“สวนคุณลี” จ.พิจิตร เผยเทคนิคปลูก“ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน” กับ “ชมพู่สตรอว์เบอร์รี่” ให้ขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2553 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่เกาะไต้หวัน และได้กิ่งพันธุ์ชมพู่ยักษ์ไต้หวันมาเลี้ยงให้ต้นเจริญเติบโต และได้นำยอดมาเสียบบนต้นชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์ ที่ “สวนคุณลี”  อยู่ที่ ตำบลคลองคะเชนทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398, (056) 613-021

เวลาประมาณ 2 ปีต่อมา ยอดชมพู่พันธุ์ไต้หวันเจริญเติบโตดีเรื่อยมา และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา ทางผู้เขียนเห็นว่าต้นชมพู่ไต้หวันแตกทรงพุ่มใหญ่ เห็นว่าควรจะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อบังคับให้ต้นชมพู่ออกดอกติดผลนอกฤดู โดยใช้สารแพคโคลบิวทราโซล ในการบังคับให้ต้นชมพู่ออกนอกฤดูนั้น ผลปรากฏว่า ต้นชมพู่ได้ออกดอกมาเพียง 1-2 ช่อ เท่านั้น

ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นมาก ได้พยายามบำรุงรักษาเป็นอย่างดีเพื่อดูว่าผลชมพู่จะมีขนาดผลใหญ่จริงหรือไม่ ในขณะที่ต้นชมพู่เลี้ยงผลอยู่เพียง 1-2 ช่อนั้น (เนื่องจากต้นยังมีขนาดเล็ก) พอเข้าเดือนมีนาคม 2555 ผลปรากฏว่าต้นชมพู่ยักษ์ไต้หวันที่เสียบไว้ทยอยออกดอกและติดผลทั้งต้น หลังจากที่ห่อผลชมพู่ไต้หวันไปได้ประมาณ 25-30 วัน (โดยเริ่มห่อในระยะที่ผลชมพู่ถอดหมวก หรือผลใหญ่ขนาดนิ้วโป้ง) พบว่า ผลชมพู่ไต้หวันที่เก็บเกี่ยวมานั้นมีขนาดของผลใหญ่กว่าชมพู่สายพันธุ์อื่นๆ ที่ผู้เขียนเคยพบมา โดยมีคุณสมบัติของผล ดังนี้

ผลมีขนาดใหญ่มาก และมีน้ำหนักผลประมาณ 200-300 กรัม หรือ 3-5 ผล ต่อกิโลกรัม ผิวผลมีสีขาวอมชมพู หรือสีชมพูอมแดง เมื่อแก่จัดมีสีชมพูเข้ม ลักษณะของผลเป็นรูประฆังคว่ำใหญ่ มีความกว้างของผลเฉลี่ย 7 เซนติเมตร และความยาวของผลเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร เนื้อหนามาก และเป็นชมพู่ไร้เมล็ด รสชาติหวาน กรอบ มีความหวานประมาณ 13-14 องศาบริกซ์ ถ้าผลผลิตแก่และเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งจะมีความหวานสูงกว่านี้ จัดเป็นชมพู่สายพันธุ์หนึ่งที่ออกดอกและติดผลดกมาก

ทาง “สวนคุณลี” จึงได้ตั้งชื่อชมพู่ไต้หวันที่มีขนาดผลใหญ่สายพันธุ์นี้ว่า “ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน”

ผู้เขียนมีความเชื่อที่ว่าชมพู่ยักษ์ไต้หวันนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการปลูกชมพู่ในประเทศไทย เพราะมีความโดดเด่นในเรื่องขนาดผลและความอร่อยไม่แพ้ชมพู่พันธุ์การค้าสายพันธุ์อื่น จนมาถึงในปัจจุบันทางสวนคุณลีได้ขยายพันธุ์ปลูกชมพู่ยักษ์ไต้หวันเพื่อจำหน่ายผล พบว่า ต้นชมพู่ยักษ์นั้นสามารถให้ผลผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง บังคับให้ออกนอกฤดูได้ดี ให้ผลผลิตมีน้ำหนักผลเฉลี่ยอย่างน้อยที่สุด 200 กรัม ต่อผล ผลใหญ่สุดหนักถึง 350 กรัม ยิ่งได้อากาศหนาว สีผลยิ่งสวย และรสชาติหวานอร่อยมาก ซึ่งตอนนี้สามารถจำหน่ายผลออกจากสวนได้ กิโลกรัมละ 200 บาท ทีเดียว

