“หมอนขิดแม่แย้ม” ภูมิปัญญาคนอีสานสร้างรายได้ ได้คนรุ่นใหม่พาไปโกอินเตอร์

“ผ้าขิด” นับเป็นผ้าทอพื้นเมืองของคนภาคอีสานที่มีสีสันสดใส ถูกนำมาใช้งานหลากหลาย อาทิ ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ประดับบ้าน ของฝาก ของที่ระลึก  รวมถึงใช้หนุนนอน หรือเป็นเบาะรองนั่ง ปัจจุบันแหล่งผลิต “หมอนขิด” ที่ใหญ่มากๆ อยู่ที่ชุมชนบ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมทำหมอนขิดเพื่อสร้างอาชีพ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี

นางแย้ม จันใด หรือที่คนในชุมชนต่างเรียกขานว่าแม่แย้ม คือ เจ้าของผลิตภัณฑ์ “แม่แย้มหมอนขิด”หมอนขิดที่มีรูปแบบหลากหลาย วัสดุหลักคือนุ่นและฟางข้าว หนุนแล้วไม่ร้อนไม่ยุบตัว ไม่มีเชื้อรา การันตีสินค้าโอท็อป 4 ดาวระดับจังหวัด ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้ามากกว่า 2 ล้านคน สร้างรายได้แต่ละเดือน5แสนบาท

แม่แย้ม เล่าว่า เกิดและเติบโตขึ้นมาที่บ้านศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เมื่อก่อนเป็นเกษตรกรปลูกข้าว พอว่างจากฤดูทำนาก็ไปรับจ้างเย็บหมอนขิด ทำทุกขั้นตอน ได้ค่าจ้างวันละ 200 บาท ใช้เพื่อเลี้ยงครอบครัว และเก็บเป็นทุนการศึกษาของลูกอีก 2 คน

หลังจากแม่แย้มเป็นลูกจ้างเย็บหมอนขิดได้ 5 ปี เธอบอกว่า เห็นโอกาสทำตลาดเอง เพราะจากการสังเกตมีลูกค้ามารับไปจำหน่ายต่อเยอะ ลูกค้าต่างชาติก็มีเข้ามา ปี 2542 ตัดสินใจเลิกเป็นลูกจ้างแล้วหันมาผลิตหมอนขาย ใช้บริเวณบ้านเป็นหน้าร้าน

ปี 2542 แม่แย้ม ยกตัวเองจากลูกจ้าง สู่การเป็นเจ้าของกิจการ ใช้ชื่อเครื่องหมายการค้า “หมอนขิดแม่แย้ม” เริ่มจากหมอนหนุน เบาะนั่ง และเบาะสามเหลี่ยม ช่วงแรกๆ ขายได้วันละ 2,000-3,000 บาท จากนั้นเพิ่มรูปแบบมากขึ้นเรื่อยๆ กว่า 10 รูปแบบ ส่วนแรงงานใช้วิธีจ้างคนในท้องถิ่นช่วยกันทำ

“คนในละแวกชุมชนบ้านศรีฐาน ส่วนใหญ่จะทำหมอนขิดเป็น เลยมองว่าใครถนัดด้านเย็บ สอย หรือบรรจุนุ่น ก็สามารถรับวัสดุอุปกรณ์กลับไปทำที่บ้านได้ .ในส่วนของรูปแบบก็เพิ่มตามความต้องการลูกค้า ทุกขั้นตอนประณีตสวยงาม ได้รับเลือกให้เป็นโอทอป 4 ดาว” แม่แย้มเล่า

สำหรับรูปแบบหมอนขิด มีตั้งแต่หมอนหนุน หมอนสามเหลี่ยม เบาะรองนั่ง หมอนข้าง ที่นอน หมอนรองคอ หมอนอเนกประสงค์ รวมถึงใช้ผ้าทันสมัยมากขึ้น เช่นผ้าลาย ผ้าที่มีสีสัน จุดเด่นนอกจากรูปแบบที่ทันสมัย ผลิตตามความต้องการใช้งาน วัสดุเป็นนุ่น ฟางข้าวตากแห้ง โดยเฉพาะหมอนสามเหลี่ยมรูปทรงจะไม่ยุ่ย ไม่ยุบตัว ไม่ย้วย ไม่เป็นเชื้อรา  หนุนแล้วไม่ร้อนหนุนบ่อยๆจะนิ่ม

