“ถั่วลิสง” พืชเศรษฐกิจของไทยนับร้อยปี ทนต่ออากาศร้อน-ไม่ต้องการน้ำมาก ปลูกได้หลายจังหวัด

เชื่อว่าท่านนักบริโภคถั่วทุกท่าน คงรู้จักถั่วของไทยชนิดนี้ “ถั่วลิสง” น่าจะเป็นถั่วที่มีมานานนับเป็นร้อยๆ ปี ถามคนเฒ่าคนแก่ขณะนี้ก็บอกว่ามีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดแล้ว เรียกกันว่า “ถั่วดิน” คนสมัยก่อนเอามาต้ม คั่วกินเล่น หนุ่มสาวไปเที่ยวหากันก็ได้ถั่วดินคั่วนั้นแหละเป็นของว่างแก้เขินอาย กินเล่นกันมากๆ คอแห้งดื่มน้ำตาม คงเกิดลมแก๊สในกระเพาะส่งเสียงปี๊ดปู้ดกันเพลินดีนะ ไม่อยากบอกว่าอายนะ

“ถั่วลิสง” เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ แถวบราซิล แถบเทือกเขาแอนดีส และประเทศโบลิเวีย แถบลุ่มแม่น้ำอะเมซอน แพร่พันธุ์เข้ามาประเทศไทยเมื่อไรไม่ทราบ แต่ก็คงนานนับร้อยๆ ปีอย่างที่ว่า ในขณะนี้ยังมีปลูกกันอยู่แถวขอนแก่น นครสวรรค์ นครนายก ลพบุรี สระบุรี ลำปาง และอุตรดิตถ์ อุตรดิตถ์มีปลูกกันเป็นแหล่งประจำที่ตำบลน้ำริด ตำบลบ้านด่านนาขาม อำเภอเมือง มีพื้นที่ปลูกตำบลละ 2,500 ไร่ ให้ผลผลิตดีในช่วงปลูกเป็นถั่วแล้ง อาศัยความชื้นจากดิน และน้ำห้วย ช่วงหลังฤดูทำนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วหยอดถั่วพันธุ์ไทนาน 9 เหมาะสำหรับกะเทาะเมล็ดขาย กับถั่วเมล็ดฝักลายพันธุ์พระราชทานจัมโบ้ลาย พันธุ์กาฬสินธุ์ 2 นิยมบริโภคในรูปถั่วต้มสด เดี๋ยวนี้มีพันธุ์ดีๆ ที่แนะนำให้ปลูก ทั้งเป็นถั่วลิสงแห้งกะเทาะ และถั่วลิสงบริโภคสด เช่น พันธุ์ขอนแก่น ขอนแก่น 60-1 ขอนแก่น 60-2 ขอนแก่น 60-3 ขอนแก่น 4 ขอนแก่น 5 ขอนแก่น 6 กาฬสินธุ์ 1 กาฬสินธุ์ 2 ขอนแก่น 84-7 ขอนแก่น 84-8 และมีถั่วลิสงพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมต้มสด มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีอ่อนๆ นิยมปลูกกันมาก

การปลูกถั่วลิสงโดยทั่วไป สามารถปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง เป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมากนัก วิธีปลูก การเตรียมดินก่อนปลูก ในขณะที่ดินมีความชื้นพอเหมาะ โดยไถ 2 ครั้ง และพรวน 2 ครั้ง ไถดินลึก 10-20 เซนติเมตร ปล่อยจนวัชพืชแห้งตาย ไถกลบเศษวัชพืชอีกครั้ง ถ้าดินค่อนข้างเป็นกรด (pH ต่ำกว่า 5.4) ให้หว่านปูนขาว (CaCo3) 100-300 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วจึงพรวนย่อยดินกลบก่อนปลูก หว่านปุ๋ยอินทรีย์ในรูปมูลสัตว์ ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยหมักจากเศษพืช จะช่วยเพิ่มผลผลิตถั่วลิสงมากขึ้น ฝักค่อนข้างเต็ม แต่เปลือกฝักจะมีสีคล้ำไม่สวย การปลูกถั่วลิสงฤดูแล้ง ต้องยกร่องและแต่งสันร่องให้เสมอกัน เพื่อสะดวกในการให้น้ำ ถ้าเนื้อดินแน่นให้ร่องแคบ สันร่องกว้างประมาณ 60-100 เซนติเมตร ปลูกได้ 2 แถว ถ้าดินร่วนระบายน้ำดี สามารถขยายสันร่องได้ถึง 1.5 เมตร ปลูกได้ 3-4 แถว ต้องให้น้ำซึมถึงกลางสันร่องได้ ปลูกฤดูฝน พื้นที่ราบ แถวต้องขวางตามแนวลาดเทของพื้นที่ ทำทางระบายน้ำออกจากแถวปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลง

การหยอดเมล็ดถั่วลิสง ควรหยอดเมล็ดลึก 5-8 เซนติเมตร หรือลึกกว่านี้ ในฤดูแล้งอาศัยความชื้นในดินใช้เมล็ดพันธุ์ 13-17 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วแต่ชนิดถั่ว ระยะปลูก 20×50 เซนติเมตร หยอด 2-3 เมล็ด ต่อหลุม จะได้ประมาณ 32,000 ต้น ผลผลิตเฉลี่ย 250 กิโลกรัม ต่อไร่ ในระยะแรกควรให้น้ำ 7 วันครั้ง หลังจากนั้น 10-15 วันครั้ง แต่ระยะ 30-60 วัน หลังถั่วลิสงงอกต้นแล้วอย่าให้ขาดน้ำ เพราะเป็นระยะที่ถั่วออกดอก ลงเข็ม สร้างฝัก และติดเมล็ด การให้น้ำทีละน้อยแต่บ่อยครั้งจะดีมาก

 การให้ปุ๋ย สำหรับดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือหินฟอสเฟส 0-3-0 อัตรา 200-300 กิโลกรัม ต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยโพแทสเซียม 0-0-6 อัตรา 5-10 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใช้ปุ๋ย สูตร 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือสูตร 16-16-8 อัตรา 35 กิโลกรัม ต่อไร่ รองก้นหลุมหรือโรยแถวข้างแล้วพรวนดินกลบหลังถั่วงอก 10-15 วัน ดินทรายมีปริมาณแคลเซียมที่ต่ำ ควรใส่ปูนขาว 100 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใส่ยิปซัม 50 กิโลกรัม ต่อไร่ โรยโคนต้นในระยะออกดอก ควรกำจัดวัชพืชครั้งแรกอายุ 15 วัน ครั้งที่ 2 อายุ 30 วัน หลังงอกหรือถ้าวัชพืชมีมาก ระยะ 60 วัน อีกครั้ง แต่ต้องไม่ให้กระทบกระเทือนต่อถั่วลิสง การใช้แรงคนมักจะทำพร้อมกับการพรวนดิน และพูนโคน หลังถั่วลิสงงอกและก่อนลงเข็ม อายุประมาณ 30-40 วัน การพูนโคนต้น ควรพูนเตี้ยๆ และแผ่กว้างจากโคนต้น เนื่องจากการเกิดฝักถั่วจะไม่กระจายตามโคนต้น แต่จะแผ่กระจายออกจากแนวโคนต้นเล็กน้อย

ศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ โรคโคนเน่าหรือโคนเน่าขาด โรคต้นเน่าหรือโคนเน่าขาว โรคใบจุด โรคราสนิมเกิดจากเชื้อรา โรคยอดไหม้ เกิดจากเชื้อไวรัส แมลงที่สำคัญ ได้แก่ หนอนชอนใบถั่วลิสง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่น เสี้ยนดิน และสัตว์พวกหนู ควรหาทางป้องกันและกำจัดไว้ให้ดี ผลผลิตจะได้ไม่เสียหายขาดทุนกับเกษตรกร ควรดูแลรักษากันตลอดอายุถั่วลิสง ซึ่งถ้าเก็บฝักสดเป็นถั่วต้ม ประมาณ 85-95 วัน ถ้าเก็บฝักแก่อายุ 95-110 วัน โดยการขุดหรือถอน แล้วปลิดฝักตาก และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความต้องการ อย่างไรก็ตาม ตลาดถั่วลิสงยังเปิดกว้างและต้องการคนป้อนผลผลิตอยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องพูดถึงโรงงานน้ำมันหรอก แค่บริโภคสดแปรรูปแค่นี้ก็ไม่ค่อยพอแล้ว

ถั่วลิสง นับวันจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากยิ่งขึ้น โรงงานแปรรูปผลผลิตของบริษัทต่างๆ ถั่วลิสงอบเกลือ ถั่วลิสงเคลือบเนยคาราเมล ช็อกโกแลต บรรจุซองอย่างดี มีแบรนด์ ดูดี น่าซื้อกิน ถั่วลิสงกรอบ ถั่วลิสงชุบแป้งทอด ถั่วลิสงป่นปรุงอาหาร ใส่ก๋วยเตี๋ยว ยำมะม่วง ส้มตำ น้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ หลน น้ำสลัด ขนมถั่วตัด สาคูไส้หมู ถั่วลิสงต้มกระดูกหมู อีกกว่าสิบอย่างที่เป็นประโยชน์จากถั่วลิสง

ถั่วลิสง หรือ Peanut ชื่อวิทยาศาสตร์ Arachis hypoaea L. มีสรรพคุณมากมาย บำรุงร่างกาย บำรุงสมอง ความจำ บำรุงสายตา ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ใบก้านต้มกินช่วยลดความดันโลหิต ป้องกันโรคหัวใจ เพราะช่วยลดไขมันเลวที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน มีไขมันไม่อิ่มตัว ช่วยลดความอ้วน เพราะกินแล้วอิ่มนาน ไม่หิว กินอาหารน้อย ยับยั้งไขมันเลวโดยกินถั่วดิบหรือต้ม การทอด อบ คั่ว จะผ่านความร้อนทำให้ไขมันดีในเมล็ดถั่วหายไป ถ้ากินมากเกินไปก็อ้วนได้ ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ดีต่อผู้เป็นเบาหวาน เปลือกถั่วต้มกินรักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำ รักษาโรคลำไส้ กระเพาะอาหาร ตับอักเสบ ม้าม เมล็ดและเยื่อต้มรวมกับถั่วแดงและเปลือกพุทราจีน แก้โรคเหน็บชาได้ผลดีทีเดียว