หมี่กรอบสูตรสงครามโลกครั้งที่สอง ธุรกิจอาม่า ต่อยอดขึ้นห้าง

หาบขายขนมจีนน้ำยา

เส้นไม่หมด ทำหมี่กรอบ 
70 กว่าปีก่อน ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง คุณผ่อง นุชนิ่ม หญิงสาวผู้รักการค้าขาย ได้หาบขนมจีนน้ำยาจำหน่ายให้กับผู้ซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่คือทหารญี่ปุ่นและเชลยศึก เมื่อขนมจีนเหลือจะนำมาตากแดด ปรุงเป็นเมนูที่คิดขึ้นเอง นั่นคือ “หมี่กรอบ” คลุกน้ำปรุง แบบจานต่อจาน
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สิ้นสุดลง อาชีพขายหมี่กรอบก็ยุติลง
จนกระทั่งในปี 2541 คุณจตุพร อินทรโสภา ผู้เป็นหลานมีแนวคิดกับการสร้างชุมชนของตนเองให้เข้มแข็ง วางแผนจัดตั้งกลุ่มเพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาด และหมี่กรอบสูตรอาม่า หรือที่เรียกว่า “หมี่กรอบสูตรสงครามโลกครั้งที่สอง” ก็ผุดขึ้นในใจ
“ตอนนั้นเข้าไปขอสูตรอาม่า ซึ่งท่านอายุ 98 ปีแล้ว แต่ว่ายังจำสูตรได้ดี จึงสอนให้ ทดลองทำ ก็ถือว่าได้รสชาติใกล้เคียง จึงเริ่มเปิดตลาด โดยมีทำเลขายในตลาดนัด”
“กลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง” ตำบลตะคร้ำเอน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี จัดตั้งขึ้นโดยมีสมาชิกเริ่มต้น 29 คน (ปัจจุบันราว 70 คน) แต่ละคนลงหุ้นคนละ 1 หุ้น หุ้นละ 100 บาท จึงเท่ากับมีเงินลงทุนในเบื้องต้น 29,000 บาท เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ ต่อเมื่อสินค้าขายได้จึงพัฒนาคิดสูตรใหม่ๆ สร้างรายได้เพิ่ม
หมี่กรอบสูตรสมุนไพร และหมี่กรอบสมุนไพรรสมะเขือเทศสด ผุดขึ้น ซึ่งทั้ง 2 สินค้านี้ได้รับความนิยมมาก ทำให้ยอดขายขยับถึง 5 แสนบาท ต่อปี
“ตอนเริ่มต้นก็ขายบ้างทิ้งบ้าง เพราะว่าสินค้ายังใหม่สำหรับลูกค้าในยุคนั้น และเราก็ไม่เก่งด้านการตลาด บรรจุภัณฑ์ก็ไม่สวยงาม ใส่กะละมังพอมีลูกค้าสั่งซื้อก็ตักใส่ถุง ขายแบบบ้านๆ เลย”
จากตลาดนัด ขึ้นห้าง
วางยอดขาย 2 ล้าน
กระทั่งปลายปี 2541 หน่วยงานภาครัฐเริ่มเข้ามาช่วยสนับสนุนช่วยพัฒนาทั้งด้านรสชาติ บรรจุภัณฑ์ ให้สินค้าเกิดมาตรฐาน ได้ตรารับรอง อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) และโดยเฉพาะเรื่องของการตลาดที่เป็นตัวกลางทำให้รู้จักกับท็อปส์
“สินค้าของกลุ่ม โดยเฉพาะหมี่กรอบ ภายใต้แบรนด์พรหมสร ส่งตลาดหลักท็อปส์มาได้ 3 ปีแล้ว ทำให้ยอดขายขยับ จากหลักแสนเป็นหลักล้านบาท โดยคาดว่าในปีนี้จะมีรายได้จากการส่งสินค้าให้ท็อปส์ 2 ล้านบาท”
คุณจตุพร กล่าวต่อว่า “ใช้เวลาพูดคุยกับท็อปส์นานพอสมควร เพราะเราเองก็ต้องปรับหลายอย่างเพื่อให้เกิดมาตรฐาน อย่างโรงงานผลิตซึ่งท็อปส์ลงทุนก่อสร้างด้วยเงิน 1 ล้านบาท จนกระทั่งได้มาตรฐาน GMP ได้รับตราฮาลาล เป็นสินค้าโอท็อป 5 ดาว ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ 5 ปีแล้ว
ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ท็อปส์ก็ร่วมช่วยพัฒนา เพราะเขารู้ว่าตลาดต้องการอะไร ต้องสะดุดตา สะอาด น่าจับต้อง อยู่ในรูปแบบกล่องติดฉลากสวยงามและชัดเจน”
