พาไปรู้จัก”มวยนึ่งข้าว”ของคนอำนาจเจริญ ใช้นึ่งข้าวเป็นหลัก นึ่งขนมก็ยังได้ ตกแต่งอาคารใช้แทนแจกัน

“มวย” หมายถึงเครื่องจักสานที่ทำจากไม้ไผ่ มีรูปร่างลักษณะทรงกระบอก ส่วนล่างจะแคบสำหรับสวมลงหม้อ ซึ่งบางท้องถิ่นอาจเรียก “หวด”

ความจริงแล้วหวดจะมีรูปร่างแตกต่างจากมวย เพราะจะมีลักษณะเหมือนรูปกรวย แต่ส่วนล่างจะปิด ไม่เป็นรูปทรงกระบอกเหมือนมวย ส่วนการใช้ประโยชน์ทั้งสองชนิดทำหน้าที่เหมือนกันคือใช้สำหรับนึ่งข้าวเหนียวหรือนึ่งอาหาร เพียงแต่มวยจะให้ปริมาณได้มากกว่าและแข็งแรงทนทานกว่าเพราะมีความหนาจากการสานถึง 3 ชั้น

คุณวิไล แนบชิด ชาวอำนาจเจริญ ยึดอาชีพสานมวยร่วมกับสามีมานานกว่า 20 ปี โดยเธอบอกว่าตอนแรกสานมวยไว้ใช้นึ่งข้าวในครัวเรือนเท่านั้น ต่อมามีคนจากหมู่บ้านอื่นเกิดความสนใจมาก อีกทั้งยังมีพ่อค้ามาติดต่อเพื่อนำไปขาย จึงทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมองว่าเป็นอีกช่องทางอาชีพที่จะสามารถหารายได้ จึงมีการรวมตัวกันสานมวยขึ้นเกือบทุกบ้าน

คุณวิไล แนบชิด

สำหรับมวยที่สานขายจะผลิตขึ้นจากไม้ไผ่พื้นบ้านที่มีขนาดลำใหญ่เท่านั้น เพราะมีความแข็งแรง ทนทาน ซึ่งจะต้องเลือกลำที่มีลักษณะตรง ลำที่มีความสมบูรณ์ตลอดทั้งลำ โดยจะออกไปหาซื้อตามสวนป่าของชาวบ้านที่ปลูกไว้ขายในราคาลำละ 100 บาท

ภายหลังที่ได้ไม้ไผ่ตามที่ต้องการแล้ว เลือกไม้ส่วนที่เหลือจากการทำตอกเสียบหรือไม้ตรงกลางยาวประมาณ 30-35 เซนติเมตร นำมาผ่าออกเป็นซีกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ปล้องหนึ่งผ่าเป็นซีกจะได้ประมาณ 15-18 ซีก แล้วเหลาปลายข้างหนึ่งให้มีความเรียวประมาณ 1 เซนติเมตร ใช้มีดจักตอกโดยผ่าให้เป็นเส้นบางซึ่งไม้ไผ่ซีกหนึ่งจะได้ตอกประมาณ 20-25 เส้น ตอกที่ได้เรียกว่าตอกสาน เมื่อจักตอกเสร็จจะนำตอกไปผึ่งแดดเพื่อให้ตอกอยู่ตัว

ให้นำไม้ไผ่จากโคนต้นที่ตัดไว้มาผ่าเป็นซีก กว้างยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร แล้วเหลาปลายข้างหนึ่งให้เรียวประมาณ 0.5 เซนติเมตร จักแล้วให้บางตามลายเรียกว่าตอกเสียบตอกยั้ง เมื่อจักตอกเสร็จแล้วก็นำตอกไปผึ่งแดดเพื่อให้ตอกอยู่ตัว

ส่วนการจักตอกสานชั้นสามให้ตัดไม้ไผ่ส่วนต่อจากตอกสาน และใช้ปล้องที่ยาวที่สุดตัดส่วนข้อออก ผ่าเป็นซีกหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร และจักตอกตะเเคงทำเป็นเส้นบางเล็กแล้วจึงนำมาสานกับตอกเสียบ หลังจากจักตอกเสร็จแล้วให้นำไปผึ่งแดด

