สตาร์ทอัพต้องรู้ สร้าง “CONTENT” อย่างไรให้โดนใจตลาด !!

      ในช่วง2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ แนวความคิดการทำธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มคนที่มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยแนวคิดดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง และต้องส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้เป็นวิสาหกิจกลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สามารถประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อมาสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว และนับเป็นวิสาหกิจแห่งอนาคตที่จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

แม้ว่าธุรกิจสตาร์ทอัพในภาพรวมจะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่สิ่งที่ตามมาด้วยนั้น พบว่า ธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกันกลับมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ เหล่าสตาร์ทอัพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลุกขึ้นมาหากลยุทธ์โดยเฉพาะในการสร้างคอนเทนท์ หรือเนื้อหา เพื่อให้แบรนด์สินค้า หรือบริการของตนเป็นที่จดจำและโดดเด่นจากผู้อื่น                 

คุณพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA)  กล่าวสรุปเนื้อหาในการสร้างคอนเทนท์ให้น่าสนใจ  10 ข้อ ได้แก่

1.         กำหนดกลุ่มเป้าหมาย การมีคอนเทนท์ที่ดีต้องทราบก่อนว่า จะสื่อสารกับใคร  คนแต่ละกลุ่มกำลังคิดอะไรอยู่ หรือต้องการอยากรู้อะไร ชอบข้อความหรือสื่อประเภทแบบไหน มีอุปสรรคและปัญหาอะไรที่สินค้าหรือบริการจะเข้าไปช่วยแก้ผ่านคอนเทนท์ได้บ้าง ซึ่งเมื่อทราบทั้งหมดก็จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาพบเจอกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอ             และช่วยให้เข้าถึงแบรนด์สินค้า หรือบริการได้ง่ายขึ้น

2.         ใช้ความสร้างสรรค์เพื่อสร้างคอนเทนต์ให้โดดเด่น การสอดแทรกเนื้อหาผ่านการใช้ภาษาที่มีความแปลกใหม่ เร้าอารมณ์ เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้คอนเทนท์ดูมีความน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะต้องมีความทันสมัย มีสิ่งที่ดึงดูดสายตาให้หยุดชมหรืออ่านได้ รวมทั้งยังจะต้องประกอบไปด้วยความรู้ ความกล้าที่จะแตกต่าง และจินตนาการ

3.         รูปแบบในการนำเสนอ  ในการทำคอนเทนท์ให้โดนใจไม่ใช่เพียงแต่เป็นเขียนเพียงอย่างเดียวลองเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอคอนเทนต์ อาทิ การใช้ภาพ วีดีโอ หรืออินโฟกราฟิกในการนำเสนอเพื่อช่วยดึงดูดให้คนอ่านไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อ

4.         หมั่นตามกระแส  เมื่อเกิดกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นรายวันถือเป็นอีกโอกาสสำคัญด้านหนึ่งที่แบรนด์จะสามารถนำมาต่อยอดทำเป็นคอนเทนต์ที่น่าสนใจได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องของกระแสกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วยว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็จะนำมาซึ่งการพูดถึงและการบอกต่อ

5.         สร้าง KEYWORD LIST   คีย์เวิร์ด คือ คำหรือวลีที่ผู้บริโภคส่วนมากใช้ค้นหาข้อมูลจากช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะเป็นคำที่สะท้อนถึงปัญหาหรือความต้องการของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ หากเลือก คีย์เวิร์ด ถูกต้อง ก็จะทำให้ผู้ใช้บริการออนไลน์สนใจหรืออยากซื้อสินค้าและบริการ

