“ยางรัดของ” สินค้าไร้ค่าในสายตาผู้บริโภค จะทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ไทยส่งออกนับพันล้าน

ยางพารา เป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ไทยส่งออกยางมากจนติดอันดับโลก สำหรับพื้นที่ปลูกยางของไทยในปี 2559 คาดว่ามีประมาณ 19.6 ล้านไร่ แหล่งผลิตยางที่สำคัญยังอยู่ในภาคใต้ ส่วนผลผลิตยางพารามีทั้งสิ้นประมาณ 4.46 ล้านตัน ผลผลิตส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาการส่งออก โดยมีความต้องการใช้ยางในประเทศมีจำนวน 0.61 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 เนื่องจากการผลักดันและส่งเสริมการใช้ยางในประเทศของภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นอุตสาหกรรมยาง ประกอบด้วย กระบวนการผลิต 2 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ขั้นตอนการแปรรูปยางพาราธรรมชาติมาทำเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิต เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง เป็นต้น 2. ขั้นตอนนำวัตถุดิบมาใช้ในการผลิตยางสำเร็จรูป ได้แก่ ยางพาหนะ ถุงมือยาง ยางอนามัย และยางรัดของ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ยางมี 2 ประเภทคือ 1. ยางธรรมชาติ คือยางที่มาจากต้นยางพาราโดยตรง ไม่ผ่านกรรมวิธีการใดๆ 2. ยางสังเคราะห์ คือยางวิทยาศาสตร์ เป็นยางที่มนุษย์ผสมขึ้นมาเอง

หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พยายามช่วยกันวางยุทธศาสตร์เพื่อให้ไทยรักษาความเป็นผู้นำยางพาราของโลกให้ได้ แม้ราคายางพาราจะตกต่ำบ้างในช่วงนี้ แต่ยางพาราก็ยังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย มองมุมไหนยางพาราก็ยังเป็นพืชเศรษฐกิจแถวหน้าที่มีอนาคตอยู่ดี พิสูจน์ได้จากตัวเลขส่งออกยางพาราของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา (ปี 2558)   มูลค่าส่งออกสูงกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

ในบรรดาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา ดูเหมือนว่า “ยางรัดของ” จะเป็นผลิตภัณฑ์ด้อยค่าในสายตาของคนทั่วไป อะฮ้า! ประมาทหน้า “ยางรัดของ” ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะว่ายางรัดของ กลายเป็นสินค้าที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยเสียแล้ว แถมยังมีอิทธิพลสูงกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายอีกด้วย เท่านี้ยังไม่พอ ยางรัดของยังถีบตัวเองขยับฐานะเป็นสินค้าส่งออกติดโผตัวเลขส่งออกหลายพันล้านบาท

40 ปี ตำนานยางรัดของ

คุณสันติ วรประทีป ผู้คร่ำหวอดในวงการผลิตยางรัดของมายาวนาน ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามารับช่วงบริหาร บริษัท ไทยชวนรับเบอร์ จำกัด โดยเล่าถึงตำนานการผลิตยางรัดของ ของไทยชวนรับเบอร์ ว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 โดยมี คุณวสันต์ วรประทีป ผู้เป็นบิดา ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตยางรัดของและยางขัดข้าว และยังเป็นเทรดเดอร์ซื้อขายยางดิบ การผลิตยางรัดของในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นช่วงขาขึ้นของยางรัดของ เนื่องจากตลาดมีความต้องการอย่างกว้างขวาง   ต่อมาจึงผลิตเพื่อส่งออกไปยังคู่ค้าหลัก ได้แก่ มาเลเซียและสหรัฐอเมริกา พร้อมๆ กับทำตลาดในภาคใต้ของไทยควบคู่ไปด้วย ในเวลาต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการสีข้าวเปลี่ยนไป ใช้ยางสำหรับขัดข้าวมีจำนวนน้อยลง ไทยชวนรับเบอร์รุ่นพ่อจึงต้องยุติการผลิตยางขัดข้าวและหันมาเน้นการผลิตยางรัดของเป็นหลัก แม้จะดูเป็นสินค้าที่ธรรมดา แต่ก็มีการพัฒนาคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง

