ย้อนตำนานกิจการ S&P 50 ปี กว่าจะมีวันนี้ จากอดีตร้านตึกแถว สู่บริษัทหมื่นล้าน

จากร้านอาหารที่เป็นเพียงจุดนัดพบของนักการเมืองในย่านสุขุมวิท มีแต่ทหารอเมริกันเดินเพ่นพ่าน เสิร์ฟเพียงไอศกรีมโฟร์โมสต์ และอาหารจานเดียวไม่กี่เมนูในตึกแถวคูหาเดียวเล็กๆ

ปัจจุบัน ผงาดกลายเป็นบริษัทมหาชน เจ้าของอาณาจักรเบเกอรี่ที่มีสาขาเกือบ 500 สาขา มีพนักงานมากถึง 7,000 คน แต่ละปีจำหน่ายเค้กได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านก้อน รายได้รวมทั้งปีเหยียบหมื่นล้านบาท นั่นคือ บริษัท เอส แอนด์ พี จำกัด (มหาชน) หรือ S&P (Super Service & Premium Product) เจ้าของสโลแกน “ชื่อนี้มีแต่ของอร่อย” บุกเบิกโดย 5 นักเรียนนอกพี่น้องตระกูล “ไรวา” โดยมี คุณภัทรา (ศิลาอ่อน) เป็นหัวเรือใหญ่ (ปัจจุบันสมรสกับนายอมเรศ ศิลาอ่อน) ตามมาด้วย คุณพรพิไล คุณพันทิพา คุณสุทธิสุดา และ คุณสมศรี ช่วยกันลงขัน คนละ 25,000 บาท

5 พี่น้อง ร่วมกันลงขันเปิดร้านอาหาร
ไม่รีบโต 7 ปี ขยายสาขา

คุณภัทรา ศิลาอ่อน ย้อนวันวานให้เส้นทางเศรษฐีฟังว่า ในช่วงแรกของร้าน S&P เป็นเพียงห้างหุ้นส่วน สภาพร้านเป็นตึกแถวคูหาเดียวเล็กๆ ตั้งอยู่ที่หัวมุมซอยสุขุมวิท 23 ร้านแรกใช้ชื่อ S&P Ice-Cream Corner (เอส แอนด์ พี ไอศกรีม คอร์เนอร์) เพราะว่าเริ่มต้นขายไอศกรีม อาหารจานเดียวและของว่างไม่กี่เมนู หลังจากที่ได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2532 “S&P” ได้แปลงความหมายเป็น “Super Service & Premium Product”

“ร้านเอส แอนด์ พี ไอศกรีม คอร์เนอร์ ตั้งใจอยากให้เป็นธุรกิจครอบครัวบริหารงานโดยพี่ๆ น้องๆ เปิดร้านในวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ไม่มีใครกล้าออกจากบ้าน ฉะนั้น วันแรกจึงขายได้เพียง 300 บาทเท่านั้น”

ย้อนกลับไปเกือบ 50 ปี ในช่วงแรกของร้านเอส แอนด์ พี ไอศกรีม คอร์เนอร์ ถือว่าประสบความสำเร็จเท่าที่ควร คุณภัทรา บอกว่า คนในย่านสุขุมวิทพูดถึงกันมาก เพราะสมัยนั้นไม่มีร้านอาหารที่เป็นห้องแอร์ ส่วนใหญ่เป็นร้านข้างทาง หรือไม่ก็เป็นร้านในโรงแรม ทำให้ลูกค้าแวะเวียนมาสม่ำเสมอ เมนูขึ้นชื่อ ข้าวไก่อบ เส้นหมี่กุ้งผัดน้ำพริกเผา วุ้นเส้นผัดไทย ข้าวหน้ากุ้งผัดพริกขี้หนู

หลังจากพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยน หันมาทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ประกอบกับ 5 พี่น้องตระกูล “ไรวา” มีคนรู้จักค่อนข้างมาก เอส แอนด์ พี ไอศกรีม คอร์เนอร์ ก็ขยายสาขาไปที่ “สยามสแควร์” ในปี 2523 ลงทุนค่าตกแต่งร้าน 1.5  ล้านบาท ค่าที่ 3 ล้านบาท สาขานี้เริ่มมีการโฆษณาทางวิทยุ และมีเค้กการ์ตูนจำหน่ายเป็นครั้งแรกในเมืองไทย กลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์”

