วิธีปลูกพืช 1 ไร่ เก็บกิน-ขายได้ตลอดปี แนะเกษตรกรนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

ที่ไร่อรหันต์ ศูนย์เรียนรู้เกษตรรุ่นใหม่ หัวใจพอเพียง บ้านกุดปลาเข็ง หมู่ 1 ต.โนนค่า อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา นายปา ไชยปัญหา ปราชญ์ชาวบ้านเจ้าของไร่ ได้ออกมาแนะนำถึงวิธีใช้พื้นที่ดิน 1 ไร่ ปลูกพืชผลการเกษตรให้สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ภายใต้ชื่อโครงการ “1 ไร่ เก็บได้ทั้งปี” โดยเป็นการปลูกพืชผสมผสานแนวเกษตรอินทรีย์ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประสบความสำเร็จและกลายเป็นแปลงต้นแบบ ทำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อ.สูงเนิน สนใจมาศึกษาเรียนรู้กันเป็นจำนวนมาก

โดยนายปา ไชยปัญหา เจ้าของไร่อรหันต์ เปิดเผยว่า ตนนั้นมีอาชีพหลักคือเป็นพนักงานตำแหน่งซูเปอร์ไวเซอร์ ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ อ.สูงเนิน หลังจากได้ศึกษาถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็คิดอยากจะทำอาชีพเกษตรกร จึงได้ซื้อที่ไว้บริเวณบ้านกุดปลาเข็ง จำนวน 27 ไร่ และเริ่มตระเวนไปศึกษาเรียนรู้กับนักปราชญ์ดังๆ ทั่วประเทศ จนในที่สุดก็ได้ความรู้มาทดลองปลูกพืชผลการเกษตรต่างๆ มากมาย ประสบความเร็จ กลายเป็นที่สนใจของคนในละแวกใกล้เคียงเป็นอย่างมาก จึงเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้น ซึ่งล่าสุดได้แบ่งที่ 1 ไร่ จัดทำโครงการ “1 ไร่ เก็บกินได้ทั้งปี” อันเป็นการใช้พื้นที่เพียงน้อยให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขาย หรือกินเองได้ตลอดทั้งปี

โดยวางจุดศูนย์กลางของพื้นที่ทำเป็นบ่อซีเมนต์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร สำหรับเก็บน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ ต่อท่อพีวีซีส่งน้ำไปรดพืชทั้ง 1 ไร่ สำหรับวิธีปลูกพืชนั้น จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ส่วนละ 1 งาน โดยส่วนที่ 1 จะปลูกสะเดาดำ และฝรั่งแดงทับทิมสยาม อย่างละ 15 ต้น ซึ่งจะตอนกิ่งขายได้ตลอดทั้งปี ขายกิ่งละ 100 บาท 1 เดือนสามารถตอนกิ่งขายได้ประมาณ 90 กิ่ง สร้างรายได้เดือนละ 9,000 บาท ส่วนที่ 2 ปลูกผักสลิดพันธุ์ดอกไว้ 7 แถว ซึ่งจะออกดอกช่วงระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนตุลาคม

โดยสามารถเก็บดอกเวียนไปทั้ง 7 วัน วันละ 4 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท สร้างรายได้วันละ 200 บาท ส่วนที่ 3 จะปลูกพริกแฟนซีใส่กระถาง ขายกระถางละ 50 บาท ขายได้ทุกเดือน เดือนละ 50 กระถาง สร้างรายได้เดือนละ 2,500 บาท ส่วนที่ 4 ปลูกชะอมไร้หนาม 5 ต้น เพื่อตอนกิ่งขาย ซึ่งสามารถตอนกิ่งได้ประมาณ 200 กิ่งต่อปี ขายกิ่งละ 30 บาท สร้างรายได้ปีละ 6,000 บาท โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สามารถนำไปใช้ได้จริงในทุกพื้นที่ เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มากแค่ 1 ไร่ สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงแน่นอน จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อันจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ นายปา กล่าว