6.         SEO ขาดไม่ได้  SEO (Search engine optimization)  คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับการค้นหาในตำแหน่งที่ดีที่สุด หรือ ติดหน้าแรกของ Search Engine ต่างๆ เช่น Google, Yahoo, Bing ซึ่งการจะทำให้เว็บไซต์แสดงผลในอันดับที่ดีได้นั้น มีขั้นตอนและปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันทั้งในเรื่องของเนื้อหา วิดีโอ ภาพนิ่งที่สอดคล้อง ฯลฯ ดังนั้นแล้วหากเราสามารถทำให้เว็บไซต์ของเราติดหน้าแรกหรือติดอันดับต้นๆ บนผลการค้นหาได้แล้ว เราจะสามารถเพิ่มจำนวนคนเข้าเว็บไซต์เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น

7.         HEADLINE โดนใจ  การสร้างหัวเรื่อง หรือ Headline เป็นสิ่งแรกและเป็นหัวใจสำคัญของคอนเทนท์ที่ต้องการจะนำเสนอ เนื่องจาก ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด และเป็นส่วนที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมองว่าแต่ละโพสต์ เรื่องราว บทความ หรือโฆษณาเกี่ยวกับอะไร นอกจากนี้ Headline ยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มโอกาสดึงดูดสายตาของผู้อ่านลงมายังเนื้อหา พร้อมกับเรียกร้องความสนใจให้สินค้าและบริการเป็นที่พูดถึงมากขึ้น

8.         ข้อมูลแหล่งที่มา ในการสร้างคอนเทนท์บางครั้งจำเป็นต้องมีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาหรือการค้นจากแหล่งที่มาที่หลากหลาย ดังนั้นเนื้อหาหลักๆ อาทิ ตัวเลขหรือข้อเท็จจริงทุกอย่างที่อ้างอิงในคอนเทนต์ ต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อาทิ สำนักข่าว องค์กรวิจัย หรือสถาบันการศึกษา ข้อมูลที่ถูกต้องนั้นนอกจากจะทำให้คอนเทนต์ของเรามีคุณภาพแล้ว การกล่าวถึงข้อมูลผิดๆ อาจสร้างความเสียหายให้กับผู้อ่าน หรือมีปัญหาในทางกฎหมายได้

9.         คอนเทนท์ต้องช่วยแก้ปัญหา  ธรรมชาติของผู้บริโภคส่วนใหญ่ มักจะรู้สึกประทับใจหากมีสินค้าหรือบริการที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ดังนั้น หากต้องการให้คอนเทนท์เป็นที่ชื่นชอบ สตาร์ทอัพจึงต้องสร้างคอนเทนท์ที่สามารถช่วยเหลือ แก้ปัญหา ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้คอนเทนท์เข้าไปอยู่ในใจของกลุ่มเป้าหมายได้

10.       ปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอและอัพเดทอย่างต่อเนื่อง – การทำคอนเทนท์ที่ดีควรมีความเสมอต้นเสมอปลาย เนื้อหามีความสดใหม่ น่าอ่าน กระชับ ชัดเจน มีประโยชน์ และมีระยะเวลาในการปล่อยคอนเทนท์ที่สม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้มีผู้ติดตามเพิ่มมากขึ้น

คุณพรวิช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการใช้ Social Media ในการเผยแพร่เนื้อหาและข่าวสารของแบรนด์ สามารถช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี แต่การทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งที่ดีก็ไม่ควรถ่ายทอดในรูปแบบที่ฮาร์ดเซลล์ แต่ควรจะต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งหวังให้เป็นลูกค้าในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ การผลิตคอนเทนท์ได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามช่องทางในการสื่อสารของผู้บริโภค จากการสื่อสารผ่านตัวอักษร มาเป็นรูปภาพ จากรูปภาพกลายมาเป็นภาพเคลื่อนไหว ดังนั้น 10 แนวทาง  ข้างต้น จึงเป็นข้อแนะนำและเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสตาร์ทได้เตรียมความพร้อมเจาะตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สร้างความพึงพอใจในระดับเริ่มต้น พร้อมช่วยให้กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพมีความทันสมัยและก้าวทันกับความต้องการได้ตลอดเวลา

สำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทรศัพท์ 02 507 7999 หรือ www.nea.ditp.go.th , facebook.com/nea.ditp