สุดยอดไอเดีย! สาวโคราชทำ “จานกาบหมาก” ภาชนะรักษ์โลก ผลิตเท่าไหร่ไม่เคยพอ 

สุดยอดไอเดีย! สาวโคราชทำ “จานกาบหมาก” ภาชนะรักษ์โลก ผลิตเท่าไหร่ไม่เคยพอ 

“ใบกาบหมาก” ที่ร่วงจากต้นอย่างไร้ค่า ถูกคุณสุมาลี ภิญโญ หญิงสาวโคราช หัวคิดดีนำมาสร้างแบรนด์ ‘วีรษา’ (VEERASA) เพิ่มมูลค่าและดีไซน์ให้เป็นภาชนะใส่อาหารคาว – หวาน ขายได้ถึงใบละ 5 – 9 บาท กลายเป็นวัสดุธรรมชาติที่หายาก ถูกใจชาวรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาเพียงปีกว่าส่งขายท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต 50 สาขา กำลังการผลิตเดือนละ 5 หมื่นชิ้น ลูกค้าต่างชาติโหยหา เจ้าของสินค้าเร่งหาวัตถุดิบนำมาผลิตเพิ่ม

จานกาบหมาก รายแรกในไทย

คุณสุมาลี ภิญโญ  เท้าความว่า เมื่อ พ.ศ.2539 ในตอนนั้นได้รับมอบหมายให้จัดงานเลี้ยงอาหารขันโตก ที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา งานประเพณีภาคอีสานนั่งกินอาหารกับพื้นในช่วงค่ำ สมัยนั้นภาชนะบรรจุอาหารเป็น “โฟม” ซึ่งสวนทางกับธีมงานที่เป็นแบบย้อนยุค อีกทั้งโฟม เป็นขยะกำจัดยาก ปีต่อมาเปลี่ยนใช้กระทงใบตอง แต่ทว่าใบตอง ใส่อาหารได้น้อย ใส่อาหารที่มีน้ำก็รั่ว ฉีกขาดง่าย ณ เวลานั้นยังหาทางออกไม่ได้ จนกระทั่งมาเจอใบกาบหมากจากต้นหมาก ทดลองนำมาขึ้นรูปเป็นจาน ชาม ปรากฏใส่อาหารได้ทุกเมนู จากนั้นค่อยๆ ต่อยอดเรื่อยมาจนกลายเป็นธุรกิจ

วันที่คุณสุมาลีเจอใบกาบหมาก เธอ บอกว่า เห็นร่วงอยู่ที่พื้น ปกติชาวสวนจะนำไปเผา แต่จากการสังเกตเห็นว่าใบไม้ชนิดนี้มีลักษณะแข็ง เลยลองให้สามีซึ่งเป็นช่าง ขึ้นรูปเป็นจาน ปรากฏใส่อาหารร้อน-เย็นได้ ใส่น้ำได้ไม่รั่ว เข้าไมโครเวฟได้ เลยทำขายตั้งแต่ปี 2540 ค่อยๆ พัฒนาเรื่อยมา กระทั่งปี 2547 ส่งเข้าประกวดสินค้าโอท็อปได้ 4 ดาว จากนั้นไปขายที่งานโอท็อป เมืองทองธานี ขายดิบขายดี สินค้าไม่พอขาย ต้องทำตามออร์เดอร์เท่านั้น

“ย่านอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านปลูกต้นหมากกันมาก ส่วนใหญ่จะเก็บแต่ลูกหมากไปเคี้ยว กาบหมากหรือใบมักจะถูกทิ้ง หรือนำไปเผา  ดิฉันนำมาทดลองทำภาชนะ โดยคิดค้นเครื่องจักรปั๊มขึ้นรูปโดยใช้ความร้อน สามารถผลิตกาบหมากออกมาเป็นภาชนะรูปแบบต่างๆ”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “จานกาบหมาก” ของคุณสุมาลีก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปี 2558 เจ้าของเริ่มสร้างแบรนด์ ใช้ชื่อ ‘วีรษา’ (VEERASA) ชื่อนี้มาจากชื่อของคุณปู่ และคุณย่า รวมกัน “วีระ+อุษา” ซึ่งหญิงสาวมองว่าเป็นชื่อที่สามารถจดจำได้ง่าย ชาวต่างชาติออกเสียงได้ไม่ยาก

“จานกาบหมากวีรษา แม้จะขายมานานตั้งแต่ปี 47 แต่เป็นที่รู้จักในตลาดวงกว้างราว ปี 60 อาศัยการออกบู๊ธอย่างสม่ำเสมอและลูกค้าบอกปากต่อปาก ขนาดมีลูกค้าต่างชาติบินมาสั่งที่โรงงาน อาทิ  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ”