สานเตรียมรอประกอบ

สำหรับขอบมวยจะนำไม้ไผ่ส่วนปลายที่ตัดเป็นท่อนละประมาณ 3 ปล้อง หรือประมาณ 100-110 เซนติเมตร สำหรับทำขอบบนยาวประมาณ 50 เซนติเมตร สำหรับขอบล่างนำมาผ่าเป็นซีกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร นำมาเหลาให้เรียบแล้วผ่าจักออกเป็นสองข้าง เหลาให้บางกว่าส่วนอื่นเผื่อเวลานำมาประกอบเป็นวงกลมจะทำให้ไม่หนากว่าส่วนอื่น จากนั้นนำตาข่ายมาใส่ที่ฐานมวย แล้วเก็บรายละเอียด ตรวจสอบความเรียบร้อยเพื่อรอขาย

คุณวิไล บอกว่า ได้มีการออกแบบและปรับปรุงขนาดมวยเพื่อต้องการให้มีความเหมาะสมกับการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ตามความต้องการของตลาดทั้งหมด 4 ขนาด ได้แก่ จิ๋ว เล็ก กลาง และใหญ่ โดยนิยมใช้นึ่งข้าวเป็นหลัก แล้วอาจใช้เป็นภาชนะใช้นึ่งหรือประกอบอาหารให้สุกด้วยไอน้ำ เช่น นึ่งปลา นึ่งไก่ นึ่งเห็ด นึ่งหอย หรือแม้แต่นึ่งขนม นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถใช้เป็นภาชนะใช้ตุ๋น เช่น ไข่ตุ๋น เนื้อตุ๋น เป็ดตุ๋น ไก่ตุ๋น แล้วลูกค้ายังนำไปใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งห้องอาคารทั้งภายในและภายนอก เช่น แจกัน โมบาย กระถางต้นไม้ กระถางดอกไม้

 

ทั้งนี้ จะสานขนาดใด จำนวนเท่าไร จะขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนด โดยมีราคาที่ผลิตขาย ถ้าเป็นขนาดจิ๋ว เล็ก กลาง มักจะขายส่งคละกันไปในราคาชิ้นละ 55 บาท แต่ถ้าเป็นขนาดใหญ่ราคาชิ้นละ 80 บาท

อุปกรณ์เครื่องมือหลักง่ายๆ

การสานมวยของคุณวิไลจัดว่าเป็นทั้งรายได้หลักและเสริม เพราะถ้ามีเวลาว่างทั้งวัน สามารถสานมวยได้ชั่วโมงละ 1 อัน (ขนาดกลาง) โดยจะทำชิ้นส่วนแต่ละชนิดเตรียมไว้ก่อน จากนั้นจึงนำมาประกอบสานเป็นมวย ซึ่งในแต่ละคราวที่ส่งงานจะมีรายได้ครั้งละ 3-4 หมื่นบาท โดยทำในจำนวนประมาณ 600 ชิ้น หรือบางครั้งผลิตได้เป็นพันชิ้น (รวมทุกขนาด) ทั้งนี้ ถ้ามีเวลาทำประมาณ 2 อาทิตย์ ขายได้ต่อครั้ง

การเก็บขอบ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามักทำไปเรื่อยเพราะมีหน้าที่ต้องเลี้ยงหลานกับทำงานบ้านไปพร้อมกัน แต่หากในกรณีที่ยุ่งมากแล้วเกรงว่าจะไม่ทันตามออเดอร์ก็จะไปซื้อชิ้นส่วนจากเพื่อนบ้านรายอื่นมาแล้วนำมาประกอบเพื่อให้รวดเร็ว แต่อาจจะได้กำไรลดลง

มวยขนาดต่างๆที่สานเสร็จสมบูรณ์แล้วรอส่งขาย

คุณวิไล ชี้ว่า เอกลักษณ์ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์สานมวยในชุมชนแห่งนี้เกิดจากการสานที่มีฝีมือประณีต สามารถใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นคือไม้ไผ่ที่มีคุณภาพแข็งแรง ทนทาน มีราคาไม่แพง แล้วยังส่งเสริมอาชีพภายในชุมชน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวิไล แนบชิด บ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเมย อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ โทรศัพท์ (045) 451-390