พลิกวิกฤตแล้ง! ทำนากบส่งขายทั่วอีสาน เงินสะพัดหมู่บ้าน10ล้าน/ปี

วันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดนครพนม ในช่วงฤดูแล้งปีนี้แม้จะมีพายุฝนฤดูร้อน ตกลงมาต่อเนื่อง แต่ยังมีหลายพื้นที่จะประสบปัญหาจากภาวะภัยแล้ง ขาดน้ำในการทำการเกษตร แต่ชาวบ้านหนองแต้ และ ชาวบ้านนาขาม ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส นำอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำนากบมาสร้างรายได้หน้าแล้ง ด้วยการปรับพื้นที่นา นำตาข่ายเขียวมาขึงเป็นคอกเลี้ยงกบ ขายลูกอ็อด เนื่องจากมองว่า ลูกอ็อด เป็นที่ต้องการของตลาดสูง และหายาก โดยได้เริ่มจากการเลี้ยงตามภูมิปัญญาชาวบ้านลองผิดลองถูกมานานหลายปี จนกระทั่งเกิดความชำนาญ กลายเป็นอาชีพที่มีผลผลิตสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี จนทำให้หมู่บ้านเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า หมู่บ้านเลี้ยงกบ ซึ่งถือได้ว่า เป็นแห่งเดียวของนครพนม ซึ่งในแต่ละปีจะมีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า เดินทางมารับซื้อลูกอ็อด ช่วงหน้าแล้ง ไปส่งขายออกสู่ตลาดทั่วภาคอีสาน ปีละหลาย 10 ตัน สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดปีละกว่า 10 ล้านบาท ทีเดียว

โดยอาชีพทำนากบ จะเริ่มขึ้นในช่วงหน้าแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะใช้พื้นที่นาว่าง นำตาข่ายเขียวมาขึงเป็นบ่อเลี้ยงกบ จากนั้นจะนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบที่เลี้ยงไว้ ไปปล่อยให้กบออกไข่ เพราะพันธุ์เป็นลูกอ็อด แล้วใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 20 วัน เพื่อขายลูกอ็อด ในราคาส่ง กิโลกรัมละ 150 – 200 บาท โดยจะมีพ่อค้า แม่ค้า ทั่วภาคอีสาน มารับซื้อไปขายตามตลาด มีราคาขายตามท้องตลาดประมาณ 250 -300 บาท ให้ลูกค้าที่นิยมรับประทาน ซื้อไปประกอบอาหาร แกง หมก อ่อม ตามความชอบ ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน จะเป็นช่วงสุดท้ายที่เกษตรกรจะเร่งขาย ก่อนใช้พื้นที่นาทำนาปีตามปกติ ที่สำคัญถือเป็นอาชีพที่ใช้ต้นทุนต่ำ และดูแลง่าย ใช้น้ำน้อยในการเลี้ยง รวมถึงไม่มีคู่แข่งทางการตลาด ทำให้สามารถส่งขายได้ไม่อั้น มีตลาดรองรับตลอด

นายสมชัย วงษ์สุข อายุ 58 ปี เกษตรกรชาวบ้านหนองแต้ ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม ซึ่งถือเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่นำร่องบุกเบิกทำอาชีพนากบมานานกว่า 10 ปี จากการลองผิดลองถูกด้วยการเลี้ยงแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จนประสบความสำเร็จสามารถมีผลผลิตลูกกบขายส่งทั่วภาคอีสานตลอดปี แบบครบวงจร

โดยได้เล่าถึงที่มาของอาชีพ ทำนาเลี้ยงกบว่า เดิมชาวบ้านหนองแต่ ทำไร่ทำนา พอหมดฤดูนาปี ถึงหน้าแล้งส่วนใหญ่จะไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัด หารายได้เสริม เพราะไม่มีงานทำ ทำการเกษตรไม่ได้ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอ ทำให้ตนเกิดความคิดหาวิธีเลี้ยงกบขาย เพราะมองว่ากบน่าจะหายากในช่วงหน้าแล้ง บวกกับลูกอ็อด เป็นที่ต้องการของตลาดสูง หาตามธรรมชาติยาก จึงนำมาทดลองเลี้ยง แบบลองผิดลองถูก ด้วยการนำพ่อพันธ์แม่พันธ์มาขยาย ใช้เวลา 2 -3 ปี จึงประสบความสำเร็จ สามารถขายได้ทั้งลูกอ็อด รวมถึงกบที่โตแล้ว และมีตลาดรองรับตลอด จึงแนะนำส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยงมาต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันในหมู่บ้านมีคนยึดอาชีพนากบเกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 100 ครอบครัว