ในวัยเด็ก คุณสันติไม่ได้ซึมซับธุรกิจของบิดามากนัก ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ทายาทธุรกิจหลายท่านมักจะลังเลในการสานต่อธุรกิจของครอบครัว แต่หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เรียนรู้งานผลิตยางรัดของจากบิดาแล้ว จึงตัดสินใจหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการบินลัดฟ้าไปหอบดีกรีปริญญาโท ด้านวิศวอุตสาหการ จากออสเตรเลีย นั่งเก้าอี้ผู้บริหารไทยชวนรับเบอร์อย่างเต็มตัว สืบทอดเจตนารมณ์ที่รุ่นพ่อริเริ่มธุรกิจนี้มาจากธุรกิจครอบครัวเล็กๆ

“ไทยชวนรับเบอร์ ก่อตั้งจากการที่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ว่า ยางรัดของเป็นสินค้าที่ต้องการในตลาดโลก อีกทั้งบริษัทเรายังตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแหล่งวัตถุดิบยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยางรัดของ เราเริ่มส่งออกยางรัดของและจำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ปีแรก ขณะเดียวกัน ยังได้ตั้งบริษัท Trading วัตถุดิบยาง เช่น น้ำยาง ยาง 5L

ในอดีตช่วงที่เริ่มก่อตั้ง ไทยชวนรับเบอร์ใช้วัตถุดิบยางแผ่นดิบ ยางแผ่นอบแห้ง (Air dry sheet) เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ที่มีผู้ผลิตรายเล็กๆ เช่น สหกรณ์โดยตรง ซึ่งปัญหาที่พบเป็นเรื่องของคุณภาพมาตรฐานที่ไม่คงที่ ต่อมามีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้มีอุตสาหกรรมแปรรูปยางเบื้องต้น เป็นยางแท่ง ทำให้เรื่องของวัตถุดิบมีการปรับตัว ปัจจุบัน มีโรงงานผลิตยางแท่ง มากขึ้น และควบคุมคุณภาพได้ดี โรงงานจึงปรับมาใช้ยาง STR 5L เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต”

ยางรัดของ ส่งออกทั่วโลก

ขั้นตอนการผลิตยางรัดของ จะนำยางแท่งมาผ่านกระบวนการทางเคมี ผสมสีและส่วนผสมต่างๆ ออกมาเป็นยางก้อน ผ่านเครื่องจักรกึ่งอัตโนมัติ ที่ทำการเปลี่ยนยางก้อนให้เป็นท่อยาง มีการเข้าเตาอบ ตัดเป็นเส้น เคลือบน้ำมัน และส่งไปยังขั้นตอนการบรรจุ

คุณสันติ เล่าว่า ในช่วงบุกเบิกรุ่นแรก เป็นช่วงที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ในขณะนั้น และยังไม่มีความรู้ ด้านสูตรการผลิต การจัดการ แต่ความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตถูกกว่าในประเทศมาเลเซีย และคุณภาพสินค้าดีกว่า รวมถึงความทุ่มเทของคนในองก์กร ที่พร้อมเรียนรู้ การมีที่ปรึกษาที่ดี จึงทำให้ ลูกค้า  ผู้นำเข้า เชื่อถือ มั่นใจในคุณภาพสินค้าของไทยชวนรับเบอร์ จนมีกลุ่มลูกค้าในโซน South East Asia  ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา

ขอบอกว่า ไม่ใช่แค่ยางรัดของ

นอกจากนี้ยังมีการสร้าง Brand ตราปืนไขว้ ตราห้าห่วง ให้ติดตลาด เป็นผู้นำทางด้านยางรัดของในภาคใต้ ซึ่งส่งผลให้มีคู่แข่งรายอื่นพยายามเลียนแบบตราสินค้า แต่สิ่งสำคัญที่ไทยชวนรับเบอร์เน้นมาตลอดคือเรื่องของคุณภาพในการใช้งาน ที่ทำให้แบรนด์กลายเป็นที่จดจำและครองใจลูกค้า รวมไปถึงช่องทางการตลาด ที่ต้องให้เข้าถึงง่าย มองเห็นได้ทั่วไปเพื่อสร้างการจดจำ ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

