เทริดจิ๋ว – หน้ากากมโนราห์จิ๋ว ฝีมือสองพี่น้องชาวตรัง มรดกจากบรรพบุรุษ สร้างรายได้เดือนละ 6 หมื่น

ศิลปะการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมายาวนาน ต้องยกให้ “มโนราห์” มหรสพที่สามารถสะกดผู้ชมให้ตรึงใจไปกับท่วงทำนอง และลีลาการร่ายรำของผู้เล่น สร้างความสนุกสนาน ครึกครื้นชวนให้ต้องขยับตาม ซึ่งเสน่ห์ของการละเล่นชนิดนี้สิ่งสำคัญอยู่ที่เครื่องประดับที่มีสีสันสดใส ปัจจุบัน มีคนบางกลุ่มยึดเป็นอาชีพ นั่นคือ ประดิษฐ์เครื่องประดับมโนราห์ สร้างรายได้และช่วยอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมไทย

คุณปฏิพัฒน์ สัจบุตร วัย 37 ปี และคุณณัฐพงษ์ สัจบุตร วัย 33 ปี สองพี่น้องชาวอาศัยอยู่หมู่ที่ 4 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ที่สืบทอดกิจการต่อจากบรรพบุรุษ (คุณประเทือง สัจบุตร ผู้เป็นพ่อ) ด้วยการประดิษฐ์ส่วนประกอบต่างๆ ของการแสดงมโนราห์ ยกตัวอย่าง เครื่องประดับ เครื่องดนตรี  เติมไอเดียคนรุ่นใหม่ ทำหน้ากากตัวตลกที่ใช้ในการแสดงมโนราห์ ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า หน้ากากพรานบุญ ที่มีขนาดเล็กกว่าปกติประมาณ 10 เท่า ใช้สำหรับห้อยกับสร้อยคอ หน้ารถ ใช้เป็นเครื่องประดับ มีคนบางกลุ่มนำไปปลุกเสกขึ้นหิ้งบูชาในฐานะเครื่องรางของขลัง  แต่ล่าสุดได้ดัดแปลงมาทำ “เทริดจิ๋ว” ซึ่งเป็นเครื่องประดับศีรษะของมโนราห์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปกติประมาณ 5 เท่า สูง 19 ซม. หนัก 200 กรัมจำหน่ายในราคาชิ้นละ 1,500 บาท

คุณปฏิพัฒน์ บอกว่า เทริดใหญ่ (เครื่องประดับบนศีรษะมโนราห์) ซึ่งใช้สวมใส่ในการแสดงขนาดปกติ สูง 59 ซม. หนัก 1.5 กิโลกรัม  เทริดใหญ่ ราคาชิ้นละ 3,500 บาทขึ้นไป  ส่วน “เทริดจิ๋ว” จะมีขนาดเล็กกว่าปกติประมาณ 5 เท่า ราคาชิ้นละ 1,500 บาท ใช้เวลาในการทำประมาณ 4 วัน ใช้ไม้ทองหลาง เป็นไม้มงคล ค่อนข้างหายาก มีคุณสมบัติเด่นคือ น้ำหนักเบา

เจ้าของไอเดีย บอกต่อว่า ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของ “เทริดจิ๋ว” และ “เทริดใหญ่” คือ การติดลูกแก้วบนส่วนยอด  และหลังจากที่ประดิษฐ์เสร็จแล้ว สามารถนำไปเข้าพิธีกรรมไหว้ครูมโนราห์ เพื่อเพิ่มความเป็นมงคล หรือจะนำไปติดตั้งหน้ารถ หรือขึ้นหิ้งบูชาเลยก็ได้ตามใจชอบ

ด้วยความศรัทธาของผู้ที่สวมใส่ ส่งผลให้ “เทริดจิ๋ว” ได้รับความนิยมจากคนไทย ในภาคใต้ และภาคอื่นๆ รวมทั้งในต่างประเทศ คนมาเลเซีย สร้างยอดขายให้พี่น้องคู่นี้ถึงเดือนละประมาณ 6 หมื่นบาท

นอกจาก“เทริดจิ๋ว”แล้ว ยังมี “หน้ากากพรานบุญจิ๋ว”  ขนาดราวเหรียญ 10 บาท วัสดุที่ใช้แกะสลักคือ ไม้ยอ ไม้ขนุน เพราะเป็นไม้มงคล เนื้อละเอียด ง่ายต่อการแกะสลัก เพราะพิถีพิถันมากพอสมควร 1 ชิ้นใช้เวลาแกะสลักราวชั่วโมงครึ่ง ต่อวันแกะสลักได้ประมาณ 10 ชิ้น เนื่องจากต้องใช้ขวานถากขึ้นรูป จากนั้นตัดด้วยเลื่อยเป็นชิ้นเล็กๆ  ก่อนนำไปร่างแบบ แล้วลงมือแกะสลักด้วยสิ่ว ลงสีน้ำมัน ใช้ขนเป็ดสีขาวเอามาติดให้ดูเป็นผมหงอก ซึ่งหน้าพรานมีหลายรูปแบบ ทั้งหน้าสีแดง สีทอง สีดำ สีม่วง

ด้านการยอมรับ ชายหนุ่ม บอกว่า มีการบอกกันแบบปากต่อปากของลูกค้า และประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองเท่านั้น โดยมากของลูกค้าที่ซื้อไปมักจะเป็นกลุ่มผู้หญิง