ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ขนมทรงกลม ใหญ่กว่าฝ่ามือ แผ่นแป้งบางๆ หลากสี โรยด้วยน้ำตาลอ้อย หากมองผ่านๆ และเทียบกับขนมที่เคยกินแล้ว หลายๆ คนคงจะคิดว่ามันคล้ายกับข้าวเกรียบว่าวและขนมนางเล็ด มาผสมผสานกัน
แต่ขนมชนิดนี้เป็นขนมโบราณของคนตำบลดอน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่ใน 1 ปีจะได้ลิ้มรสเพียง 1 ครั้งเท่านั้น มีชื่อเรียกว่า.. “ขนมหูช้าง”
เรื่องน่าใจหายก็คือนับวันคนที่ทำขนมหูช้างในชุมชนเริ่มเหลือน้อยลง เด็กยุคใหม่รุ่นลูกหลานรู้จักขนมหูช้างเพราะเคยเห็นเคยชิม แต่ถ้าถามถึงที่มาของขนมชนิดนี้รวมไปถึงขั้นตอนกระบวนการทำกลับไม่มีใครตอบได้ เพราะเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของการค้นหาเรื่องราวท้องถิ่นที่ซ่อนอยู่ในขนมหูช้าง
น้องมีนา เด็กหญิงทิพาวดี วงศ์ไตรรัตนกุล เล่าว่า “พวกเราเป็นสมาชิกกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนตำบลดอนค่ะ มีสมาชิกตั้งแต่พี่ๆ ชั้นมหาวิทยาลัย ถึงน้องๆ ชั้นประถมศึกษาชวนกันลงพื้นที่ไปดูของดี ไปคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชน จนรู้ว่าชุมชนของเรายังมีเรื่องอะไรอีกหลายอย่างที่เด็กๆ อย่างพวกหนูไม่รู้จักค่ะ”
พี่ๆ แกนนำรุ่นโตชักชวนน้องๆ เดินเข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ ฟังเรื่องเล่าหาข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่หลายคนในชุมชน และรับรู้ว่า ในชุมชนมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการสานปลาตะเพียน การทำขนมถ้วย และการทำขนมหูช้าง ช่วยกันเก็บข้อมูล ถอดสูตร ฝึกฝน ฝึกทำ และได้รับรู้ว่า “ขนมหูช้าง” มีเรื่องราวพิเศษซ่อนอยู่ไม่น้อย
“ขนมหูช้างที่บ้านหนูมีที่อำเภอปักธงชัยกับอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เท่านั้นค่ะ สมัยก่อน 1 ปี จะได้กินแค่ครั้งเดียวในช่วงเทศน์มหาชาติ แต่เดี๋ยวนี้อยากกินตอนไหน ก็ทำได้เพราะทำเป็นแล้วค่ะ” น้องข้าวฟ่าง สิริขวัญ นุชทอง เด็กหญิงตัวน้อยเล่าเรื่องขนมหูช้างอย่างภูมิใจ
ยายละเอียด ชูวาท์ เจ้าของสูตรขนมหูช้าง เปิดบ้านต้อนรับเด็กๆ ให้มาเล่น มาเรียน มาฝึกทำขนมเป็นประจำ ยายละเอียดมักเล่าให้ลูกหลานฟังเสมอว่า ตอนยายเล็กๆ ก็เห็นก็ช่วยแม่ทำขนมหูช้าง พอถึงช่วงเทศน์มหาชาติทุกบ้านก็จะเตรียมวัตถุดิบ อุปกรณ์สำหรับทำขนมหูช้าง เมื่อทำเสร็จก็จะเอาไปประดับประดาตกแต่งในกัณฑ์เทศน์ที่วัดใกล้บ้าน รวมกับขนมนางเล็ดและดอกจอก ยายละเอียดบอกว่า นางเล็ด ดอกจอก เพิ่งจะมาทีหลัง แต่ขนมหูช้างบ้านเรายายเห็นรุ่นแม่เขาตกแต่งกัณฑ์เทศน์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ข้าวฟ่าง บอกว่า “ทำเป็นก็ดีใจค่ะ เพราะหนูไม่เคยรู้จักขนมหูช้างมาก่อนค่ะ เวลามีงานเทศน์มหาชาติก็ไม่ต้องซื้อแล้วค่ะ ทำเองได้ ได้บุญด้วยค่ะ”
“หนูก็อยากรู้อีกว่าชุมชนเรามีของดีอะไรบ้างที่เรายังไม่เคยไปเรียนรู้ แล้วอยากสอนน้องๆ รุ่นต่อไปให้รู้จักขนมหูช้างค่ะ” มีนา เล่าเสริม
บางสิ่งใกล้ตัวจนหลงลืมกันไป แค่ลองมองก็จะพบคุณค่าอีกมากมาย จุดประกายความรักและความภูมิใจในสิ่งดีๆ ของชุมชน แม้เด็กๆ ตำบลดอนจะเติบโตท่ามกลางกระแสความเจริญที่รุกเข้ามา แต่ผู้ใหญ่ในชุมชนยังคงรักษาวิถีวัฒนธรรมย้ำเตือนเด็กๆ รุ่นใหม่ให้ช่วยกันสืบสานต่อไป
“อยากรู้จักหูช้างต้องมา ที่ตำบลดอน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา นะคะ หนูจะพาไปชิมค่ะ” น้องข้าวฟ่าง กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามการเรียนรู้เล็กๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจดีๆ เรื่องราวความลับแสนอร่อยที่เด็กๆ เป็นผู้ค้นพบในตอน ความลับของหูช้าง เช้าวันเสาร์ 06.25 น. ช่อง 3 ช่อง 33 ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ทาง www.payai.com หรือเฟซบุ๊กทุ่งแสงตะวัน