“ชมพูภูคา” เครื่องเงินมาตรฐานโลก ฝีมือชาวเขา เด่นงานตอกลาย ขายดีไซน์ร่วมสมัย

นอกจากเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนา จังหวัดน่านยังเลื่องชื่อเรื่องเครื่องเงิน และยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นลำดับต้นๆ ของภาคเหนือ ปัจจุบันฐานการผลิตขนาดใหญ่ตั้งอยู่ที่ “ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคา และหัตถกรรมเมืองน่าน” นอกจากจะเป็นสถานที่จำหน่ายแล้ว ยังฝึกอาชีพให้กับคนในชุมชนเละเป็นแหล่งความรู้เครื่องเงินจังหวัดน่านอีกด้วย

คุณตันติกร วรรณวิภูษิต ทายาทรุ่น 2 เล่าว่า ธุรกิจเครื่องเงินเริ่มจากคุณอา หรือ นายกมล แซ่เต็น ท่านเป็นชาวชนเผ่าเมี่ยน มีฝีมือในการทำเครื่องเงิน ชิ้นงานที่โดดเด่น คือ สร้อยคอ 9 สาย ในสมัยก่อนนำไปจำหน่ายที่เชียงใหม่ และได้รับโอกาสนำผลงานขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทำให้คุณอาได้เข้าไปเป็นช่างเครื่องเงินในวัง

ต่อมาปี พ.ศ. 2537 คุณอากลับมายังบ้านเกิด กลับมาพัฒนาฝีมือช่างเครื่องเงิน พร้อมทั้งผลิตเครื่องเงินเพื่อจำหน่าย แต่ทว่าในกลุ่มเกิดปัญหาตัดราคากันเอง เลยแก้ไขด้วยการตั้งสหกรณ์ชมพูภูคา เปิดรับชิ้นงานของชาวบ้าน กระทั่งปัจจุบันก่อตั้งเป็น บริษัท ชมพูภูคา จำกัด

บริษัท ชมพูภูคา จำกัด ปัจจุบันจำหน่ายเครื่องเงินทำมือ ฝีมือส่วนใหญ่ยังเป็นชาวเขาเผ่าม้งและชาวเขาเผ่าเมี่ยน ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องเงิน การันตีคุณภาพด้วยรางวัลสินค้าโอท็อป ระดับ 5 ดาว ซึ่งเครื่องเงินแท้ให้สังเกตจะไม่มันแวววาว น้ำหนักจะมากกว่าสเตนเลส ส่วนพื้นผิว จะมีความเรียบและประณีต

สำหรับจุดเด่นของเครื่องเงินชมพูภูคา คุณตันติกร บอกว่าคือ ความละเอียด เพราะหลายๆ แบบเป็นงานตอกลาย ใช้สิ่วละเอียด ที่สำคัญรูปแบบทันสมัย ช่างมีการผสมผสานระหว่างแบบสมัยใหม่กับแบบชาวเขา เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน อาทิ กำไล ต่างหู สร้อยคอ จี้ เข็มขัด นาฬิกา แหวน และของโชว์ต่างๆ เช่น ปลา บ้านทรงไทยโบราณ ช้าง เรือสำเภา กระบวย ช้อน แต่ควรระวังอย่านำไปใส่ของร้อน หรือของเค็มเพราะจะทำให้สีของเงินเปลี่ยนและล้างไม่ออก

“เครื่องประดับทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์เมด โดยเฉพาะการตอกลาย ลวดลายมีความประณีต เม็ดเงินที่ใช้เป็นเม็ดเงินคุณภาพสูง มีธาตุเงินผสมอยู่ 94 – 98 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าที่สากลกำหนดไว้ที่ 92.5 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่ามาตรฐานระดับโลก”

คุณตันติกร ย้ำว่า ความพิเศษของเครื่องเงิน คือ คุณภาพของเม็ดเงิน และปริมาณเม็ดเงินที่ใส่ มากเป็นพิเศษ ในสัดส่วน 96-100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เครื่องประดับมีความอ่อนนุ่ม ไม่แข็งจนเกินไป บวกกับฝีมือช่างที่มีประสบการณ์ยาวนาน เครื่องเงินของชมพูภูคาจึงมีชื่อเสียงมากในเรื่องความละเอียด

 

เครื่องเงินของศูนย์ชมพูภูคา มีราคาขายโดยดูตามน้ำหนัก และความยากง่ายของลวดลาย วิธีเลือกซื้อเครื่องประดับที่เป็นเงินแท้ของจังหวัดน่าน ให้สังเกตว่าเครื่องเงินนั้นจะมีลักษณะไม่มันแวววาว เป็นเนื้อโลหะอ่อน โดยเฉพาะที่ตะขอ อีกทั้งน้ำหนักจะมากกว่าสเตนเลส ส่วนพื้นผิว เครื่องเงิน จะมีความเรียบและประณีต เนื่องจากทำด้วยมือ

ด้านกลุ่มลูกค้าเครื่องเงินชมพูภูคา เจ้าของกิจการเผยว่า ค่อนข้างกว้าง มีเกือบทุกวัย เพราะสินค้ามีหลายรูปแบบ ประมาณ 70% เป็นการขายหน้าร้าน อีก 20% ขายส่ง และอีก 10% ส่งออกไปยังประเทศอาร์เจนตินา และบราซิล เป็นต้น

นอกจากเครื่องประดับที่ทำจากเงินแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังมีเครื่องใช้ประเภทอื่นๆ อาทิ สลุงหรือขัน, กระบวย, ช้อน แต่ควรระวังในการใช้ของประเภทนี้คือ อย่านำไปใส่ของร้อนอย่างแกง หรือของเค็มอย่างน้ำพริก เพราะจะทำให้สีของเงินเปลี่ยน และล้างไม่ออก แล้วต้องนำไปขัดใหม่

ปัจจุบันศูนย์เครื่องเงินแห่งนี้ ตั้งมา 24 ปี นอกจากผลิตและจำหน่ายเครื่องเงินแล้ว ยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทำเครื่องเงินเพื่อเผยแพร่ศิลปะเครื่องเงินให้ผู้ที่สนใจ มีพิพิธภัณฑ์เครื่องเงินขนาดย่อมให้นักท่องเที่ยวได้ชม

ในฐานะที่คุณตันติกร เป็นทายาทรุ่น 2 เรียนจบบริหารธุรกิจ เขานำพากิจการครอบครัวให้เป็นที่รู้จักของตลาดคนรุ่นใหม่ด้วยการตระเวนออกบู๊ธตามห้างสรรพสินค้า งานแสดงสินค้าภาครัฐ รูปแบบก็ปรับเปลี่ยนตลอด นอกจากนั้นยังพัฒนาฝีมือช่าง โดยเปิดรับช่างรุ่นใหม่ๆ เข้ามาฝึกอบรม โดยร่วมกับวิทยาลัยชุมชนเปิดอบรม