ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การทำงานของคนเราจะไปสู่ความสำเร็จได้ ก็ด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ หนึ่ง-ลงมือทำ สอง-ทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง เท่านี้ “ความสำเร็จ” ก็ไม่หนีไปไหน
เช่นเดียวกับ “จักริน วังวิวัฒน์” เจ้าของอาณาจักรไร่ชาเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ บนดอยห้วยตาด บ้านปางกื้ด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่เริ่มต้นบอกว่า “…ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจไร่ชาเลยแม้แต่น้อย”
แต่อาศัยการเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วลงมือทำ บวกกับได้รับการถ่ายทอดจากผู้เป็นพ่อ จึงทำให้ “ไร่ชาระมิงค์” ของตระกูลวังวิวัฒน์ ยืนหยัดอยู่จนถึงวันนี้เป็นเวลาถึง 76 ปี
พื้นที่สีเขียวไต่ระดับจากพื้นราบ ค่อย ๆ ไล่ความสูงขึ้นไปตามแนวคดโค้งของถนนที่รถวิ่งได้แค่คันเดียว ถ้ามีรถสวนทางมาเมื่อไหร่ ที่ทำได้คือหยุดรถจอดรอให้อีกคันผ่านไปก่อนแล้วจึงค่อยวิ่งต่อไปได้
บรรยากาศแบบนี้เป็นทางขึ้นเขาที่บ้านห้วยตาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่ไร่ชาของคนไทย 100% “ไร่ชาระมิงค์” ที่ “จักริน วังวิวัฒน์” เป็นกรรมการผู้จัดการ
“จักริน” ชื่อเล่น “ต้น” เป็นทายาทรุ่นที่ 3 บุตรชายคนโตของ “นิตย์-เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์” นักธุรกิจใหญ่ อดีตประธานสภาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ มีน้องชาย 1 คน คือ “ตาม-จุลนิตย์ วังวิวัฒน์” จักรินจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจจากเอแบค สาขาคอมพิวเตอร์ และปริญญาโทจาก University of New Heaven Connecticut สหรัฐอเมริกา แต่ต้องมาทำเกษตรกรรมธุรกิจของตระกูล
นอกจากจะเป็นคนดูแลไร่ชาและผลิตภัณฑ์ชาครบวงจรแล้ว ยังช่วยดูแลธุรกิจอื่น ๆ ของตระกูลด้วย อาทิ ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสัน จ.เชียงใหม่ (สยามนิสสัน เชียงใหม่ จำกัด) ธุรกิจร้านอาหาร (ม่อนระมิงค์และร้านชา Tea House) ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา (สยามศิลาดล) ธุรกิจจิวเวลรี่ De lann และยังเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์แคนาดาประจำจังหวัดเชียงใหม่อีกตำแหน่งทายาทคนโตแห่งตระกูลวังวิวัฒน์ ย้อนอดีตความเป็นมาของไร่ชาระมิงค์ว่า
เมื่อปี 2480 คุณตาประสิทธิ์ พุ่มชูศรี และ ประธาน พุ่มชูศรี 2 พี่น้องได้ขอสัมปทานทำไร่ชาจากกรมป่าไม้ คุณตาประสิทธิ์เดิมเป็นเกษตรกรดีเด่นของ จ.เชียงใหม่ และเป็นคนริเริ่มปลูกชาขึ้นเป็นคนแรก โดยการอ่านจากหนังสือเอนไซโคลพีเดีย พบว่าพื้นที่บริเวณทางภาคเหนือเป็นแหล่งกำเนิดชาแห่งหนึ่งของโลก เป็นพันธุ์ชาป่าที่เก่าแก่เช่นเดียวกับชาของประเทศจีน และปรากฏว่าบริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นแหล่งปลูกต้นเมี่ยงที่คนเหนือเรียก “ใบเมี่ยง” ซึ่งก็คือใบชานั่นเอง
ดังนั้น คุณตาประสิทธิ์ได้ขอสัมปทานจากกรมป่าไม้ทำไร่ชา และตั้งเป็นบริษัทปี 2484 ได้พื้นที่ทั้งหมด 2,000 ไร่ เป็นพื้นที่ภูเขาสูงป่าแหล่งต้นน้ำ 1 เอ ชาที่ริเริ่มนำมาปลูกเป็นชาดำ (black tea) หรือชาพันธุ์อัสสัม ชาที่ใบใหญ่กว่าชาพันธุ์จีน แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย
“การได้มาซึ่งพื้นที่สัมปทาน เป็นการได้มาก่อนประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 โดยระยะเวลาสัมปทานมีอายุ 50 ปี ตอนนี้ก็ยังเป็นสัมปทานอยู่ สิ่งสำคัญของเราคือต้องดูแลสภาพป่าให้เหมือนเดิมทุกอย่าง และต้องดูแลคนบนภูเขาด้วย” จักรินเอ่ยขึ้น
คนบนภูเขาที่ว่าเขาหมายถึง ชาวเขาเผ่าลาหู่ หรือ มูเซอ ชนดั้งเดิมที่ทำกินอยู่ในบริเวณแห่งนี้ ร่วมกับคนไทยเมืองที่ทำใบเมี่ยงอยู่แต่เดิม ฉะนั้น ไร่ชาของจักรินจึงเป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำหล่อเลี้ยงคนในชุมชนกว่า 200 หลังคาเรือน นอกเหนือจากไร่ชาแล้ว ปัจจุบันยังแบ่งเป็นไร่กาแฟ แมคาเดเมีย อะโวคาโด และพืชสมุนไพรอื่น ๆ
จักรินเล่าอีกว่า แรกทีเดียวมีคนงานไม่มาก ต่อมาคุณตาประสิทธิ์ไปนำเอาคนลาหู่จากพื้นที่อื่นที่สนใจมาอยู่เมืองไทยเข้ามาทำงาน เป็นครอบครัวเล็ก ๆ มาถึงเวลานี้จึงมีเป็นร้อยหลังคาเรือน เริ่มแรกที่ตั้งเป็นบริษัทใช้ชื่อบริษัท ใบชาตราภูเขา จำกัด ต่อมาปี 2510 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ปลูกชาซึ่งอยู่บริเวณต้นแม่น้ำปิงมีชื่อเดิมว่า “แม่ระมิงค์” และพื้นที่นี้ยังเป็นที่อยู่ของแกะภูเขา (เลียงผา) ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า ram สอดคล้องกับคำว่า raming tea
“การปลูกชาของไร่ระมิงค์ปลูกบนพื้นที่ความสูง 1,000 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล โดยวิธีเกษตรอินทรีย์ ความจริงแล้วพื้นที่ปลูกชาหลัก ๆ แค่ 1,000 ไร่ ส่วนอีก 1,000 ไร่ จะปลูกกาแฟใต้ต้นไม้ใหญ่ พันธุ์อราบิก้า ไร่ชาของเราเป็นออร์แกนิกทั้งหมด ผมเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นชาออร์แกนิกตั้งแต่
ปี 2552 ปรับสภาพดิน ปรับวิธีการปลูก การเก็บใบชาใช้มือเก็บ ไม่ใช้เครื่องจักร ใช้เครื่องไม่ได้ เพราะจะทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายหมด นี่เพิ่งได้ใบรับรองมาเมื่อปี 2558 ถือเป็นเจ้าแรกที่มีพื้นที่ใหญ่มากในการทำชาออร์แกนิก บางแห่งเขาใช้ที่นิดเดียวแค่ 5 ไร่ เป็นออร์แกนิก ส่วนที่เหลือไม่ใช่ แต่ของเรา 1,000 ไร่ ทำชาออร์แกนิก 100% และใช้แรงงานในการกำจัดวัชพืชทั้งหมด ไม่ใช้ยาหรือสารเคมี ดังนั้น ค่าใช้จ่ายจึงสูงมาก แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะพื้นที่บนนี้เป็นป่าต้นน้ำ ถ้าใช้สารเคมี มันจะไหลลงไปตามลำน้ำปิง เป็นอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม อีกอย่างชาวบ้านเริ่มเข้าใจและรู้แล้วว่าการใช้ยาหรือสารเคมีทำให้สภาพดินเสียและอากาศร้อนมากขึ้น เดี๋ยวนี้จึงไม่ทำกันแล้ว”
จักรินบอกอีกว่า ปัจจุบันผู้ปลูกชาดำ black tea ไม่มีใครทำแล้ว ส่วนมากเป็นชาจีน เช่น กลุ่มที่ จ.เชียงราย เพราะคนไทยไม่ดื่มชาไทย แต่จะดื่มชาจีนหรือชาที่นำเข้าจากประเทศจีน “เมื่อทำการตลาดใหม่ ๆ คุณพ่อผมพยายามวิ่งขายตลาดทางกรุงเทพฯ ร้านชาเชียงใหม่ไม่ค่อยมีเพราะคนไม่ดื่ม ร้านขายชาจึงไม่ค่อยโต แล้วพอพูดถึงชาคนเขาก็ต้อง TWG มันมีความเป็นไฮโซเนาะ… แต่ชาระมิงค์บอกว่าไฮโซดื่มชาระมิงค์ แหม มัน…” (หัวเราะเสียงดัง)
