแฟและดิวตี้ฟรี โดยธุรกิจกาแฟทำรายได้ให้กับเราประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ และดิวตี้ฟรีอยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็เป็นงานเซอร์วิสอื่นๆ

น้องๆ ได้เข้ามาดูแลธุรกิจกาแฟด้วย?

พี่น้องทั้งหมด 4 คน มีน้องสาวคนที่ 2 เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจกาเเฟ ในด้านการตลาดเกี่ยวกับ “ดาว คอฟฟี่” ทุกอย่าง แต่เพิ่งเริ่มเข้ามาเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา เขาจะนำเสนอความคิดกับเราตลอดว่าอยากทำอะไร ซึ่งเราก็ให้ลองทำ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ไปในตัว คนที่ 3 เรียนทางด้านอินทีเรียดีไซน์ ชอบทำโรงแรม ต้องอีกปีกว่าๆ จึงจะจบ เมื่อนั้นคงได้เริ่มงานที่เขาชอบ ส่วนน้องคนสุดท้องเป็นหมอค่ะ

ก่อนหน้านี้ ดาว คอฟฟี่ ขายแต่เมล็ดกาแฟ อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตกาแฟเอง?

เพราะบริษัทกาแฟทั่วโลกมีการแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมเเละสอบถามเรื่องกาแฟ ทางเราเลยต้องมีการก่อตั้งโรงงานเอง

เมื่อก่อนคุณแม่เป็นคนจัดการเรื่องธุรกิจด้านซื้อขาย เมื่อได้เมล็ดกาแฟมาก็ส่งขายทันที ตอนนั้นคุณแม่ทำรายได้แค่กิโลกรัมละ 1 เหรียญสหรัฐ ทำให้ทางเราขาดทุนมาก และคุณแม่ก็บอกว่าหากเราทำแบบนี้ไปตลอด ไม่ว่าจะ 5 ปี หรือ 10 ปี คงไม่ไหว จึงคิดว่าเราต้องมีการพัฒนา ซึ่งเราตัดสินใจก่อสร้างโรงงานผลิตกาแฟ “ดาว คอฟฟี่”

การที่เราสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นไม่ได้หวังว่าเราจะได้กำไรเพิ่มขึ้น แต่เป็นสิ่งจำเป็นในการผลิตสินค้ามากกว่า

เราอยู่ในเมืองไทยมา 10 กว่าปี ขายเป็นโออีเอ็ม (รับจ้างผลิต) ไม่ได้มีตัวแทนเป็นเรื่องเป็นราว จากครั้งแรกที่นำกาแฟทรีอินวันเข้ามาลองตลาดในไทยปี 2547 ตอนนั้นเรากำลังศึกษาการทำโรงงานอยู่ เพราะเราส่งกาแฟเมล็ดสดไปผลิตที่อินโดนีเซีย แต่ทุกปีราคากาแฟไม่คงที่ และเราไม่สามารถกำหนดได้ตายตัวว่าปีนี้เราจะส่งได้กี่ร้อยตัน พอเห็นว่าผลตอบรับในประเทศไทยดี ทำให้เป้าหมายของการตั้งโรงงานอยู่ในใจเราแล้ว ประกอบกับมีบริษัทกาแฟแวะเวียนมาถามถึงบ่อยครั้ง

ในปี 2552 เราจึงตั้งโรงงานเองลงทุนไปประมาณ 128 ล้านเหรียญ เเละทางบริษัทยังมีมาตรการปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ ส่วนปีหน้าเราตั้งใจว่าจะดำเนินการสร้างโรงงานเพื่อทำการขยายพื้นที่ผลิตแพ็กเกจจิ้งเพิ่มเติม ซึ่งมูลค่าการลงทุนเพิ่มโรงงานน่าจะไม่ต่ำกว่า 7 ล้านเหรียญ

ตั้งเป้าไว้อย่างไรกับธุรกิจกาแฟ เป็นอันดับหนึ่ง?

เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะเราปลูกกาแฟ ถ้าเราไปคิดแบบนั้น ความคิดเราเปลี่ยน เราเห็นความลำบากมากไป ถ้าจะยืนอยู่จุดนั้นมันต้องทำอะไรอีกเยอะแยะ ซึ่งคนอื่นทำมาก่อนเราเป็นร้อยๆ ปี เราเพิ่งมาทำ เราไม่คิดถึงจุดนั้น แต่ต่อไปอาจจะเปลี่ยนได้ ที่ลาวเองมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เราอยากตั้งเป้าที่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนปลูกกาแฟให้มันดีเสียก่อน เขาถึงจะเริ่มที่จะรักต้นกาแฟของเขาได้ ไม่อย่างนั้นมันไม่ยั่งยืน

เทียบกับกาแฟอเมริกา หรือแอฟริกา เราในฐานะกาแฟอาเซียนอยู่ในระดับไหน?

ความเทียบเท่ามันมีนะคะ เพียงแต่กาแฟของอเมริกาของแอฟริกามีมานานแล้ว อาเซียนเราต้องรวมตัวกันถึงจะไปแข่งขันได้ นี่พูดถึงการทำให้เป็นที่รู้จักมากกว่า ส่วนคุณภาพเรามีอยู่แล้ว กาแฟของอาเซียน ทั้งในอินโดนีเซีย หรือเวียดนาม พื้นที่เราดีอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรจะให้เป็นที่รู้จัก เพราะอาเซียนเราเพิ่งจะรวมตัวกัน 7 ปีแล้ว อียูกับอเมริกาก็รู้ว่าเรามีดี แต่อย่างไรเขาก็ต้องสนับสนุนกาแฟของเขาก่อน เราจึงต้องให้คนอื่นรับทราบว่าของเรามี มันถึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นมา

ผู้บริโภคเปลี่ยนมาสนใจกาแฟอาเซียนมากขึ้นหรือยัง?

เขาก็เริ่มสนใจแล้วว่า กาแฟในอาเซียนจริงๆ มีใครบ้าง แต่ละที่มีใครบ้าง แล้วดีจริงหรือเปล่า เริ่มที่จะอยากรู้ว่ากาแฟมันเป็นอย่างไร เวลาเราดื่มกาแฟเราก็อยากจะรู้ว่ากาแฟตัวนี้มันเป็นอย่างไร ไม่เหมือนเมื่อก่อน คนเริ่มจะศึกษามากขึ้น

มีกลยุทธ์อย่างไรในการพาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดสากล?

เราทำการส่งเสริมการตลาดอยู่แล้ว รัฐบาลเองก็ช่วยอยู่แล้ว เราจึงค่อนค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าเราจะออกตัวทีหนึ่ง รัฐบาลพร้อมที่จะไปด้วยกันกับเรา ซึ่ง ณ จุดนี้แน่นอนว่า ประเทศอื่นๆ ไม่เหมือนเราหรอก รัฐบาลให้การสนับสนุนเกือบทุกอย่าง นี่ก็เพิ่งคุยกันเรื่องของการพัฒนากาแฟ ทั้งสายพันธุ์ และการปลูกต่างๆ

ตั้งเป้าผลักดันกาแฟดาวให้ถึงระดับไหน?

