ปักหมุด “เตาปูน-บางซื่อ” เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง คอนโดขึ้นเพียบ แหล่งค้าขายอนาคตดี

พื้นที่ค้าขายย่านสถานีรถไฟฟ้า จัดว่า เป็นย่านทำเลทอง คนสัญจรไปมาเยอะ มีผลให้ราคาที่ดินย่อมแพงเป็นธรรมดา โดยเฉพาะย่านสถานีรถไฟฟ้าสายดั้งเดิมที่เปิดให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เอ็มอาร์ที) หรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม-อ่อน (บีทีเอส) และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ราคาที่ดินที่แพง และขยับขึ้นไม่หยุด เป็นเพราะรถไฟฟ้ากลายมาเป็นการคมนาคมที่สะดวกสบายที่สุด ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เข้าไปจับจองพัฒนาพื้นที่เป็นโครงการประเภทต่างๆ มากมายทั้งศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และโรงแรมต่างๆ

ศูนย์วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ แอร์เรีย ได้เปิดผลสำรวจวิจัยเรื่องทำเลทองสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยเฉพาะหลังช่วงวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2554 พบว่า ราคาที่ดินรอบสถานีขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นปีละ 4 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลระบุว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ราคาที่ดินรอบสถานี ที่ปรับเพิ่มมากที่สุดมี 5 สถานีซึ่งอยู่บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งห่างจากย่านศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) ประกอบด้วย สถานีพระราม 9 สถานีสุขุมวิท สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีห้วยขวาง และสถานีสุทธิสาร

โดยสถานีพระราม 9 ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า จะเป็นซีบีดีใหม่ในอนาคตนั้น มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งโครงการมิกซ์ยูส เมกะโปรเจ็กต์เปิดตัวเป็นจำนวนมาก และพบว่าราคาที่ดิน ณ สิ้นปี 2560 มีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 14.9 เปอร์เซ็นต์ โดยราคาที่ดินอยู่ที่ประมาณ 800,000 บาท ต่อตารางวา บริเวณดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่บริเวณสี่แยกถนนพระราม 9 ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งสะดวกต่อการเดินทางเข้าออกเมือง และยังถือว่าต่ำกว่าราคาที่ดินในย่านกลางเมืองอีกด้วย ทำให้เป็นที่หมายตาของนักพัฒนา และนักลงทุน โดยโครงการสำคัญของย่านนี้ คือ โครงการศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานต่างๆ รวมถึงโครงการที่พักอาศัย และจุดนี้ในอนาคตจะมีแลนด์มาร์กใหม่ ที่กลุ่มจีแลนด์จะสร้างซุปเปอร์ทาวเวอร์ สูง 125 ชั้น เป็นอาคารที่สูงที่สุดในอาเซียนด้วยความสูง 615 เมตร แล้วเสร็จภายในปี 2563 จึงไม่แปลกที่ทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูงไปได้ขนาดนั้น

ต่อมาคือ สถานีสุขุมวิท ซึ่งแวดล้อมไปด้วยโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์เป็นจำนวนมาก ทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ คอนโดมิเนียม โรงแรมหรู และอาคารสำนักงาน โดยมีอัตราการเติบโตของราคาที่ดินอยู่ที่ 13.5 เปอร์เซ็นต์ โดยราคาเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 1.6 ล้านบาท ต่อตารางวา ซึ่งราคาดังกล่าวสูงพอๆ กับสถานีสีลม เพราะจุดนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังสุขุมวิทสู่เขตซีบีดี คลองเตย เป็นต้น

ส่วนสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีห้วยขวาง และสถานีสุทธิสาร ซึ่งเป็นสถานีที่ห่างออกมาจากตัวเมืองตามลำดับ มีอัตราการเติบโตของราคาที่ดินลดหย่อนลงมาตามลำดับ ได้แก่ 11.3 เปอร์เซ็นต์ 10.2 เปอร์เซ็นต์ และ 10.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้ง 3 สถานีตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก และไม่มีสี่แยกใหญ่เหมือนสถานีพระราม 9

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เอ็มอาร์ที ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้เริ่มก่อสร้างแล้วในเดือนพฤษภาคม 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 เป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อการเดินทางจากนอกเมืองเข้าสู่ใจกลางเมือง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดความต้องการ และราคาที่ดินเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต โดยราคาที่ดินเฉลี่ยทั้ง 3 สถานีอยู่ที่ระดับ 650,000 บาท ต่อตารางวา แต่หากเลยสถานีสุทธิสารไปแล้วราคาจะต่ำกว่า 600,000 บาท ต่อตารางวา

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก 5 สถานีดังกล่าวแล้ว ณ ปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีสถานีที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้ามอีก 2 สถานี คือ สถานีบางซื่อและสถานีเตาปูน ซึ่งในส่วนของสถานีบางซื่อนั้น อาจจะไม่มีที่ดินแปลงใหญ่ของเอกชนเหลืออยู่หรือมีแต่ก็ไม่มากนัก แต่ก็ยังมีที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่กำลังก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อศูนย์กลางการขนส่งของประเทศ ซึ่ง รฟท. มีแผนที่จะหยิบยกที่ดินบางแปลงในบริเวณนั้นมาให้เอกชนประมูลเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อรองรับกับการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อศูนย์กลางการเดินทางและธุรกิจในอนาคตด้วย

และหากขยับจากสถานีบางซื่อไปเล็กน้อยก็จะเป็นสถานีเตาปูน จุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เดิม) หรือ เอ็มอาร์ที กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินบางซื่อ-ท่าพระ-บางแค ย่านดังกล่าวก็ไม่น้อยหน้า แม้ว่าแหล่งงานอาจจะมีไม่มากเท่ากับกลางเมือง แต่อย่างน้อยก็เป็นที่ตั้งของบริษัทใหญ่ หลายบริษัท รวมทั้งส่วนราชการและรัฐสภาแห่งใหม่ ขณะเดียวกัน ย่านนี้ก็มีที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก ทั้งที่อยู่อาศัยดั้งเดิม และคอนโดมิเนียมเกิดใหม่อีกไม่น้อยกว่า 30,000 ยูนิต เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เฮโลไปเปิดโครงการคอนโดมิเนียมกันจำนวนมาก ส่งผลให้มีความหลากหลายในการอยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรที่อาศัยในย่านดังกล่าวมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ มองเห็นโอกาสในการเติบโตหากขยายการลงทุนมาเจาะกลุ่มเป้าหมายในย่านนี้

นอกจากคอนโดมิเนียมแล้ว ในเร็วๆ นี้เราจะได้เห็นการเปิดใช้บริการของโครงการเกตเวย์บางซื่อ ของกลุ่มทีซีซี แลนด์ มูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร โดยมีแผนที่จะปล่อยเช่าพื้นที่รวม 40,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 400 ร้านค้า และมีที่จอดรถ 1,200 คัน ซึ่งถือว่า เป็นการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่สอดรับกับแผนการขยายพื้นที่ย่านบางซื่อให้เป็น “ชุมชนเมืองใหญ่” แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อและเชื่อมต่อออกไปยังเมืองชั้นนอก

นั่นหมายความถึงการเป็นแหล่งทำเลค้าขายที่มีผู้คนพลุกพล่านในอนาคตอันใกล้นี้!!