กลุ่มแม่บ้านที่อยุธยา รวมตัวสร้างอาชีพขายหมูทุบ ใช้เครื่องผลิต สะอาดทุ่นแรง ไม่หวั่นออร์เดอร์มามาก

การสร้างและพัฒนาการบริการวิชาการเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน สังคม ประเทศ และนานาชาติ เป็นอีกหนึ่งภารกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ ที่จะสร้างสรรค์ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกิจกรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชน สังคม ให้เข้มแข็งมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยจึงไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาและบริการวิชาการในรูปแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ขั้นสูง อันนำไปสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการและเพิ่มศักยภาพงานวิจัย โดยสามารถนำผลการวิจัยมาพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ชุมชน สังคม ด้วยการบริการวิชาการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้สู่การขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0

การแปรรูปอาหาร (food processing) เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงสภาพของวัตถุดิบ ให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารอยู่ในสภาพที่เหมาะสม สะดวก และปลอดภัยต่อการบริโภค เป็นการถนอมอาหาร เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหลากหลาย เพิ่มทางเลือก และเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบ สำหรับการแปรรูปอาหารจากเนื้อหมูให้สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน มีหลากหลายรูปแบบ เช่น หมูแดดเดียว หมูสวรรค์ หมูฝอย หมูหย็อง นั่นคือกรรมวิธีในการแปรรูปอาหารที่แตกต่างกันไป หมูทุบก็เป็นอาหารอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมนำมาบริโภคและสามารถเก็บไว้ได้นานไม่แพ้กับเมนูอื่นๆ ที่กล่าวมา

แต่จะทำอย่างไร ให้อาหารที่เรานำมาแปรรูปนั้นสะอาด ถูกหลักโภชนาการ และสามารถนำมาบริโภคหรือจำหน่ายได้อย่างปลอดภัย นี่คือ ประเด็นที่สำคัญยิ่ง

ผู้ผลิตหมูทุบ

กลุ่มแม่บ้านชุมชนวัดตูม ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา มีอาชีพแปรรูปเนื้อหมู “หมูทุบ” เป็นอาชีพเสริมในการหารายได้เพิ่มให้กับครอบครัว ซึ่งมีกรรมวิธีการแปรรูปแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยการใช้ค้อนที่ทำจากเหล็ก และเขียงไม้เป็นอุปกรณ์ในการแปรรูปหมูทุบแต่ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ถูกหลักโภชนาการ และได้ผลผลิตน้อยมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาการผลิตต่อชั่วโมงต่อวัน ส่งผลกระทบต่อการผลิตและรายได้ของกลุ่มแม่บ้านในชุมชนวัดตูมเป็นอย่างมาก

จากปัญหาดังกล่าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ ได้เข้าไปจัดอบรมให้ความรู้กระบวนการในการผลิตหมูทุบ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน ได้มีอาชีพเสริมสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

โดย รศ. อำนวยพศ ทองคำ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ได้คิดค้นสร้างเครื่องผลิตหมูทุบขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาในการผลิตหมูทุบให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลา ลดต้นทุนในการผลิต และได้ผลิตภัณฑ์หมูทุบที่สะอาดถูกหลักโภชนาการ

รศ. อำนวยพศ กล่าวว่า เครื่องผลิตหมูทุบ เป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยทุ่นแรง และอำนวยความสะดวกในการผลิตหมูทุบ ตัวเครื่องใช้วัสดุที่เป็นสแตนเลส ไม่เป็นสนิม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอาหาร โดยประยุกต์ใช้ต้นกำลังไฟฟ้าที่มีเซ็นเซอร์เป็นตัวตัดระบบเพื่อความปลอดภัย ช่วยให้การทำงานสะดวก รวดเร็ว ลดความเมื่อยล้าแรงงานคน
ใช้งานง่าย

ซึ่งได้นำผลงานวิจัย เครื่องผลิตหมูทุบนี้ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่กลุ่มแม่บ้าน ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน
โดยมี ผศ. ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ เป็นประธานมอบ และมี คุณอำนวย มีวงษ์ รองนายก อบต. พร้อมเกษตรกรรับมอบเครื่องหมูทุบ

มอบเครื่อง

และล่าสุด “เครื่องผลิตหมูทุบ” ได้รับรางวัล Gold Medal เหรียญทองพร้อมเกียรติบัตร จากการคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมงานในการประกวดและจัดแสดงต่างประเทศ ในงาน “Seoul International Invention Fair 2017” (SIIF 2017) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

รางวัลที่ได้

ด้านกลุ่มแม่บ้านชุมชนวัดตูม โดย ป้าทองอาบ นิลมงคล ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านชุมชนวัดตูม เปิดเผยว่า การผลิตหมูทุบของชุมชนได้รับการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีในด้านต่างๆ จากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ

ในการอบรมกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนของการผลิต รวมถึงตัวบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบัน กลุ่มแม่บ้านตำบลวัดตูมสามารถผลิตหมูทุบเพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าตัว แถมยังได้หมูทุบที่สะอาด ปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการ ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า หมูทุบกรุงเก่า ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านวัดตูม

หมูทุบ

สำหรับผู้ที่สนใจชมต้นแบบเครื่องผลิตหมูทุบ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา โทร. (035) 709-101-3 หรือ รศ. อำนวยพศ ทองคำ โทร. (081) 447-8817