ตำรวจกำแพงเพชร เลี้ยงเม่นแคระ เสริมรายได้

 

ไม่กี่ปีก่อน “เม่นแคระ” เป็นสัตว์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะเพิ่งนิยมนำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยจำนวนไม่มากนัก แต่เพราะเป็นสัตว์ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้ดี จึงทำให้เม่นแคระขยายพันธุ์และเจริญเติบโต กลายเป็นกระแสคนรักเม่นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยรูปร่างลักษณะของเม่นแคระ เป็นสัตว์ตัวเล็ก มีน้ำหนักมากที่สุดไม่เกิน 1 กิโลกรัม และมีจำนวนไม่มากนักที่จะพบเม่นแคระน้ำหนักมากเท่านี้

แม้ว่าปัจจุบัน เม่นแคระจะไม่ได้อยู่ในกระแสนิยมสัตว์เลี้ยงสวยงาม แต่ก็ไม่ตกอันดับ เพราะยังคงเป็นสัตว์แปลกที่มีคนชื่นชอบและอยากมีไว้ครอบครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเม่นแคระปรากฏตัวนอกเมืองใหญ่

คุณอานุภาพ ศิลาพันธุ์ ข้าราชการตำรวจหนุ่ม พื้นที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิด เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ หลังเรียนจบสอบข้าราชการตำรวจในภูมิลำเนา จึงย้ายกลับมาอยู่บ้าน และหอบเอาสัตว์เลี้ยงที่เขารักกลับมาด้วย

“สมัยผมเรียน ผมชอบเลี้ยงปลา ตอนนั้นมีกระแสเม่นแคระแรงมาก ยิ่งเห็นรุ่นพี่ที่รู้จักกันเลี้ยงปลาและเม่นแคระ ขายเป็นรายได้ ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าเราสามารถเพาะเองได้ ความคุ้มค่าที่มากกว่าการเลี้ยงเล่นมีแน่นอน”

ที่ตั้งบ้านและฟาร์มเม่นแคระเล็กๆ ของคุณอานุภาพ ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าพุทธา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร อยู่ห่างจากถนนใหญ่ไม่ไกล คุณอานุภาพ พาไปดูฟาร์มเม่นแคระของเขา ทั้งฟาร์มใช้พื้นที่เลี้ยงไม่เกิน 6 ตารางเมตร สำหรับจำนวนเม่นแคระที่มีอยู่ไม่เกิน 25 ตัว

อย่างที่บอก แม้เม่นแคระจะไม่ใช่สัตว์แปลกใหม่แล้วในปัจจุบัน แต่สำหรับคนในพื้นที่กำแพงเพชร คุณอานุภาพ บอกว่า ยังคงแปลกใหม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะกับนักเรียน นักศึกษา ที่เก็บหอมรอมริบมาซื้อด้วยจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยก็สามารถซื้อเม่นแคระต่อตัวไปเลี้ยงได้ และการเลี้ยง การดูแลที่ง่าย ทำให้ความนิยมในเม่นแคระกระจายออกไปจากปากต่อปาก ฟาร์มเม่นแคระ กำแพงเพชร ของคุณอานุภาพ จึงเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และจังหวัดตาก

“ผมย้ายกลับมาพร้อมเม่นแคระเพียงคู่เดียว คนที่มาช่วยย้ายของเห็นก็ถามและเห็นว่าเป็นสัตว์แปลก ทำให้คนแห่มาดู กระทั่งผมได้เม่นแคระครอกแรก แม่ค้าตลาดนัดแถวบ้านมาขอซื้อไป นำไปวางโชว์ตอนขายของในตลาดนัด คนเห็นก็สนใจสอบถาม ก็เป็นส่วนหนึ่งของที่มาในการเพาะเม่นแคระขาย”

คุณอานุภาพ บอกว่า เม่นแคระเป็นคนละชนิดกับเม่นไทยที่สลัดขนได้ เป็นเม่นแคระที่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปแอฟริกา น้ำหนักโตเต็มที่ไม่เกิน 1 กิโลกรัม ไม่สลัดขน ถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาทำให้เม่นแคระ สามารถอาศัยอยู่ในสภาพอากาศในประเทศไทยได้ และเม่นแคระเป็นสัตว์ที่ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ความกังวลเรื่องการเสียชีวิตจากการเลี้ยงพบได้น้อย เป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูง สาเหตุการเสียชีวิตที่เคยพบคือ อาการขาดน้ำ ซึ่งเม่นแคระสามารถอดน้ำได้ประมาณ 3 วัน สภาพร่างกายของเม่นแคระมีเลือดน้อย เมื่อขาดน้ำโอกาสเสียชีวิตจึงเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า หากเม่นแคระถูกยุงกัดในจำนวนมาก ก็อาจจะทำให้เม่นแคระเสียชีวิตได้เช่นกัน