ต่อมา ในปี 2555 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวันอีกครั้งหนึ่ง สวนคุณลี ได้ยอดพันธุ์ “ชมพู่สตรอว์เบอร์รี่” มาเสียบยอดฝากไว้กับต้นชมพู่ทับทิมจันท์ หลังจากนั้น ช่วงเดือนมกราคม 2557 ต้นชมพู่สตรอว์เบอร์รี่ใหญ่เต็มที่ เริ่มออกดอกและติดผล พบว่า ให้ผลผลิตดกมาก มีลักษณะติดผลเป็นพวงและผลร่วงน้อยกว่าชมพู่พันธุ์อื่นๆ เมื่อผลชมพู่แก่สีของผลมีสีแดงเลือดนก โดดเด่นมาก มีน้ำหนักผลไม่ต่ำกว่า 200 กรัม และรสชาติหวาน กรอบ ทานอร่อยมาก ที่สำคัญเมื่อปล่อยชมพู่ให้แก่จัดบนต้น พบว่า เน่าเสียได้ยากกว่าชมพู่ทุกพันธุ์ที่ปลูกในบ้านเรา

สรุปได้ว่าเป็นพันธุ์ชมพู่ที่ทนต่อการขนส่ง ชมพู่พันธุ์สตรอว์เบอร์รี่จะมีความแตกต่างจากชมพู่การค้าพันธุ์อื่นๆ ตรงที่ลักษณะของใบจะใหญ่มาก และปัจจุบัน ทางสวนคุณลี มีปลูกเป็นเชิงการค้าผลิตผลจำหน่ายอยู่รายเดียวในขณะนี้ คาดว่าชมพู่พันธุ์สตรอว์เบอร์รี่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการปลูกชมพู่ในอนาคตของชาวสวนผลไม้ไทย ด้วยรสชาติและสีผลที่สวยงาม มีสีแดงสะดุดตา

ซึ่งตอนนี้ชมพู่ทั้ง 2 สายพันธุ์ สามารถจำหน่ายผลผลิตชมพู่ออกจากสวนคุณลี ได้กิโลกรัมละ  200 บาท เลยทีเดียว

เปรียบเทียบชมพู่ยักษ์ไต้หวันกับชมพู่สตรอว์เบอร์รี่

การดูแลรักษาชมพู่เบื้องต้น

ในระยะต้นชมพู่เล็ก ควรให้ปุ๋ยคอก เช่น ปุ๋ยคอก ร่วมกับปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 โดยใช้วิธีใส่ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง หว่านรอบๆ ทรงพุ่มต้น ประมาณ 15 วันครั้ง

ระยะต้นใหญ่ หลังจากต้นชมพู่มีขนาดใหญ่ หรืออายุได้ 8-12 เดือน ก็พร้อมที่จะให้ผลได้บ้างแล้ว ก็จะเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ย สูตร 8-24-24 เพื่อสะสมอาหารและเร่งการออกดอก โดยใช้อัตราส่วนครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่มแปลงเมตรเป็นกิโลกรัม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ โดยใส่พร้อมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หลังจากชมพู่ให้ผลแล้ว เปลี่ยนมาใช้ 13-13-21 โดยใช้อัตราส่วนเหมือนกับ 8-24-24 จะทำให้ผลชมพู่มีคุณภาพดีและรสชาติหวานขึ้น

นอกจากนี้ ต้องใช้ปุ๋ยทางใบที่มีสูตรตัวท้ายสูง ฉีดเสริมช่วยเพิ่มความหวาน เช่น ปุ๋ยเกล็ด 0-52-34, 0-0-50 เป็นต้น ผสมพวกธาตุอาหารรองต่างๆ ฉีดพ่นประมาณ 7-10 วัน ต่อครั้ง หรือจะใช้ปุ๋ยที่เพิ่มคุณภาพผล เช่น “ไฮโปส” ที่ช่วยสร้างเนื้อ เพิ่มความหวานและทำให้ชมพู่เข้าสีดีขึ้น ทำให้ชมพู่สีแดงเข้มด้วย โดยจะฉีดชมพู่ตั้งแต่ห่อผลเสร็จไปตลอด ทุกๆ 7 วัน โดยอัตราที่ใช้ คือ ไฮโปส อัตรา 500 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร แล้วสามารถผสมร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงชนิดอื่นได้ ผลของการใช้ไฮโปส (แม้จะมีน้ำในร่องสวนตลอด หรือฝนตกมาบ่อย ชมพู่ที่สวนก็ยังคงหวาน) ทำให้ชมพู่เป็นที่ต้องการของตลาด ความหวานของชมพู่จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ชมพู่สตรอว์เบอร์รี่ เนื้อหนา หวาน กรอบ ไร้เมล็ด

การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบกับต้นชมพู่

เน้นการให้ปุ๋ยทางใบอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นอาจทำให้ผลร่วงได้ง่ายเป็นการให้เสริมจากการให้ปุ๋ยทางดิน มีหลักการให้พอสรุปได้ ดังนี้ เมื่อต้นชมพู่แตกใบอ่อนช้าหรือแตกใบอ่อนไม่สม่ำเสมอ ให้ใช้ปุ๋ยไทโอยูเรีย อัตรา 50-100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (พิจารณาจากอายุต้น) พ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 1-2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 7-10 วัน จะช่วยให้แตกใบเร็วและสม่ำเสมอทั่วทั้งต้น หลังแตกใบอ่อนถ้าใบมีความสมบูรณ์ต่ำ ไม่เขียวเข้มเป็นมัน ก็จะฉีดปุ๋ยเพิ่มความสมบูรณ์ของใบ เช่น ปุ๋ยสูตร 30-20-10 หรือ 30-20-20 ฉีดพ่น อัตรา 20-30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร จะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับชมพู่ได้เป็นอย่างดี

ระยะใบแก่ก่อนออกดอก เพื่อช่วยให้ผลแก่เร็วขึ้น และป้องกันการแตกใบอ่อนเมื่อมีฝนตกชุก ควรพ่น 0-52-34 อัตรา 100-150 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร 7-15 วัน ต่อครั้ง ระยะชมพู่ออกดอกหรือระยะฝาชี ควรพ่นฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน (Gibberellins) เพื่อช่วยยืดช่อ อัตรา 2 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร การใช้ฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน ถ้าให้ดีแนะนำให้ฉีดพ่นประมาณ 3 ช่วง หรือ 3 ครั้ง คือช่วงเริ่มออกดอก ดอกเริ่มบาน และหลังดอกบานแล้ว 2 สัปดาห์ หรือก่อนการห่อผล เพื่อทำให้ทรงผลยาวและขยายขนาดผลให้ใหญ่ขึ้น

ขณะที่ต้นชมพู่ยังเล็กควรตัดแต่งเพื่อให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ เช่น ให้มีกิ่งใหญ่ประมาณ 2-3 กิ่ง กิ่งที่เหลือตัดออก หรือถ้าต้องการให้มีทรงพุ่มแบบต้นเดี่ยวๆ ก็ต้องตัดกิ่งที่ไม่ต้องการออก ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของสวน เช่น การตัดแต่งประจำปี ควรตัดแต่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยยึดหลักกิ่งที่เป็นโรค กิ่งที่ไขว้ไม่เป็นระเบียบ กิ่งที่ฉีกหัก โดยตัดชิดโคนกิ่ง และใช้สารเคมีที่ป้องกันกำจัดเชื้อราทาบริเวณแผล และถ้าเป็นต้นที่สูงใหญ่มากๆ ไม่สะดวกแก่การปฏิบัติงานควรตัดยอดทิ้งเพื่อบังคับไม่ให้ต้นสูงเกินไป ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ด้วย การตัดแต่งตามความจำเป็น เป็นการตัดแต่งขณะห่อผลเพื่อสะดวกแก่การปฏิบัติงาน

ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน เนื้อหนา หวาน กรอบ ไร้เมล็ด

การให้น้ำ

ในช่วงต้นเล็กก็ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อาจจะไม่ได้ให้น้ำทุกๆ วันก็ได้ ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความชื้นของดิน สภาพดินและความสามารถในการอุ้มน้ำของดินในแต่ละพื้นที่ ส่วนการให้น้ำในช่วงที่ต้นโตให้ผลผลิตแล้วก็จะให้ตามความเหมาะสม เช่น หลังการเก็บผลผลิตหมดสิ้นมีการตัดแต่งกิ่ง ต้นชมพู่ก็ต้องการน้ำมากเพื่อใช้ในการสร้างใบใหม่ ช่วงก่อนการออกดอกก็จะมีการงดน้ำหรือกักน้ำให้ต้นเกิดความเครียด เมื่อสังเกตเห็นว่าต้นชมพู่มีตาดอกให้เห็นก็จะให้น้ำอย่างเต็มที่ติดต่อกัน 5-7 วัน จากนั้นก็จะให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ต้นผลชมพู่นำไปใช้สร้างเนื้อขยายผล เป็นต้น

