ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อดีตครูสอนหนังสือโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ (โรงเรียนสำหรับพระและเณร) จากที่ไม่เคยคิดจะทำธุรกิจ แต่ชีวิตผกผันหลังจากที่ได้ไปช่วยพ่อตาสานกระบุง กระจาด ในวันหยุด ได้เห็นของแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดไอเดียนำผิวไม้ไผ่มาสานโคมไฟ โชคดีได้ ท่าน ว.วชิรเมธี ศิลปินแห่งชาติ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ร้านสตาร์บัค ลูกค้ากลุ่มโรงแรม รีสอร์ต มาอุดหนุนซื้อไปใช้ตกแต่งสถานที่ กลายเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่รายได้ไม่ธรรมดา เลี้ยงครอบครัวสบายๆ
คุณณัฐวุฒิ ธรรมเมืองมูล หรือ คุณหมู ชายหนุ่มวัย 39 ปี เจ้าของโคมไฟหวาย แพมณิชา เท้าความว่า กิจการโคมไฟเป็นธุรกิจของครอบครัวฝ่ายภรรยา โดยพ่อตารับหน้าที่สานกระบุง ตะกร้า ภาชนะทุกชนิดที่สานจากไม้ไผ่ ตั้งอยู่ที่บ้านป่าบงหลวง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และจากการที่ได้เห็นทุกคนทำงานจักรสานรู้สึกว่าไม่ยาก เกิดความรู้สึกอยากลองทำบ้าง
คุณหมู เล่าต่อว่า การที่ได้เห็นพ่อตาและสมาชิกในครอบครัวสานกระบุง ตะกร้า มีรายได้เข้ามาทุกวัน บางวันก็ทำไม่ทันตามความต้องการของลูกค้า เลยเกิดความคิดว่าอยากเข้ามาช่วย
“เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ผมเห็นสมาชิกในครอบครัวสานกระบุง ตะกร้า ทำขายได้เรื่อยๆ ทำขายแทบไม่ทัน จึงคิดอยากจะทำบ้าง ประกอบกับพ่อตาสอนให้สานโคมไฟ เลยพอมีฝีมือติดตัว”
หลังจากที่คุณหมูสานโคมไฟได้มีออร์เดอร์เข้ามา ระหว่างนั้นเองภรรยาตั้งครรภ์ และคุณหมูก็ทำงานไกลบ้าน นับ 100 กิโลเมตร เขา บอกว่า ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาทำงานจักสานเต็มตัว และพอภรรยาคลอดลูกได้ 4 เดือน ก็ขอแยกตัวออกจากบ้านพ่อตามาเริ่มทำจักสานเอง
“ผมอาศัยอยู่กับพ่อตา 1-2 ปี พอได้ความรู้เกี่ยวกับการทำจักรสานมา ช่วงที่แยกตัวออกมา ช่วงนั้นสินค้าขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็ตั้งใจจะพัฒนางานขึ้นไปเรื่อยๆ ประกอบกับไปเห็นผิวไม้ไผ่ที่ถูกทิ้ง (งานจักสานปกติใช้แต่เนื้อไม้ไผ่ ส่วนผิวเอาทิ้ง หรือไปเผาไฟ) ไม่มีประโยชน์ ซึ่งผิวไม้ไผ่ที่ถูกทิ้ง คิดว่าน่าจะเอามาทำประโยชน์ได้บ้าง”
“ผมมารู้ทีหลังว่าลูกค้าคนแรกที่ซื้อโคมไฟผิวไม้ไผ่ คือ อาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรม(ร่วมสมัย) ปี พ.ศ. 2547 ท่านซื้อไปประดับร้านอาหาร และประกอบฉากในละครช่อง 3 จากนั้นมาก็มีลูกค้ารายอื่นๆ เข้ามาอีกเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง ท่าน ว.วชิรเมธี ท่านให้ทำทำโคมประดับในวิหารดินของ วันไร่เชิญตะวัน และกุฏิที่ท่านพัก ในส่วนของโรงแรมจะมีทางภาคใต้เป็นหลัก ร้านกาแฟสตาร์บัคส์หลายสาขา นอกนั้นจะเป็นร้านอาหาร”
ถามถึงรายได้ เจ้าของผลงาน เผยว่า พออยู่ได้ แต่เนื่องด้วยงานจักสานเป็นงานทำมือ จะให้เร่งการผลิตก็คงยาก อีกทั้งได้กระจายงานให้กับชาวบ้าน ผู้แก่ ผู้เฒ่า รายได้ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือ เพราะรับซื้อชิ้นงานตามสภาพมาจำหน่ายต่อ
สำหรับราคาขาย คุณหมูขายราคาเดียว ไม่มีขายปลีก หรือ ขายส่ง แต่จะมีส่วนลด ส่วนแถมที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน และงานส่วนมากจะทำส่งเข้าบ้านถวาย (แหล่งขายงานหัตถกรรมชื่อดังของ เชียงใหม่) และ ส่งให้กับลูกค้าที่จตุจักร นำไปขายต่อ
สำหรับใครที่สนใจงานจักรสานแพมณิชา หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่คุณหมู โทรศัพท์ (087) 6600-959