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ทำตลาดได้ดีคือ หมี่กรอบสูตรสมุนไพร และสูตรสมุนไพรรสมะเขือเทศสด โดยราคาขายปลีกกล่องละ 40 บาท ส่วนกรอบเค็มสินค้าขายดีอีกรายการหนึ่งราคา 35 บาท
ทั้งนี้ในส่วนของหมี่กรอบสูตรสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง ยังคงผลิต โดยตลาดหลักอยู่ที่งานแสดงสินค้า เนื่องด้วยอายุการเก็บรักษาสั้นอยู่ได้เพียง 1 เดือน ส่วนราคาขายปลีกกล่องละ 50 บาท
ทั้งนี้ คุณจตุพร ประธานกลุ่มคนขยัน ยังกล่าวถึงการผลิตหมี่กรอบสูตรสงครามโลกครั้งที่สอง ให้ฟังโดยเริ่มจากนำเส้นขนมจีนหมัก ไปตากแดด 3 แดด จากนั้นนำมาทอดให้กรอบ แล้วปรุงน้ำปรุงรส ซึ่งมีส่วนผสมของ น้ำตาลปี๊บ น้ำมะขามเปียก และเกลือ คลุกเคล้าให้ทั่วเส้น กินเคียงคู่กับถั่วงอกและต้นกุยช่าย
โอท็อปไปได้ดี 
ต้องมีเรื่องราว
ส่วนสูตรหมี่กรอบสมุนไพร จะใช้เส้นหมี่ขาวข้าวกล้องลงทอดในน้ำมันร้อนจัด ตักขึ้นคลุกเคล้ากับน้ำปรุง ซึ่งประกอบด้วย น้ำมะขามเปียก น้ำมะกรูด น้ำตะไคร้ และส้มซ่า จากนั้นนำไปอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อดึงน้ำมันออก
“นอกจากรสต้องอร่อยแล้ว ยังปรับให้เหมาะกับกลุ่มคนรักสุขภาพด้วย โดยเลือกใช้หมี่ขาวข้าวกล้อง และอบเพื่อดึงน้ำมันออกด้วยเตาอบพลังงานแสงอาทิตย์ ลูกค้าทานแล้วไม่เลี่ยนไม่มัน แถมมีสมุนไพรซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านที่ปลูกอยู่ในชุมชนนำมาเป็นส่วนผสมสำคัญ”
เมื่อตลาดมีความต้องการ และมีความมั่นคง คุณจตุพรในฐานะประธานกลุ่ม จึงคิดผลิตภัณฑ์เพิ่มเพื่อตอบโจทย์ โดยคาดว่าในปี 2559 จะส่งสินค้าวางจำหน่ายในท็อปส์เพิ่ม ได้แก่ หมี่กรอบรสต้มยำกุ้ง, หมี่กรอบสแน็ก, ครองแครงกรอบ, ปั้นสิบ
“โอท็อปต้องคิดถึงการนำวัตถุดิบหลักจากพื้นถิ่นมาใช้ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดรายได้ตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างหมี่กรอบรสต้มยำกุ้ง ก็ใช้กุ้งฝอยตัวเล็กๆ ที่มีจำนวนมากในพื้นที่ มาผ่านกระบวนการปรุงรสต้มยำ ใส่ ข่า ตะไคร้ พริก ให้จัดจ้าน”
ไม่เพียงตลาดในประเทศเท่านั้นที่มองเห็น แต่ยังหวังก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเออีซี “เคยเดินทางไปออกงานกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และจีน อย่าง หมี่กรอบสมุนไพร ตลาดจีนตอบรับดีมาก เราจึงเห็นช่องทางขยาย”
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโอท็อป ที่ต้องการทำผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่สนใจของตลาด คุณจตุพร แนะนำ สิ่งแรกคือ ความอร่อย เป็นสินค้าต่อยอดมาจากภูมิปัญญา ไม่ใช่ลอกเลียนแบบ ใช้วัตถุดิบ โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักในพื้นถิ่น ก็จะส่งผลให้เกิดรายได้แบบกระจายในชุมชน ก่อเกิดความยั่งยืน
“อีกประการสำคัญ ขอฝากไว้คือ โอท็อปต้องมีเรื่องราวเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ มีที่มาที่ไป มีจุดเริ่มต้น ให้เกิดการเล่าเรื่องได้ และมีความเข้มแข็งของกลุ่ม”
ติดต่อกลุ่มแม่บ้านเกษตรมะขามทอง ตั้งอยู่ เลขที่ 230/8 เทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น ตำบลตะคร้ำเอน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โทรศัพท์ (087) 033-7922