ภูมิปัญญาชาวบ้าน คิดค้นเตาดินใช้เผาถ่าน ได้ถ่านคุณภาพดีความร้อนสูง

เมื่อพูดถึง “ถ่าน” หลายคนคุ้นกับชิ้นไม้สีดำที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้มมากันยาวนาน  ความจริงแล้วประโยชน์ของถ่านยังช่วยดูดซับกลิ่นเหม็นอับไม่พึงประสงค์ในจุดต่างๆ ได้อีก จนกระทั่งในปัจจุบันพบว่าถ่านที่เกิดจากการนำไผ่มาเผา มีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ในการเป็นเชื้อเพลิงได้มีประสิทธิภาพมากกว่าถ่านทั่วไป พร้อมกับยังถูกนำไปแปรรูปใช้ในวงการอุตสาหกรรมอื่นๆ สร้างมูลค่าได้มหาศาล

คุณองอาจ ประจันทะศรี อยู่บ้านเลขที่ 76 หมู่ที่ 7 บ้านโนนสำราญ ตำบลอินทร์แปลง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร นำลำไผ่อ่อนที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อมาสร้างมูลค่าด้วยการเผาแล้วรับซื้อจากชาวบ้าน แล้วนำไปเข้ากระบวนการผลิตถ่านอัดแท่งที่มีคุณภาพสูง เหมาะกับร้านอาหาร ช่วยให้ประหยัดเวลา และประหยัดต้นทุน

“แนวคิดผลิตถ่านไผ่เกิดจากการนำต้นไผ่อ่อนที่ถูกตัดทิ้งเพื่อมาใช้ทำต้นกล้าเพาะขายที่เกิดขึ้นถึงปีละกว่า 4-5 หมื่นต้น มาเผาเป็นถ่านหุงต้ม ซึ่งโดยปกติทั่วไปนิยมใช้ไผ่แก่มาเผาทำให้ได้ถ่านที่มีคุณภาพความร้อนสูง แต่ภายหลังจากทดลองนำลำไผ่อ่อนมาเผาแล้วปรับวิธีจนได้คุณภาพมาตรฐานพลังงานเทียบเท่าหรือมากกว่าถ่านจากไผ่แก่หรือจากไม้เบญจพรรณเสียด้วย”

คุณองอาจ บอกว่า แต่เดิมชาวบ้านมีการเผาถ่านไว้ใช้และขายกันตามปกติ โดยใช้ไม้ชนิดต่างๆ จึงมองว่าหากทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบความเสียหายต่อการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ อีกทั้งยังทำลายระบบนิเวศ ขณะเดียวกัน พบว่าลำไผ่อ่อนที่ชาวบ้านตัดเพื่อนำต้นกล้ามาเพาะพันธุ์มีอยู่เป็นจำนวนมากน่าจะใช้ประโยชน์ทดแทนได้ จึงขนย้ายไม้ไผ่อ่อนจากพื้นที่ที่ชาวบ้านแต่ละรายปลูกกันเอาไว้ แล้วนำมาตัดเป็นท่อนขนาดยาว 60 เซนติเมตร ให้เสมอความสูงของเตาเผา

เตาดินที่ใช้เผาถ่านไผ่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างด้วยดินแล้วยังเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.20 เมตร มีความสูง 1.60 เมตร ถือว่าเป็นเตาที่มีขนาดเล็กซึ่งชาวบ้านใช้งานเผาถ่านขายหรือไว้ใช้งานเป็นประจำโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินสร้างเตาเผาแบบเทคโนโลยีสมัยใหม่

ทั้งนี้ เตาเผาดินสามารถเผาไม้ไผ่อ่อนได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องปรับวิธีการใช้ความร้อนให้เหมาะสมด้วยการเรียงไม้ไผ่ที่จะเผาให้อยู่ในแนวตั้ง ไม่ต้องชิดกันให้เกิดช่องว่างระหว่างลำในลักษณะกากบาท เพื่อต้องการให้มีความร้อนผ่านช่อง ทำให้ไผ่ทุกท่อนได้รับความร้อนจากการเผาได้ทั่วถึงและเท่ากัน อย่างไรก็ตาม ถ่านไผ่ที่ผลิตขึ้นตามแนวทางนี้ได้ผ่านการทดสอบความร้อนแล้วพบว่ามีคุณภาพเทียบเท่ากับไม้ไผ่แก่ที่นำมาเผาขายทั่วไปเช่นกัน

“ช่วงเวลาเผาแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 3 วัน โดยวันแรกเผาเพื่อต้องการไล่ความชื้นออกจากไม้ พอวันที่ 2-3 ความร้อนจะเข้าไปในเนื้อไม้ ขณะเดียวกัน คนที่ดูแลเผาจะต้องควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้มีความพอดี เพราะถ้าน้อยไปเชื้อไฟที่เผาจะดับหรือถ้ามากไปไผ่ที่เผาอาจจะกลายเป็นขี้เถ้าทันที