เม่นแคระเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีความเป็นสัตว์ป่าสูง เป็นสัตว์เลี้ยงเดี่ยว ตามธรรมชาติจะอาศัยอยู่ในรูโดยการขุด แต่การเลี้ยงไม่จำเป็นต้องหาโพรงนอนให้ แต่ควรให้อยู่ในที่มีแสงสว่างน้อย ปกติเม่นแคระจะหากินในเวลากลางคืน แต่เมื่ออาศัยอยู่ในประเทศไทยเม่นแคระจะปรับตัวตามสภาพแวดล้อม จึงหากินในเวลากลางวัน และนอนในเวลากลางคืน

การอยู่ร่วมกันของเม่นแคระเพศผู้และเพศเมีย สามารถอยู่ร่วมกันได้ตลอดชีวิต แต่ถ้าเป็นเพศเดียวกันจะไม่ยอมกัน โดยเฉพาะเพศผู้หากอยู่ด้วยกันจะแย่งถิ่นที่อยู่ เพราะเม่นแคระเป็นสัตว์หวงถิ่น จะทำให้เพศผู้กัดกันจะพิการหรือตาย รวมถึงเมื่อเวลาเพศเมียออกลูก ไม่ควรให้พ่ออยู่ด้วย เพราะเมื่อลูกเม่นแคระออกมาพ่อเม่นแคระจะฆ่าลูกเม่นแคระตายหมด

เม่นแคระสามารถผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 3 เดือน แต่สำหรับแม่พันธุ์ควรพิจารณาจากขนาดของแม่พันธุ์และความสมบูรณ์ขณะนั้นด้วย หรือจะให้สมบูรณ์ดีควรรอให้แม่พันธุ์อายุไม่ต่ำกว่า 8 เดือน ส่วนพ่อพันธุ์สามารถผสมได้ทันทีเมื่ออายุครบ 3 เดือน เม่นแคระเป็นสัตว์ที่มีช่วงการเป็นสัดเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น แต่จะเป็นสัดได้ทุก 7 วัน การผสมพันธุ์ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่รอให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีความสมบูรณ์เพียงพอ จากนั้นนำแม่พันธุ์ไปทิ้งไว้ในรังของพ่อพันธุ์ ปล่อยไว้ด้วยกันประมาณ 10-15 วัน จากนั้นนำแม่พันธุ์ออกไปเลี้ยงเดี่ยวจนกว่าจะออกลูก

ระหว่างเม่นแคระตั้งท้อง ไม่ควรจับหรืออุ้ม เพราะแม่เม่นแคระจะขดตัว การขดตัวของแม่เม่นแคระจะเป็นอันตรายต่อลูกเม่นแคระในท้อง ลูกที่ได้อาจพิการหรือเสียชีวิตได้ วิธีสังเกตเม่นแคระว่าตั้งท้องหรือไม่ ให้สังเกตพฤติกรรมของแม่พันธุ์ที่นำไปผสม แม่พันธุ์ที่ได้รับการผสมแล้วตั้งท้องจะมีอาการหงุดหงิดง่าย หวงตัว และเปลี่ยนท่านอนจากเดิมที่เม่นแคระทั่วไปจะนอนตะแคง เป็นท่านอนคว่ำราบไปกับพื้น

ระยะเวลาตั้งท้องของเม่นแคระ อยู่ที่ 30-35 วัน การออกลูกของเม่นแคระ ผู้เลี้ยงไม่จำเป็นต้องช่วย และควรปล่อยให้แม่เม่นแคระจัดการตัวเองและลูกเองตามธรรมชาติ ไม่ควรเปิดรังดู ทำได้เพียงแอบดู แม้กระทั่งการให้อาหารเมื่อได้ลูกเม่นแคระแล้ว ก็ควรให้อาหารและน้ำโดยรบกวนเม่นแคระให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้แม่เม่นแคระเครียด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อลูกเม่นแคระได้