ตั้งแต่ชมพู่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวได้ จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และเมื่อกลีบดอกเริ่มบานผ่านพ้นไป 15 วัน จะกลายเป็นผลอ่อน โดยก่อนห่อต้องเด็ดผลที่ไม่สวยและไม่แข็งแรงทิ้งไป เหลือไว้ประมาณ 3-5 ผล ต่อช่อ วัสดุใช้ในการห่อหาได้ไม่ยาก ถุงพลาสติกหูหิ้ว ขนาด 6×11 หรือ 7×15 นิ้ว เจาะรูขนาดเล็กที่ก้นถุง เพื่อไม่ให้น้ำขัง ผลจะได้ไม่เน่าเสีย จากนั้นผูกหูถุงพลาสติกไว้เหนือกิ่ง เป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อย ถ้านับวันหลังจากที่ห่อผล ประมาณ 30 วัน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และอากาศ

ความดกของชมพู่ยักษ์ไต้หวัน ที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร

การปลิดผล

การออกดอก ชมพู่จะออกบริเวณกิ่งในทรงพุ่มหลังจากดอกได้รับการผสมแล้วก็จะติดเป็นผล ขณะที่มีขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายถ้วย หลังจากนั้นผลจะขยายใหญ่มีสีเข้มขึ้น เกษตรกรควรปลิดผลที่ถูกโรคแมลงทำลาย ผลที่มีขนาดเล็กหรือรูปร่างผิดปกติออก โดยเหลือไว้ช่อละ 3-5 ผล เท่านั้น กรณีที่ช่อผลอยู่ติดกันมากไม่ควรเก็บไว้ ให้เลือกปลิดช่อที่มากเกินไปออกเสียบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอาหารกันเอง ทำให้ผลมีขนาดเล็ก การเลือกไว้ผลชมพู่ที่สวนคุณลีนั้น อย่างชมพู่ยักษ์ไต้หวัน จะไว้ผลประมาณ 3 ผล ต่อช่อ ส่วนชมพู่พันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ จะไว้ผล 3-5 ผล ต่อช่อ

ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน ขนาด 3 ผล มีน้ำหนักรวม 1 กิโลกรัม

การห่อผล

การห่อนี้ควรจะทำควบคู่กับการปลิดเลยในเวลาเดียวกัน ในการห่อผลนี้เกษตรกรจะเลือกถุงพลาสติกหูหิ้วสีขาวขุ่น เจาะรู 2-5 รู เพื่อให้น้ำออกจากถุงได้ แล้วจึงห่อด้วยถุงพลาสติกดังกล่าว โดยผูกปากถุงด้วยเงื่อนชั้นเดียวให้แน่น ในบางกิ่งที่ผลชมพู่อาจได้รับแสงมากจากแสงแดดเผาให้ผิวเสียหาย ควรห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ด้านนอกอีกชั้นหนึ่งด้วย ก็จะช่วยปกป้องได้ การห่อผลทำให้ผิวสวย ป้องกันการทำลายของแมลงอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ แมลงวันทอง ซึ่งลักษณะการทำลายเหมือนกันคือใช้อวัยวะที่ก้นเจาะเข้าไปวางไข่ในผลชมพู่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอน ตัวหนอนจะกัดกินภายในผลชมพู่ทำให้ผลเน่าและร่วงในที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อผลร่วงแล้วตัวหนอนจะเจาะผลออกมาเข้าดักแด้ในดินต่อไป การห่อผลจึงช่วยในเรื่องของการทำลายได้ดี ส่วนผลชมพู่ที่ร่วงหล่นหรือเน่าเสียในสวน จะต้องเอาไปเผาทำลาย หรือนำไปทำน้ำหมัก ไม่ควรนำไปฝังดิน

ก่อนการเก็บเกี่ยว

ควรงดการให้น้ำช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว 3-5 วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ถ้าดินเหนียวควรงดการให้น้ำนานกว่านี้ อาจเป็น 5-7 วัน การเก็บเกี่ยวและการจัดการผลชมพู่หลังการเก็บเกี่ยว หลังจากชมพู่อายุพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว คือการนับอายุ ผลเต่งอวบ มีความหวานสูง เกษตรกรควรเก็บ หากทิ้งไว้เกินอายุการเก็บเกี่ยว จะทำให้ผลชมพู่แตกหรือร่วงเสียหายได้

สนใจ “ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน” กับ “ชมพู่สตรอว์เบอร์รี่” สายพันธุ์แท้ ติดต่อได้ที่ สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398