ฉะนั้น ผู้ที่อยู่หน้าเตาเผาจะต้องมีทักษะในการควบคุมความร้อนจากเชื้อเพลิงของหน้าเตากับควันที่ปล่อยออกมาจากท้ายเตาให้มีความพอดี ภายหลังที่ได้ครบเวลาก็จะปิดช่องด้านหน้าและหลังเพื่อรอให้ไฟในเตาดับสนิทเองก่อน จากนั้นจึงค่อยลำเลียงไม้ไผ่ถ่านออกมาใส่กระสอบขาย”

คุณองอาจชี้ว่า การให้ชาวบ้านเปลี่ยนเผาถ่านจากไม้เบญจพรรณมาเป็นไม้ไผ่ เนื่องจากต้องการอนุรักษ์ไม้เบญจพรรณทางธรรมชาติให้มีมากขึ้นทั่วทั้งผืนป่าทุกแห่ง ขณะเดียวกัน ในทุกปีชาวบ้านจะตัดไม้ไผ่อ่อนทิ้ง ดังนั้น จึงเห็นว่าน่าจะนำไม้ไผ่อ่อนมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่า ซึ่งถ้าชาวบ้านเผาถ่านจากไผ่ทางคุณองอาจจะรับซื้อเพื่อให้ชาวบ้านมีตลาดรองรับสร้างความเชื่อมั่น หรืออีกแนวทางคือต้องการหาพลังงานทดแทนอย่างอื่นแทนการใช้ไม้เบญจพรรณ

“หลังจากชาวบ้านเผาถ่านไผ่อ่อนเสร็จแล้วคุณองอาจจะรับซื้อไม้ไผ่ที่เผาแล้วจากชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มในราคากระสอบละ 120 บาท จากนั้นนำถ่านมาบด ผสมน้ำ หมักน้ำไว้ 1-2 คืนให้ถ่านนิ่ม อัดเป็นก้อนตากให้แห้ง บรรจุลงในถุงพลาสติกตามจำนวนที่ลูกค้าสั่ง แล้วขายในราคากิโลกรัมละ 18 บาท”
สำหรับคุณสมบัติของถ่านที่ผลิตจากไผ่อ่อน คุณองอาจชี้ว่า มีประสิทธิภาพการให้ความร้อนสูง มีควันน้อย ไม่มีเปลวไฟ ประหยัดเวลาการใช้เพราะจะร้อนเร็วกว่าถ่านทั่วไปหลายเท่า แถมยังใช้ในจำนวนที่น้อยกว่าถ่านที่ผลิตจากไม้เบญจพรรณ

“เวลานำไปใช้งานลูกค้าถามว่าดูเหมือนจะไม่ค่อยร้อน แต่แท้จริงแล้วให้พลังงานความร้อนที่สูงและเป็นความร้อนคงที่ อย่างถ้าใช้ย่างปลาจะพบว่าเนื้อปลาด้านในสุกก่อนหนังปลา ต่างจากถ่านทั่วไปที่พบว่าหนังปลาจะไหม้ก่อนแต่เนื้อปลายังไม่สุกเลย”

ทางด้านการตลาดของคุณองอาจมี 2 รูปแบบ ได้แก่ การผลิตเพื่อจำหน่ายสำหรับใช้ตามร้านอาหารประเภทปิ้ง ย่าง เผา และอีกทางคือการรับจ้างผลิตถ่านอัดแท่งเกรดคุณภาพพร้อมบรรจุส่งให้ลูกค้านำไปติดแบรนด์ขายต่อ

“การผลิตถ่านไม้ไผ่ของกลุ่มจะให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นหลัก ทั้งนี้ กลุ่มจะผลิตตามกำลังและให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน ไม่เน้นปริมาณเท่ากับคุณภาพเพราะถ้าลูกค้านำสิ่งที่ไม่มีคุณภาพไปใช้จะเกิดความเสียหาย แล้วจะทำลายชื่อเสียงของกลุ่มตามมาในภายหลังด้วย” คุณองอาจ กล่าว

ท่านใดที่เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารแนวปิ้ง ย่าง และเผา กำลังมองหาถ่านหุงต้มคุณภาพแล้วให้ประสิทธิภาพความร้อนสูง ประหยัดเวลาและเงินทุน เพื่อช่วยให้ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น ติดต่อได้ที่ คุณองอาจ โทรศัพท์ (084) 418-9436 

หมายเหตุ : คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เปิดอบรมหลักสูตรฝึกอบรมนอกสถานที่เรื่อง “การฝึกวิชาชีพจากไม้ไผ่เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าไม้” ขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2561

ผู้สนใจติดต่อ คุณนิราวรรณ วงษ์ลุนลา โทรศัพท์ (064) 323-8740 ดร.พัดชา เศรษฐากา โทรศัพท์ (081) 768-9707