“บุรีรัมย์” ไม่ได้มีแค่สนามช้าง แต่มีผ้าไหม สวยระดับทอผืนเดียวในโลกที่บ้านนาโพธิ์

บุรีรัมย์ กลายเป็นจังหวัดที่เป็นหมุดหมายของนักกีฬาฟุตบอล และผู้พิสมัยความเร็วในสนามแข่งรถระดับโลก

จากในอดีตที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงระดับความยากจนไว้ว่า “บุรีรัมย์ ต้องตำน้ำกิน”

ทว่า “บุรีรัมย์” ไม่ได้มีเพียง สนามฟุตบอล สนามช้าง อารีน่า และสนามแข่งรถสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เท่านั้น

หากแต่ยังมีภูมิปัญญาที่เป็นมรดกตกทอดมากว่า 5 ทศวรรษ คือการทอผ้า เลี้ยงไหม ปลูกหม่อน ที่บ้านนาโพธิ์

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ชักชวนผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ไปติดตาม ค้นเคล็ดแห่งความสำเร็จและประสบการณ์ของชาวบ้านนาโพธิ์ ผ่านศูนย์หัตกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์

ประคอง ภาสะฐิติ อายุ 75 ปี ประธานศูนย์หัตกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ เล่าให้ฟังว่า เธอเริ่มทอผ้าตั้งแต่อายุ 13 ปี “เมื่อ 50 ปีก่อนบ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ขึ้นชื่อเรื่องความแห้งแล้ง ไม่มีนา ไม่มีข้าว ไม่มีหม่อน ข้าวสารถังละ 3 บาท ขณะที่ชาวบ้านทอผ้าไหมผืนละ 80 บาท”

แต่ความแร้นแค้นเริ่มหมดไปเมื่อปี 2516 ความอัตคัด-ขัดสน ถึงพระเนตรพระกรรณ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ผ่านท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) กองเลขานุการในพระองค์ และท่านผู้หญิงจรุงจิต ทีขะระ นางสนองพระโอษฐ์ และราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทำให้ผ้าไหมชาวบ้านนาโพธิ์ ได้ถูกส่งเข้าโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ

ศูนย์หัตกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2542 จากการรวบรวมชาวบ้านที่มีฝีมือการทอผ้าไหมที่สวยงาม ชนะการประกวดผ้าไหมในระดับภาคและระดับประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมอาชีพตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสืบสานงานทอผ้าไหมไทย สนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

ป้าประคองเล่าว่า ในปี 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมายัง บ้านนาโพธิ์ และมีพระมหากรุณาธิคุณ ให้ผ้าไหมนาโพธิ์โดดเด่นมากยิ่งขึ้น

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านช่วยเราและชาวบ้าน นอกจากส่งผ้าที่ศูนย์ศิลปาชีพแล้ว เราได้ส่งผ้าไปขายที่ร้านภูฟ้าด้วย เรารู้ดีว่างานที่ส่งให้ร้านภูฟ้า ต้องเป็นงานที่เนี๊ยบ เราจึงปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการต่างๆ ก็เข้ามาช่วยเรื่องสีธรรมชาติและเรื่องอื่นๆ” ป้าประคองเล่าอย่างปลื้มใจ

ป้าประคองบอกแทนชาวบ้านนาโพธิ์ ว่า “ทำผ้าไหม ไม่รวย แต่ไม่มีหนี้ คนที่ทอผ้า จะมีรายได้ราว 3,000-5,000 บาท ต่อเดือน”

ทุกวันนี้ ผ้าไหมบ้านนาโพธิ์ ซึ่งมีสมาชิกว่าพันราย มีแหล่งขายทั้งที่สวนจตุจักร มูลนิธิศิลปาชีพ ร้านภูฟ้า ร้าน OTOP ในพื้นที่ราชการ มีทั้งผ้าพันคอ ผ้าสไบ เสื้อ และผ้าผืน จึงทำให้ผ้าไหมของที่นี่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ผ่านการขายบนเครื่องบิน สายการบินไทย

ผ้าบ้านนาโพธิ์ มีจุดเด่นที่มาจากการทอมือ เนื้อแน่น เส้นใหญ่ ไม่มันวาว เส้นไหมละเอียด แม้ว่าเนื้อผ้าจะแน่น แต่เบาโปร่งสบาย มีทั้งลายพื้นเมืองดั้งเดิม เช่น ลายพญานาค ลายช่องพลู ลายบันไดสวรรค์ และลวดลายสมัยใหม่ที่ประยุกต์ให้มีความร่วมสมัย

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม คือ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ที่มีลายไม่เหมือนกันในแต่ละผืน เป็นลายที่มีผืนเดียวในโลก นอกจากนี้ยังมีผ้าไหมมัดหมี่ด้วย

ทุกวันนี้ ผ้าไหมบ้านนาโพธิ์ ภายใต้สมาชิกกว่าพันคน จากเดิมที่มีไม่กี่ครัวเรือน มีกระบวนการผลิตที่ละเมียดละไม ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ต้มรังไหมด้วยฟืน ทอผ้าได้วันละ 1 เมตร ต่อ 1 คน จากในระยะเริ่มต้นเมื่อปี 2516 ต้องใช้เวลาทอถึง 3 เดือนกว่าจะได้ผ้า 12 เมตร

และพลาดไม่ได้เมื่อมีกระแส “ออเจ้า” จากละคร “บุพเพสันนิวาส” กระแสการแต่งผ้าไทย เฟื่องฟู ยอดขายผ้าไหมของบ้านนาโพธิ์ ก็ย่อมขายดิบ-ขายดีเช่นกัน

และแน่นอนที่สุดว่า ชาวบ้านย่านนี้ “ไม่รวย และไม่มีหนี้”