ก็ให้อยู่ตรงที่ระดับท็อป ระดับโลก เพราะเรารู้ว่ามันไปได้ กาแฟแต่ละประเทศล้วนมีความพิเศษของพื้นที่ ซึ่งของเราก็มีความพิเศษของพื้นที่ที่จะผลักดันให้ไปอยู่ตรงจุดนั้นได้เช่นกัน โดยของเราเป็นพื้นที่เดียวที่เป็นดินภูเขาไฟเก่า ง่ายต่อการปลูก ดินฟ้าอากาศดี ซึ่งปัจจุบันเราได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์จีไอแล้ว เป็นการการันตีว่าไม่มีพื้นที่ไหนที่เป็นแบบนี้ ปัจจุบันเรากำลังพัฒนาเป็นสเปเชี่ยลตี้ คอฟฟี่ เราอยากเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งตรงนี้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟได้ด้วย เพราะเกษตรกรก็ไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจว่ากาแฟของเขาเมื่อก่อนทำไมขายไม่ได้ราคา ซึ่งไม่ใช่ว่าได้เชอรี่ดีแล้วทุกอย่างจะดี แต่อยู่ที่กระบวนการผลิตเป็นกาแฟต้องดีด้วย

ส่งออกสินค้าไปกี่ประเทศ?

มีการส่งสินค้าทั้งในเอเชียและยุโรปมากกว่า 10 ประเทศค่ะ ในทวีปเอเชีย มีญี่ปุ่น จีน ไทย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ในประเทศญี่ปุ่นเราเน้นการส่งออกกาแฟดิบสายพันธุ์อาราบิกาถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ด้านประเทศจีนเน้นส่งสินค้าที่เป็นกาเเฟ 3 อิน 1 มากกว่า ส่วนทวีปยุโรป ประเทศที่เราส่งออกมีประเทศฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และเช็ก (สาธารณรัฐเช็ก)

สำหรับประเทศไทยที่ดาว คอฟฟี่ เข้าไปบุกตลาดเป็นที่แรกนั้น มองว่าไทยเป็นส่วนรวมของทุกอย่างก็ว่าได้ ทั้งแง่ประเทศที่นักท่องเที่ยวต่างมาเยี่ยมชม หรือด้านธุรกิจการลงทุนต่างๆ

คาดหวังกับตลาดในประเทศไทยอย่างไร?

อยากให้ “ดาว คอฟฟี่” อยู่ในอันดับเเรกๆ ของกาเเฟที่คนไทยชื่นชอบ แต่คงไม่คาดหวังจะให้ติดอันดับ 1 ใน 5 เพราะตลาดในประเทศไทยค่อนข้างใหญ่ มีการแข่งขันกันสูง รวมถึงผู้บริโภคของเราเป็นหน้าเดิมที่ดื่มกาแฟอยู่แล้ว เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้บริโภคคนไทยหันมานิยมดื่มกาแฟ “ดาว คอฟฟี่” เพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องตลาด ได้คิดวิธีการต่างๆ ว่าต้องทำอย่างไรให้ผู้บริโภคคนไทยหันมานิยมดื่มกาแฟดาวมากยิ่งขึ้น ตอนนี้เราได้ปรับเปลี่ยนรสชาติกาแฟให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคคนไทย พร้อมกับปรับเปลี่ยนรูปแบบแพ็กเกจจิ้งให้มีความพรีเมี่ยมมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน “ดาว คอฟฟี่” ได้จัดกิจกรรมต่างๆ กับตัวแทนจำหน่ายสินค้ามากยิ่งขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับบุกตลาดไทยให้มากขึ้นด้วย

ในแง่การโฆษณา การจะทำให้ทั่วโลกยอมรับกาแฟดาว

สิ่งที่ครอบครัวของเราคิดคือ “ดาว” เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่มาจาก “ลาว” ซึ่งถ้าเราไม่สามารถพัฒนา “ลาว” ได้ กาแฟดาวก็ไม่เกิด ฉะนั้น อย่างไรเสียกาแฟของลาวต้องเกิดก่อน ส่วนของเราเป็นส่วนผลักดันให้คนรู้จักลาวมากขึ้น มันต้องเดินไปคู่กัน

ทุกคนทำงานก็ต้องเน้นขายไปให้เยอะที่สุด แต่เราคิดอีกอย่างเพิ่มเติมคือ ต้องให้เขามาซื้อที่นี่ ให้มาหาเราให้ได้

 

242