“ปัจจุบัน ปัญหาค่าครองชีพของประเทศไทยสูงขึ้น ส่งผลต่อปัจจัยด้านต้นทุนแรงงานที่เคยได้เปรียบ ทำให้ไทยชวนรับเบอร์หันมาเน้นที่เรื่อง R&D มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเพิ่มมูลค่า ส่วนปัจจัยภายนอกคือการมีประเทศใหม่ๆ เข้ามาเป็นคู่แข่งโดยที่มีค่าจ้างต่ำกว่า ต้นทุนต่ำว่า แก้ปัญหาได้ด้วยเรื่องของการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีในการผลิตเข้ามาทดแทน รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างไปให้กับยางรัดของ”

ในแต่ละประเทศมีการกำหนดรายละเอียด คุณภาพ ขนาด และสีของยางรัดของที่แตกต่างกัน การผลิตได้หลากหลายตรงความต้องการของตลาด เช่น Printed Band ยางรัดของที่มีการพิมพ์ข้อความลงไปด้วย, การพัฒนาเรื่องแพ็กเกจจิ้งที่สะดวกกับการใช้งานมากขึ้น ในกลุ่มเครื่องเขียน ดึงดูดความสนใจของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น, มีขนาดเล็กลงเหมาะกับผู้ใช้งานที่หลากหลายขึ้น เช่น Rubber Band Ball เอายางรัดของมามัดรวมกันเป็นก้อน เล่นสีสันเพื่อสร้างอารมณ์ในการใช้งาน สามารถวางไว้บนโต๊ะสำนักงานเพื่อให้ดูเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกชิ้นบนโต๊ะทำงานได้ การออกแบบยางรัดของเป็นทรงกลมนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมาก นอกจากนี้ การทำ R&D ยังมุ่งเน้นไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น สินค้ากลุ่มสุขภาพและกลุ่มกีฬา ยางรัดของถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับออกกำลังกายได้ โดยเอายางรัดของมามัดคล้องกันคล้ายห่วงโซ่ ใช้มือดึงยืดเข้าออกเพื่อออกกำลังแขนได้ ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรก็มีการพัฒนา R&D ให้สามารถผลิตยางรัดของเกรดที่สามารถทนต่อแสงแดดได้


ไทยผลิตยางรัดของ ติดอันดับโลก

ในช่วงแรกที่คุณสันติเข้ามาบริหาร มีอุปสรรคในเรื่องคุณภาพในการผลิต รวมถึงปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งตัว  ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้รับผลกระทบ ซึ่งมีการพัฒนาด้าน R&D มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปัญหาและอุปสรรคในปัจจุบันเป็นเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในช่วงที่ยางมีราคาสูง เนื่องจากธุรกิจตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีสวนยางมาก ยังมีการแข่งขันด้านราคาจากผู้ผลิตรายอื่น โดยเฉพาะประเทศที่มีค่าครองชีพถูกกว่า

“ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางรัดของอันดับต้นๆ ของโลก อาจจะมีเวียดนามที่เริ่มเป็นคู่แข่งสำคัญ แต่ในด้านคุณภาพ ประสบการณ์ เรายังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก ในมุมมองของผู้ใช้งานอาจไม่ทราบว่า ยางรัดของได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เกษตร ประมง เครื่องเขียน ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราได้”

ปัจจุบัน ไทยชวนรับเบอร์ ยังคงเน้นที่การส่งออกเป็นหลัก คือส่งออก 80 เปอร์เซ็นต์ โดยส่งไปยังประเทศในแถบเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ผลิตขายภายในประเทศ ในภาคใต้นั้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยางรัดของยังมีจำนวนไม่มากนัก จึงเป็นข้อได้เปรียบในสายตาของไทยชวนรับเบอร์

เมื่อหันมามองระดับโลก ประเทศไทย ได้ชื่อว่าเป็นฐานการผลิตและการส่งออกยางรัดของที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่สุดในอาเซียน แม้ว่า ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ปัญหาการเข้าออกของแรงงาน ปัญหาเรื่องการผันผวนของราคายางที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลายคนมองไปว่านี่คืออุปสรรค แต่ในทัศนะของนักบริหารหนุ่มอย่าง คุณสันติ วรประทีป กลับมองว่า ปัญหาเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นโอกาสก็ได้

บริษัท ไทยชวนรับเบอร์ จำกัด เลขที่ 128 หมู่ 5 ถนนคลองแงะ-นาทวี ตำบลพังลา อำเภอสะเดา  จังหวัดสงขลา 90170 โทรศัพท์ (086) 489-4995, (074) 541-075, (074) 541-166 http://www.thairubberband.com