“ตลอดเวลาที่เม่นแคระออกลูกและเลี้ยงลูกเม่นแคระ ไม่ควรเข้าไปยุ่ง ปล่อยให้แม่เม่นแคระเลี้ยงลูกตามธรรมชาติ จนกว่าลูกเม่นแคระจะมีอายุอย่างน้อย 30 วัน จึงจะเริ่มแยกลูกเม่นแคระออกมารวมกับลูกเม่นแคระคอกอื่นได้ หรือหากจะปล่อยให้ลูกเม่นแคระอยู่กับแม่เม่นแคระจนกว่าจะมีอายุ 40 วัน หรือจนกว่าจะหย่านม (แม่เม่นแคระจะมีนมให้ลูกกินไม่เกิน 30 วัน) จากนั้นสามารถแยกลูกเม่นแคระออกมาเลี้ยงเดี่ยวได้”

การให้อาหารและน้ำ ในแต่ละวัน คุณอานุภาพ จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงตอนเช้า ในการสำรวจตรวจตราพื้นที่เลี้ยงเม่นแคระของเขา ให้อาหารซึ่งใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปของแมว น้ำใช้เติมจากกระบอกแนวตั้ง ที่มีลูกกลิ้งที่หัวกระบอก ให้เม่นแคระเลียกินน้ำ เช่นเดียวกับแมว นอกจากนี้ ควรสำรวจขี้เลื่อยที่ใช้รองพื้นรังให้กับเม่นแคระ อาจเปลี่ยนขี้เลื่อยให้หากเห็นว่าเริ่มสกปรก

คุณอานุภาพ แนะนำว่า อาหารเม็ดสำเร็จรูปของแมว เป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงเม่นแคระได้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงหากต้องการให้อาหารเสริมกับเม่นแคระ ซึ่งแนะนำว่าอาหารเสริมสำหรับเม่นแคระอาจไม่จำเป็นก็ได้ แต่สำหรับคุณอานุภาพ ให้หนอนนกและแกนผักกาดขาว เป็นอาหารเสริม แกนผักกาดขาวจะช่วยเสริมวิตามินในตัวของเม่นแคระ ให้สัปดาห์ละครั้ง ส่วนหนอนนกเป็นโปรตีนที่ไม่ได้จำเป็นมากสำหรับเม่นแคระ แต่ถ้ามีก็ถือว่าเป็นประโยชน์ โดยคุณอานุภาพให้หนอนนกเดือนละครั้ง ครั้งละ 3-4 ตัว ต่อเม่นแคระ 1 ตัว

ทุกๆ 3-4 เดือน เม่นแคระจะสลัดขนทิ้ง และมีขนใหม่ขึ้นมาแทนที่ ผู้เลี้ยงไม่ควรตกใจ แต่ควรเก็บทำความสะอาดขนเม่นแคระที่หลุดออกให้ดี เพราะปลายของขนเม่นแคระด้านที่ติดอยู่กับตัวเม่นจะมีความคมมาก อาจเกิดอันตรายได้หากเก็บทิ้งไม่เป็นที่

สีตามท้องตลาดของเม่นแคระ มีจำนวน 10 สี ได้แก่ สีนอร์มอล สีช็อกโกแลต สีบราวน์ สีแอปปริคอต สีอัลบิโน่ สีชินนิคอต สีชินเนมอล สีเอ็กซ์-สโนว์เฟรก สีเอ็กซ์-ไวท์ และสีเอ็กซ์-พินโต แต่ละสีจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับความชอบของผู้เลี้ยง

สำหรับตลาดเม่นแคระในปัจจุบัน ถือว่ายังไปได้ดี ทุกสีได้รับความนิยมไม่แตกต่างกัน

เม่นแคระมีอายุอยู่ได้ราว 4-8 ปี ขึ้นกับการดูแลของผู้เลี้ยง

เมื่อทราบรายละเอียดของการเลี้ยงและดูแลเม่นแคระเช่นนี้แล้ว การตัดสินใจเลี้ยงหรือเพาะขยายพันธุ์เม่นแคระ ข้อมูลส่วนนี้น่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้สนใจ แต่หากมีข้อสงสัย คุณอานุภาพ ยินดีไขข้อข้องใจเพิ่มเติม โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เฟซบุ๊ก กระต่าย เม่นแคระ กำแพงเพชร หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ (081) 495-1801

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์

http://www.technologychaoban.com