 ภาพ S&P ในแต่ละช่วง
ก่อนผงาดเป็นบริษัทมหาชน

ในปี 2527 S&P นำระบบ QC (คิวซี) มาใช้ ซึ่งเป็นระบบการตรวจเช็กคุณภาพสินค้าที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ต่อมาปี 2530 เบเกอรี่ถูกนำไปวางขายตามห้างสรรพสินค้า ปี 2531 สร้างโรงงานที่สุขุมวิท 62 บนเนื้อที่ 6 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 40 ล้านบาท

ขยับมาในปี 2532 S&P พลิกบทบาทสำคัญจากร้านขายเค้ก ไปสู่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “SNP” ตามคำแนะนำของ “นายอมเรศ ศิลาอ่อน” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สามีคุณภัทรา

ในปี 2533 S&P ขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศ เปิดร้านอาหารไทยแห่งแรก ภายใต้ชื่อร้าน “ภัทรา” (Patara Fine Thai Cuisine) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อมาปี 2538 S&P มีผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน เปิดโรงงานไส้กรอก

ในปี 2540 S&P เจอพิษเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ปิดสาขาลง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจาก S&P เป็นองค์กรที่ไม่มีหนี้สิน ฉะนั้น จึงยังประคองธุรกิจมาได้ และด้วยความที่อยากช่วยลูกค้าลดรายจ่าย คุณภัทรายอมลดราคาสินค้าลง 20  เปอร์เซ็นต์ในทุกๆ วันพุธ สาเหตุที่เลือกวันพุธเพราะลูกค้าจะได้เก็บขนมไว้ทานถึงวันอาทิตย์ นั่นเอง

หลังผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ คุณภัทรา ตอกย้ำว่า ในปีต่อๆ มา บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ขยายงานเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ร้านกาแฟ “BlueCup” ผลิตภัณฑ์ขนมไทย คุกกี้ วุ้นคาราจีแนน ขนมไหว้พระจันทร์ ตรา “S&P” และ “มังกรทอง บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งพร้อมทาน เปิดร้านอาหารในต่างประเทศ 22 สาขา ใน 7 ประเทศ (อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน มาเลเซีย) เป็นต้น

สำหรับเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ S&P คุณภัทรา เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า คือ การได้ถวายการรับใช้แด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ซึ่งเสด็จฯ มาที่ร้าน S&P Ice-Cream Corner ในงานวันคล้ายวันประสูติของหม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ ผู้เป็นบิดาของหม่อมราชวงศ์หญิงสดศรี ปันยารชุน คู่สมรสของท่านอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย นับว่าเป็นเกียรติอย่างสูงสุดสำหรับร้านอาหาร 2 คูหาในวันนั้น จนทำให้เจริญก้าวหน้ามาเป็น บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการร้านอาหารกว่า 470 สาขา ในวันนี้

ได้ลูกชายคนกลางเข้ามาบริหาร
ลูกไม้ใต้ต้น นำพาองค์กรไประดับโลก

คุณกำธร ศิลาอ่อน ลูกชายคนกลางของคุณภัทรา ให้สัมภาษณ์กับเส้นทางเศรษฐีว่า เข้ามาทำงานที่ S&P เมื่อปี 2558 ดูแลระบบซัพพลายเชน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจนถึงการจัดส่งสินค้าเข้าสู่ร้าน พัฒนาระบบไอที พัฒนาระบบสมาชิกผ่านแอพพลิเคชั่น พัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด ในปี 2561 มีแผนขยายเพิ่ม 10 เปอร์เซ็นต์

“ก่อนหน้านี้ผมทำงานในวงการการเงินมา 20 ปี เมื่อ 3 ปีที่แล้วตัดสินใจเข้ามาช่วยงานที่บ้าน ซึ่ง S&P ระบบดีอยู่แล้ว เพียงแต่เข้ามาช่วยพัฒนาระบบไอทีบางตัว โดยใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท พัฒนาระบบ ERP ระบบ SAP แผงโซล่าเซลล์ในโรงงาน”

นอกจากพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้เข้ากับยุค 4.0 คุณกำธร เปิดเผยต่อว่า นับจากนี้ต่อไปจะเน้นเมนูเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพราะถือเป็นวาระสำคัญ ที่ผ่านมาออกผลิตภัณฑ์ “เยลลี่หญ้าหวาน” กระแสการตอบรับดีมาก เร็วๆ นี้จะวางจำหน่ายเมนูเค้กออร์แกนิก เนื้อเค้กทำจากข้าว ไขมัน 0 เปอร์เซ็นต์ และร่วมกับสถาบันการศึกษาพัฒนาวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ยกตัวอย่าง ปลาบึกสยาม ให้โอเมก้า 9 สูงกว่า ปลาทะเล 3 เท่า ตอบโจทย์คนรักสุขภาพอย่างแน่นอน

และเพื่อตอกย้ำว่า พนักงาน คือ คนในครอบครัว คุณกำธร ย้ำว่า อย่างไรก็ตามในปีนี้จะไม่ลดต้นทุนด้วยวิธีการลดพนักงาน เพราะพนักงาน คือ หัวใจสำคัญของธุรกิจอาหาร ศิลปะอย่างหนึ่งที่ไม่มีเครื่องจักรใดมาทดแทนได้ โดยทางบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม ในทุกกระบวนการผลิต ไม่เน้นใช้เครื่องจักรเพียงอย่างเดียว อาทิ ปาดหน้าเค้ก ตกแต่งเค้ก หรือแม้แต่ขนมไทยที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรทดแทนได้

“พนักงาน S&P มี 7,000 คน เราเน้นทำธุรกิจระบบครอบครัว พนักงานบางคนคุณแม่ยังจำชื่อได้ ฉะนั้น บริษัททำทุกวิถีทางเพื่อประคองธุรกิจและพยุงพนักงานทุกคน ยกตัวอย่าง ในช่วงรัฐประหารปี 2557 หรือช่วงในหลวง รัชกาลที่ 9  สวรรคต ยอดขายตก กระทบบ้าง แต่ S&P ไม่มีหนี้สิน ประกอบกับให้ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการผลิต ไม่เน้นใช้เครื่องจักร จึงเพิ่มเมนูขนมไทย อาหารไทยตามเทศกาล แซนด์วิชทำสด แต่งหน้าเค้กตามใจลูกค้า”

ปัจจุบัน S&P มีแอพพลิเคชั่นบนมือถือ สั่งอาหารได้ เติมเงินได้ จ่ายเงินได้ผ่านคิวอาร์โค้ด จำนวนลูกค้าสมาชิกมี  300,000 คน 80 เปอร์เซ็นต์สั่งอาหาร อีก 20 เปอร์เซ็นต์สั่งเบเกอรี่ จำนวนสาขาทั้งสิ้นเกือบ 500 สาขา แบ่งเป็นร้านอาหาร 150 สาขา เบเกอรี่ช็อป 350 สาขา จำหน่ายเค้กวันเกิดได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านก้อนในแต่ละปี รายได้รวมทั้งปีเหยียบหมื่นล้าน

คุณกำธร ตอกย้ำว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้ S&P ยืนหยัดมาได้เกือบ 50 ปี เกิดจากความรักของผู้ก่อตั้งทุกคน โดยเฉพาะคุณแม่ ญาติๆ ที่ทุกวันนี้พวกท่านยังคอยคิดค้น และพัฒนาเมนูใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เกือบทุกเมนูที่วางขาย คุณแม่จะต้องชิมก่อน รวมถึงการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง พัฒนาระบบไอที มีพาร์ตเนอร์มาร่วมขยายธุรกิจ อย่าง “บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล”

“นับจากนี้ไปเส้นทางของ S&P ยังอีกยาวไกล แต่กุญแจความสำเร็จขององค์กร คือ คนในครอบครัวที่ยังเหนียวแน่นประสานรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง” คุณกำธร ตอกย้ำ