ภาชนะรักษ์โลกโดนใจต่างชาติ

ผลจากการออกบู๊ธ และลูกค้าบอกต่อ “จานกาบหมาก” มีออร์เดอร์เพิ่มมากขึ้น แต่ทว่าโรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการ เพราะเครื่องจักรมีตัวเดียว ในปี 2560 คุณสุมาลี บอกว่า ตัดสินใจขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร   (ธ.ก.ส.) ผ่านโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SMEs เกษตร จำนวน 9 แสนบาท โดย บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงิน ระยะเวลา 7 ปี ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ปรับปรุงใหม่ เพื่อลงทุนซื้อเครื่องจักร และเครื่องมือในการผลิตภาชนะจากกาบหมากเพิ่ม หวังขยายกิจการ

“สำหรับเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่มีหลักทรัพย์ ปรึกษาธนาคารเพื่อขอวงเงินสินเชื่อ แล้ว ให้ บสย. มาช่วยค้ำประกัน จะดีกว่าไปหาเงินกู้นอกระบบ”

ผลของการซื้อเครื่องจักรดังกล่าว คุณสุมาลี กล่าวว่า บริษัทเพิ่มศักยภาพการผลิต ทำให้มีสินค้าออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 5-6 หมื่นชิ้นต่อเดือน

สำหรับจุดเด่นของภาชนะจากกาบหมาก เจ้าของสินค้า ระบุว่า มาจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ปราศจากสารเคมีและการฟอกสี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่แตกหักง่าย น้ำหนักเบา ใส่อาหารได้ทุกเมนู ใส่ของเหลวได้ เข้าเตาไมโครเวฟได้ ไม่อ่อนตัว ทนความร้อนได้ดี มีกลิ่นหอม และลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ย่อยสลายได้เองใน 45 วัน

ด้าน “กาบหมาก” ที่นำมาใช้นั้น คุณสุมาลี ระบุว่า อายุ 3-5 ปีขึ้นไป ต้นหมาก 1 ต้น จะมีกาบหมากตลอดทั้งปีจำนวน 15 กาบ กาบหมากที่มีความสมบูรณ์จะร่วงจากต้นเอง

ผลิตเท่าไหร่ไม่เคยพอขาย

ในส่วนของขั้นตอนการทำ นำกาบหมากที่ร่วงจากต้น เลือกขนาดที่ต้องการนำมาล้างทำความสะอาด ให้ดินโคลนออกทั้งหมด ตากแดดให้แห้งสนิท จากนั้นนำเข้าเครื่องจักรความร้อนสูงปั๊มแบบลงไป ตัดแต่งให้สวยงาม ความพิเศษของบรรจุภัณฑ์จานกาบหมาก คือ มีความแข็งแรง แต่ควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะหากโดนน้ำแล้วตากไม่แห้งจะชื้น มีเชื้อรา

ด้านวัสดุที่คุณสุมาลีใช้ ส่วนหนึ่งเธอปลูกต้นหมากเอง อีกส่วนหนึ่งรับซื้อจากเกษตรกรซึ่งจะรับซื้อราคากิโลกรัมละ 8 บาท  และเนื่องจากวัสดุมีไม่พอต่อความต้องการ หญิงสาวเลยส่งเสริมให้เกษตรปลูกหมากโดยการจะรับซื้อทั้งหมด  ดำเนินการแล้วที่ตำบลหนองสาหร่าย  อำเภอปากช่อง โดยพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกต้นหมากได้ประมาณ 1,000 ต้น พร้อมยกระดับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้

สำหรับกำลังการผลิต หญิงสาว บอกว่า ประมาณ 1,200 ชิ้น/วัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการเดือนละ 5 แสนชิ้น ด้านราคาจำหน่าย ต้นทุนต่อชิ้นอยู่ที่ประมาณชิ้นละ 5 บาท  ปัจจุบันส่งขายอยู่ที่ ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต 50 สาขา และตามออร์เดอร์เท่านั้น

ผู้ผลิต บอกเพิ่มเติมว่า เพื่อใช้กาบหมากให้คุ้มค่ามากที่สุด ปัจจุบันนำเศษที่เหลือมาปั๊มขึ้นรูปเป็นช้อน ถ้วยใส่ขนม และจะไม่หยุดพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค

สำหรับเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่มีหลักทรัพย์ ปรึกษาธนาคารเพื่อขอวงเงินสินเชื่อ แล้ว ให้ บสย. มาช่วยค้ำประกัน จะดีกว่าไปหาเงินกู้นอกระบบ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2561