เขาบอกด้วยว่า แหล่งปลูกชาแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ดินไม่เหมือนกัน ฉะนั้น การปลูกของชาระมิงค์จึงต้องมีจำนวนจำกัด รวมทั้งต้องเน้นคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่า ไม่ใช่ขายแบบเอาปริมาณเข้าว่า “…คนที่เอาชาไทยไปขายมันต้อง ‘ยูนีค’ มีแค่เนียะ ๆ… ของเราเป็น undershade tea ชาใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ อยู่ใต้ต้นยางนาอายุหลายร้อยปี รสชาติจึงแตกต่าง อากาศ ดิน น้ำ จะทำให้เอนไซม์ในชาเปลี่ยนไป จะไม่เหมือนที่อื่น ไม่เหมือนปลูกกลางแดด ที่สำคัญมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าปลูกกลางแจ้ง ชาของผมอายุ 50 ปีแล้ว ครอปเริ่มตก บางต้นอายุ 70 ปี
ก็มีเวลานี้เราพยายามรักษาไว้ เหมือนกับคนอายุมาก ๆ ต้องบำรุงรักษาไว้ เราไม่มีปลูกใหม่ เพราะถ้าปลูกใหม่มันต้องเปิดพื้นที่ป่าใหม่ และไม่ปลูกเพิ่มด้วย เพราะน้ำไม่พอ แรงงานก็ไม่ไหว ไร่ชาที่อื่นเขาทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยจึงอยู่ได้ แต่เราทำชาอย่างเดียว แหล่งท่องเที่ยวไม่ทำครับ มันมีปัญหาเรื่องขยะ คนไทยเที่ยวแล้วชอบทำลายพื้นที่ ยิ่งพื้นที่เราเป็นแหล่งลุ่มน้ำ 1 เอ ยิ่งต้องรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาชุมชน”
ส่วนชาของโครงการหลวง จักรินบอกว่า เป็นชาอู่หลง “ชาส่วนใหญ่ในเชียงรายเป็นอู่หลง ปัญหาว่าทำไมชาอู่หลงในเมืองไทยไม่สามารถทำราคาได้ คือเราไม่มีสแตนดาร์ดของที-เทสเตอร์ ในเมืองนอก อินเดียเป็นตลาดประมูลซื้อขายชาที่ใหญ่ที่สุดของโลก เคนยาเขาก็มีที-เทสติ้งคัพ สมมุติมีชาประมาณ 100 ถ้วย เขาก็จะเลือกจาก 100 ถ้วยแล้วเอาราคามาประมูลกัน แต่บ้านเราไม่มีแบบนี้ มีแต่คนซื้อมาให้ราคานี้ เอาไหม ? ถ้าไม่เอาเขาก็ไม่ซื้อ ต้องรีบขาย ก็ถูกกดราคา”
“เราทำชาออร์แกนิกมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น คนต่างชาติมองเห็น แต่คนไทยไม่เห็น (หัวเราะ) คนไทยไม่เข้าใจเรื่องออร์แกนิก ไม่รู้ว่าอะไรคือออร์แกนิกแท้ อันไหนออร์แกนิกปลอดภัย ไร้สาร มันเลยทำให้มูลค่าของชาในเมืองไทยไปไม่ค่อยได้ ออร์แกนิกแท้ ไร้สารหรือปลอดสารพิษ มันไม่เหมือนกัน”
จักรินบอกว่า ถ้าขายในเมืองไทยระมิงค์ก็คือระมิงค์ “เราใช้ความเป็นออริจินอล เป็นแนเชอรัลที ขายมากกว่าอย่างอื่น”
นอกจากดูแลอาณาจักรชาอันกว้างใหญ่บนดอยสูงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ถือเป็น “ความรับผิดชอบ” ของจักรินด้วย คือต้องดูแล “คนภูเขา” ชาวลาหู่ ที่ติดสอยห้อยตามมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ให้คนเหล่านั้นมีความเป็นอยู่ที่ดี มีงานทำ “โรงงานเราบนดอยมีคนงานชาวเขาประมาณ 150 คน ข้างล่างอีก 30-40 คน รวมแล้วเกือบ 200 คน จ่ายค่าแรงบวกเพิ่มการเก็บต่อน้ำหนักก็หน้ามืดแล้วครับ…” (หัวเราะ)
การเดินทางสู่ยอดเขาสูง ระหว่างทางอาจหนักและเหนื่อยเป็นธรรมดา แต่เมื่อขึ้นไปจนถึงยอดเขาแล้ว ความเหนื่อยยากที่ผ่านมากลับมลายหายสิ้น
ด้วยความเย็นสดชื่นของอากาศเบื้องบน คนเรานั้น อันตรายที่สุดไม่ใช่การตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินไปแล้วตกลงมา แต่กลับเป็นว่า เราตั้งเป้าหมายไว้ต่ำเกินไป แล้วทำได้สำเร็จต่างหาก