ด้านช่องทางการตลาด นอกจากจำหน่ายที่บ้าน แม่แย้มยังออกงานแสดงสินค้าโอท็อปทั่วประเทศ ลูกค้ารู้จักมากขึ้น มีพ่อค้าคนกลางรับไปส่งลูกค้าต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน กัมพูชา ลาว นอกจากนั้นยัง ขายผ่านทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง หรือ ขายผ่านร้าน 7-11 สร้างรายได้ต่อเดือนราว 5 แสนบาท

“เมื่อปี 59 เป็นช่วงที่ลูกชายหรือนายกฤษณพง์  จันใด จบปริญญาตรี ช่วงนั้นลูกเข้ามาช่วยงาน โดยดูแลเรื่องการขายการตลาด ตระเวนออกบูธขายสินค้าตามงานโอทอป และระหว่างที่ออกงาน มีโอกาสได้เจอทีมงานของบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด บริษัทในกลุ่มซีพีออลล์ แนะนำให้มาขายผ่านนิตยสารทเวนตี้โฟร์ แคตตาล็อก จึงนำหมอนสามเหลี่ยมขิด เบาะรองนั่ง เข้าไปจำหน่าย ปรากกฎได้ผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ส่งหมอนเดือนละ 100 กว่าใบ ปัจจุบันปี 60 ได้เพิ่มสินค้าเข้าไปจำหน่าย 8 รายการ ส่ง 1,000 กว่าชิ้น คือเพิ่มหมอนหนุนเพื่อสุขภาพ หมอนรองคอ ที่นอนพับ และที่นอนระนาด เป็นต้น”

ด้านแรงงาน แม่แย้ม บอกว่า อาศัยเพื่อร่วมงานในหมู่บ้านมาช่วยกันทำราว 30 ชีวิต จ้างเป็นรายเหมา ส่วนลูกค้าที่ซื้อหมอนขิด มีทุกเพศทุกวัย ซื้อไปใช้งาน เป็นของตกแต่งบ้าน ของรับไหว้ สร้างรายได้กว่า5 แสนบาทต่อเดือน คาดว่ารายได้ในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10% เพราะจะเพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น เช่น ส่งไปขายที่ตลาดไอยรา จังหวัดปทุมธานี ส่งขายไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศ และปัจจุบันมีการส่งออกไปขายยังประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกาด้วย

ด้านคุณอำพา ยงพิศาลภพ  รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด บริษัทในกลุ่มซีพีออลล์ กล่าวว่าบริษัทมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าทั่วไปและสินค้านวัตกรรมจากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่นิยมจากประชาชนโดยบริษัททำหน้าที่เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้เพื่อส่งตรงถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านช่องทางที่หลากหลายของทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้งอาทินิตยสารทเวนตี้โฟร์แคตตาล็อก, เว็บไซต์www.24catalog.com, www.shopat24.com,www.amulet24.com,แอปพลิเคชัน,ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ซึ่งสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ช้อปปิ้งสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง

“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายผ่านทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้งกว่า9,000 รายการโดยบริษัทได้ช่วยสนับสนุนด้วยการเข้าไปร่วมพัฒนาสินค้าและบริการร่วมกับผู้ประกอบการรายย่อยตลอดจนเป็นช่องทางการขายตั้งต้นให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้ตลาดและการจัดการด้านค้าปลีกทันสมัย เพื่อต่อยอดในการขยายตัวไปยังช่องทางอื่นๆอีกทั้งจัดให้มี Store Hub เพื่อให้ฝากส่งสินค้าที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นสาขาต่างๆเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า รวมถึงผลักดันเอสเอ็มอีไปสู่ตลาดเอเชียขายสินค้าให้ลูกค้าชาวจีนและลาว ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้เอสเอ็มอีตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน” นายอำพากล่าว

##########